ปิยะ ตระกูลราษฎร์

ดาวดวงที่ 95

ชื่อในการแสดง ปิยะ ตระกูลราษฎร์

ชื่อ-นามสกุลจริง ปิยะ ตระกูลราษฎร์

วันเกิด 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2497

พิมพ์มือลานดารา 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552


ปิยะ เกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนจบชั้น ม.ศ. 5 แล้วก็เข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กวัดพระพิเรนทร์ เคยเป็นช่างตัดผม รับจ้างแบกของในตลาดสด ขับรถสามล้อถีบ ปี 2516 เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการแสดงเป็นตัวประกอบหางแถวประเภทโป้งเดียวจอด รอคอยงานอยู่แถวหลังเฉลิมกรุง เช่นเรื่อง นี่หรือชีวิต (สมบัติ) แต่ที่แสดงแล้วมีชื่อเป็นที่รู้จักก็คือ มนต์รักแม่น้ำมูล (2520 สมบัติ-นัยนา-เนาวรัตน์) สร้างโดย ดวงกมลมหรสพ ของ กมล กุลตังวัฒนา โดยในเรื่องปิยะได้บทเป็นพระรอง มนต์รักแม่น้ำมูล ประสบความสำเร็จเกินคาด ทำให้กมลตัดสินใจที่จะสร้างภาพยนตร์แนวสะท้อนปัญหาสังคมไทยในเรื่อง ครูบ้านนอก บทประพันธ์ของ คำหมาน คนไค โดยผลักดันให้ สุรสีห์ ผาธรรม ผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล ขึ้นมาเป็นผู้กำกับการแสดง แต่พระเอกของเรื่องนั้น กมลเลือกปิยะขึ้นมาเป็นพระเอกท่ามกลางเสียงคัดค้าน แถมนางเอกก็ยังหน้าใหม่อีก หลายคนในทีมงานเริ่มไม่แน่ใจในอนาคตของครูบ้านนอกเพราะหน้าหนังขายไม่ได้ มีแต่เพียงกมลเท่านั้นที่เชื่อว่า ต้องขายได้ 


แต่เมื่อครูบ้านนอกสร้างเสร็จ ก็ถูกกดราคาจากสายหนังอ้างว่า ไม่มีใครรู้จักพระเอก-นางเอก เป็นหนังสารคดี ไม่มีจุดขาย แต่กมลก็เสี่ยงเปิดฉายรอบพิเศษโดยเชิญนักเขียนฝีปากกล้าอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้ชมพร้อมยินดีน้อมรับคำวิจารณ์ แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับให้คำชมว่า “ครูบ้านนอก เป็นหนังดีที่น่าดู” เท่านั้นเอง จากภาพยนตร์ที่ไม่มีกระแส จากดาราที่ผู้คนไม่รู้จัก จากปากต่อปาก ก็เล่าลือจนทำให้ครูบ้านนอกประสบความสำเร็จเกินคาด นักศึกษาวิทยาลัยครูทั่วประเทศต่างแห่กันไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ครูบ้านนอก เข้าฉายครั้งแรกวันที่ 17 มิถุนายน 2521 นอกจากจะทำรายได้สูงแล้ว ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากประเทศรัสเซีย 2 รางวัลคือ ภาพยนตร์สร้างสรรค์และผู้กำกับดีเด่น ปิยะ-วาสนา จึงแจ้งเกิดทันทีจากภาพยนตร์เรื่องนี้และถูกจับคู่ให้แสดงเป็นครูคู่กันอีกหลายเรื่องและยังส่งผลให้เกิดกระแสการสร้างหนังครูขึ้นมา 


จากนั้นปิยะก็มีผลงานภาพยนตร์ติดต่อกันหลายเรื่อง เช่น ทุ่งรวงทอง (2522 ปิยะ-นิรัชรา) ส.ต.ท.บุญถึง (2522 ปิยะ-จารุณี) มนุษย์ 100 คุก (2522 ปิยะ-ยอดชาย) อยุธยาที่ข้ารัก (2522 กรุง-ยอดชาย-ภาวนา) ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523 ปิยะ-วาสนา) จุฬาตรีคูณ (2523 สรพงศ์-ปิยะ-พิศาล-วาสนา-เนาวรัตน์) ลูกแม่มูล (2523 ปิยะ-สุพรรษา) สู้ยิบตา (2523 ปิยะ-ลลนา) เทพเจ้าบ้านบางปูน (2523 ปิยะ-วัลภา) สันกำแพง (2523 สรพงศ์-นันทิดา-พอเจตน์-ธิติมา) สาวน้อย (2524 จารุณี-ไกรสร-อำภา) ทุ่งกุลาร้องไห้ (2524 ปิยะ-อนุสรณ์) ครูวิบาก (2524 ปิยะ-วาสนา) ครูดอย (2525 สรพงศ์-ปิยะ-วาสนา-นันทิดา) คุณรักผมไหม (2525 ทูน-จารุณี-ปิยะ) มนต์รักลำน้ำพอง (2525 ฤทัยรัตน์-พอเจตน์) เพื่อน-แพง (2526 สรพงศ์-ปิยะ-ชณุตพร-คะนึงนิจ) นางสิงห์แก้มแดง (2526 สรพงศ์-จารุณี) สวรรค์บ้านนา (2526 ปิยะ-แสงเดือน) ไม้เรียวหัก (2527 ทูน-สินจัย) ครูปิยะ (2527 ปิยะ-ทวนธน) ๑๐ คงกระพัน (2527 ปิยะ-ทวนธน-สินจัย) ครูชายแดน (2527 สรพงศ์-ปิยะ) ยอดนักเลง (2527 ไชยยันต์-ปิยะ-โกวิท) หมอบ้านนอก (2528 ปิยะ-จารุณี) ด่วนยะลา (2530 ปิยะ-สมชาติ-วิยะดา) ฯลฯ 


ปิยะ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำชายจากภาพยนตร์เรื่อง เทพเจ้าบ้านบางปูน นอกจากนี้ ปิยะยังเคยกลั่นน้ำตามาเป็นเพลงดัง ๆ ให้สายัณห์ สัญญา ขับร้อง เช่นเพลง ไก่จ๋า หนึ่งปีที่ทรมาน ศึกอัศวินดำ จนโด่งดังทั่วประเทศ สุดท้ายปิยะยังเบนเข็มจากดาราไปเป็นนักพากย์มวยจนเป็นที่รู้จักทั่วไป