ดาวดวงที่ 94
ชื่อในการแสดง โกวิทย์ วัฒนกุล
ชื่อ-นามสกุลจริง โกวิทย์ วัฒนกุล
วันเกิด 29 มกราคม พ.ศ. 2497
พิมพ์มือลานดารา 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552
โกวิทย์ มีชื่อเล่นว่า แอ๊ด เกิดที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แต่มาเรียนจบชั้น ม.ศ. 5 ที่โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างเรียนก็เป็นชกมวยอยู่ในค่ายมวยโรจนสงคราม ต่อมาเมื่อค่ายมวยย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ โกวิทย์ก็เลยย้ายตามมาด้วยและมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างนั้นเคยไปสมัครถ่ายแบบที่หนังสือบีอาร์และได้ถ่ายแบบร่วมกับ อัศวิน รัตนประชา-รัชนู บุญชูดวง จนถูกทักว่า เป็นดารา ทำให้โกวิทย์มุ่งมั่นที่จะเป็นดาราให้ได้
โกวิทย์ใช้เวลานานเกือบ 3 ปีที่จะสมัครเป็นดารา กระทั่งได้รับคำแนะนำให้ไปสมัครเรียนการแสดงก่อนที่อัศวินศิลปะการแสดง เมื่อเรียนสำเร็จ ณัฐนี สิทธิสมาน (ปอบหยิบ) ซึ่งเป็นครูฝึกของอัศวินศิลปะการแสดงก็พาโกวิทย์ไปสมัครเป็นดาราโทรทัศน์ช่อง 3 เรื่อง สามสิงห์ ซึ่งขณะนั้นยังขาดตัวพระเอกอีกคนหนึ่ง โกวิทย์จึงได้เข้าสู่วงการบันเทิงครั้งแรก จากเรื่องนี้
ต่อมาปี 2522 สถานีโทรทัศน์สี ช่อง 3 ร่วมมือกับไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ประกาศสร้างละครเรื่อง “ขุนศึก” บทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม โดยมี สักกะ จารุจินดา เป็นคนคัดเลือกดาราเอง โกวิทย์ก็ถูกเลือกไปโดยไม่ได้บอกว่าจะให้แสดงบทใด แต่ต้องไปเก็บตัวที่บ้านของสักกะเพื่อเตรียมความพร้อม ฝึกฝนศิลปะการแสดง โกวิทย์ใช้เวลาฝึกนานเกือบ 3 เดือน สักกะจึงบอกว่า เลือกโกวิทย์ให้เป็น “ไอ้เสมา” พระเอกของเรื่องโดยมี ดวงดาว จารุจินดา เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้วย เมื่อละครออกอากาศก็ได้รับความนิยมเกินคาดและสร้างชื่อเสียงให้กับโกวิทย์เป็นอย่างมาก
ส่วนชื่อเล่นของโกวิทย์ในหมู่ดาราด้วยกันนิยมที่เรียกว่า “เมา” นั้น ก็มีสาเหตุจากการที่โกวิทย์ได้รับบทเป็น ไอ้เสมา แต่เพราะ สมจินต์ ธรรมฑัต เรียกว่า ไอ้เส-มา ผิดว่า ไอ้สะเมา คนอื่น ๆ จึงเรียกตามกันมาเรื่อย ๆ ว่า “ไอ้เมา”
หลังจากนั้นโกวิทย์ก็มีผลงานละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง เช่น ชลาลัย เพลิงกินรี ไฟแสงโชน สางสยอง ทองประกายแสด ฯลฯ ระหว่างที่โกวิทย์เป็นพระเอกจอแก้วนั้น ก็มีผู้สร้างรายหลายติดต่อให้ไปเป็นพระเอกจอเงิน แต่ก็มีเหตุติดขัดเรื่องสัญญา กระทั่งปี 2524 โกวิทย์จึงได้รับเป็นพระเอกจอเงินครั้งแรกในเรื่อง ชายสามโบสถ์ คู่กับ สุพรรษา เนื่องภิรมย์ เข้าฉายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2524
โกวิทย์แสดงภาพยนตร์ไว้หลายเรื่อง เช่น ปี 2524 สิงโตคำรามสกาวเดือน วันสังหาร ปี 2525 เช่น ตามรักตามฆ่า จ้าวนรก ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. นางแมวป่า กระท่อมนกบินหลา ปี 2526 เช่น 7 พระกาฬ ลูบคมพยัคฆ์ กตัญญูประกาศิต เห่าดง ทุ่งปืนแตก ไฟรักอสูร อั้งยี่ พยัคฆ์ทมิฬ แหกนรกเวียตนาม นักเลงข้าวนึ่ง สิงห์ด่านเกวียน ไอ้ ป.4 ไม่มีเส้น หัวใจทมิฬ ปี 2527 เช่น ถล่มด่านปืน เขี้ยวฉลาม ตีแสกหน้า เสือใบ ลวดหนาม ไอ้โหด.357 หน่วย 123 อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง เพชรตัดเพชร ขอโทษทีที่รัก แตนป่าแตก อีเสือเทียน พรหมสี่หน้า ครูเสือ ป่าเดือด มือเหนือเมฆ ยอดนักเลง น้ำผึ้งป่า ปี 2528 เช่น นางเสือดาว หัวใจเถื่อน มือปืนคาราบาว เลือดตี๋ก็สีแดง เรียม นักล่าสลาตัน แก้วกลางดง ปี 2529 เช่น ขุมทองนรก คำสิงห์ ปรารถนาแห่งหัวใจ ฆ่าเอาบุญ เปิดบัญชีฆ่า สิงห์ต้องสู้ ปืนเถื่อน เก่งเฮงโหด ปี 2530 เช่น พรายตะเคียน คาวน้ำผึ้ง นักรบพบรัก ปี 2531 เช่น ปีศาจสีเงิน เพชรพยัคฆราช นักรบดำ ภูผาทอง ดงพญาเสือ ตลาดพรหมจารี วัยหวานวัยคนอง เพชฌฆาตเดนสงคราม ปี 2532 เช่น เรือนแพ เพชรตาแมว โหดตามคิว ปี 2533 เช่น ทอง 4 ตะเคียนคู่ มูเซอดำ นางพญางูผี 2 กองทัพเถื่อน ตี๋ใหญ่ 2 เจาะนรกเผด็จศึก ตะบันเพลิง นายซีอุย แซ่อึ้ง (2534) ยากูซ่าแก๊งค์ค้าคน (2535) กระหน่ำให้แสบสะเทิน (2536) เจ้าพ่อ (2536) อยู่ที่ใจจะไขว่คว้า (2537) กองพันทหารเกณฑ์ ตอน แนวรักริมฟุตบาท (2539) โกลด์คลับเกมล้มโต๊ะ (2544) อมนุษย์ (2547) 102 ปิดกรุงเทพปล้น (2547) ฯลฯ
โกวิทย์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดีประจำปี 2531 ในฐานะดาวร้ายชายจากเรื่อง ตลาดพรหมจารี และได้รับรางวัลทางละครโทรทัศน์อีกหลายรางวัลและยังมีผลงานปรากฏให้เห็นทั้งทางจอแก้วจอเงินตลอดมา