โปรแกรมภาพยนตร์ “Thai Queer Cinema Odyssey การเดินทางของหนังเควียร์ไทย” Part 1 พ.ค. – มิ.ย. 2566

Thai Queer Cinema Odyssey เป็นโปรแกรมคัดสรรภาพยนตร์เควียร์* ไทยที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศ มาจัดฉายต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม 2566 


เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาและการหลงเหลือของฟิล์มหรือสำเนาภาพยนตร์ ทำให้งานจัดโปรแกรมภาพยนตร์จำเป็นต้องคัดเลือกภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศอย่างมีนัยสำคัญ รวมได้ประมาณ 40 เรื่องเท่านั้น 


โปรแกรมดังกล่าวได้จัดแบ่งภาพยนตร์ออกเป็น 3 ชุด  ระหว่างก่อนและหลังคริสต์ทศวรรษ 2000 หรือ พ.ศ. 2543 โดยก่อนหน้านั้นงานจัดรายการขอเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นชุดหนังเควียร์คลาสสิก ที่บันทึกค่านิยมของผู้คนในยุคสมัยหนึ่งให้ได้ศึกษาใคร่ครวญ ในขณะที่หลังยุค 2000 จะมีหนังไทยเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศออกมาจำนวนมากในรูปแบบที่ต่างกันออกไป จึงได้แยกออกเป็น 2 ชุด คือ หนังเควียร์กระแสหลัก และหนังเควียร์กระแสทางเลือก 


สำหรับโปรแกรมเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ในรอบจดหมายข่าวฉบับนี้ มีทั้งหมด 21 เรื่อง เริ่มต้นจากชุดเควียร์คลาสสิกที่ไล่ย้อนไปตั้งแต่ วิวาห์พาฝัน (2514) หนังเพลงภาคต่อจาก เกาะสวาทหาดสวรรค์ (2512) ของดาราคู่ขวัญ สมบัติ-อรัญญา ซึ่งเต็มไปด้วยตัวละครและมุกตลกเกี่ยวกับความลื่นไหลและหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการปรากฏบนจอของ รัชนก ณ เชียงใหม่ สาวข้ามเพศชื่อดังแห่งยุค ในบทบาทเล็ก ๆ กุ้งนาง (2519) ผลงานของ ดอกดิน กัญญามาลย์ ได้พูดถึงเด็กสาวผู้ถูกปลูกฝังให้เข้าใจว่าตนเป็นชาย เพื่อไม่ให้ถูกพวกผู้ชายหลอกลวง นรกตะรุเตา (2519) หนังที่ตอกย้ำถึงความเชื่อของสังคมที่ว่าสภาวะความหลากหลายทางเพศถูกแก้ไขได้ (ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดร่วมอยู่ในโปรแกรม สมบัติ เมทะนี ReMASTER)


นอกจากนี้ยังมี วัยเรียนเพี้ยนรัก (2528) ภาพยนตร์รักวัยรุ่นที่ผู้สร้างตั้งใจจะสั่งสอนให้คนดูเห็นว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้บุตรหลานของตัวเองไม่มีพฤติกรรมที่ “เบี่ยงเบนทางเพศ” ก่อนจะมาถึง เพลงสุดท้าย (2528) ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องโศกนาฏกรรมความรักของ สมหญิง ดาวราย หญิงข้ามเพศนางโชว์ชื่อดัง ที่ได้รับความนิยมจนอยู่ในความทรงจำของคนไทย โดยจะจัดฉายไปถึงภาคต่อมาคือ รักทรมาน (2530) ซึ่งเล่าประเด็นความลื่นไหลทางเพศของตัวละครอย่างน่าสนใจ แต่ภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าภาคแรก ในปีเดียวกันนั้นยังมี ฉันผู้ชายนะยะ (2530) ผลงานการร่วมงานของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล และ ดร.เสรี วงศ์มณฑมา ที่นำละครเวทีซึ่งดัดแปลงจากบทละครเวทีชื่อดังของอเมริกาและประสบความสำเร็จ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ว่าด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนผู้มีความหลากหลายเพศในปาร์ตี้วันเกิด ก่อนจะเกิดคำถามถึงการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง สิบปีต่อมา ในยุคที่ภาพยนตร์ไทยอยู่ในช่วงแสวงหาเนื้อหาความแปลกใหม่ ได้มี นางแบบ (2540) ผลงานที่ตั้งใจนำเสนอชีวิตของกลุ่มนางแบบ ซึ่งทำให้เราได้เห็นตัวละครหลากหลายทางเพศทั้งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังวงการแฟชั่น และตัวละครร้ายในคราบ “เสือไบ”


ชุดต่อมาคือ หนังเควียร์ร่วมสมัยกระแสหลัก ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ด้วยหนังที่ออกฉายในปีนั้น และสร้างความฮือฮาระดับปรากฏการณ์ นั่นคือ สตรีเหล็ก (2543) ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของทีมวอลเลย์บอลที่ประกอบด้วยคนหลากหลายทางเพศ ตามด้วย พรางชมพู กะเทยประจัญบาน (2545) ผลงานที่ได้รับอิทธิพลสืบเนื่องกันมา ที่นำชะตาชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาเปรียบเทียบว่าไม่ต่างอะไรกับชีวิตของชนกลุ่มน้อย สองเรื่องต่อมาคือ ปล้นนะยะ (2547) และ หอแต๋วแตก (2550) งานกำกับของ พจน์ อานนท์ ที่ขยายภาพลักษณ์ตัวละครกะเทยให้ออกมาในรูปแบบแฟนซีและเต็มไปด้วยสีสันอย่างสุดเหวี่ยง และประสบความสำเร็จอย่างสูงจนทำให้เกิดภาคต่อมากมายจนถึงปัจจุบัน จากหนังตลกสี่เรื่องดังกล่าวไปสู่หนังรักดรามา Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ (2550) ซึ่งตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ หนังพูดถึงการสูญเสียความทรงจำของนางโชว์จากอุบัติเหตุ จนหลงลืมอัตลักษณ์ทางเพศและเกิดความสัมพันธ์กับผู้หญิงขึ้นมา 


ชุดสุดท้าย หนังเควียร์กระแสทางเลือก หรือหนังทุนอิสระ ซึ่งในวงการหนังไทยนั้นเริ่มแตกสายออกมาอย่างชัดเจนหลัง ค.ศ. 2000 เช่นกัน ในชุดนี้มี สัตว์ประหลาด! (2547) หนังเควียร์อันท้าทาย ลึกลับ และน่าพิศวงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เปิดพรมแดนให้ภาพยนตร์ไทยยุคใหม่ทั้งในด้านเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และประสบความสำเร็จอย่างสูงในแวดวงเทศกาลภาพยนตร์ ด้วยการคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ตามด้วย สวรรค์สุดเอื้อม Happy Berry (2547) และ Happy Berry: Oops! I Did It Again (2548) สารคดีสองภาคต่อของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้กำกับหนังเควียร์นอกกระแสคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนสุดเปรี้ยว 4 คนที่ร่วมกันเปิดร้านเสื้อผ้า ซึ่งจะฉายในรายการดูหนังคลาสสิกกับ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ถัดมาเป็นงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 2 เรื่อง คือ Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560) ผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของเธอ ซึ่งถูกห้ามฉายในปี 2553 ก่อนจะต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมนานถึง 7 ปี และ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) ที่ยังคงตั้งคำถามถึงสังคมเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศของคนในครอบครัวเช่นเดียวกับ Insects in the Backyard หากแต่มาในโทนที่สว่างไสวกว่า 


She เรื่องรักระหว่างเธอ (2555) และ 1448 love Among Us รักเรา..ของใคร (2557) เป็นสองเรื่องในโปรแกรมที่พูดถึงความรักของตัวละครหญิงรักหญิง โดยเรื่องแรกนั้นนำเสนอความสัมพันธ์อันหลากหลายของคนหลายคู่ ในขณะที่เรื่องที่สองมุ่งเน้นตั้งคำถามถึงกฎหมายมาตรา 1448 ที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการสมรสเท่าเทียม อันเป็นประเด็นเรียกร้องสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 


ปิดท้ายด้วยหนังชายรักชายสองแนวทาง คือหนังวัยรุ่นโรแมนติก Present Perfect แค่นี้ก็ดีแล้ว (2560) ที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ กับ มะลิลา (2561) ภาพยนตร์เควียร์ที่เนิบนิ่งด้วยการกำกับอันละเมียดละไมและพุทธปรัชญาที่แฝงไว้ให้ใคร่ครวญ ซึ่งเป็นตัวแทนหนังไทยที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาต่างประเทศในตอนนั้น 


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงครึ่งแรกของโปรแกรม Thai Queer Cinema Odyssey ที่จะยังมีต่อเนื่องไปถึงเดือนกรกฎาคม ในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับหน้า อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนนี้ ไม่เพียงแต่หนังไทย ยังมีหนังเยอรมัน Neubau (2563) และหนังฝรั่งเศส The Wound (2560) ที่มาร่วมขบวนจัดฉายให้เลือกชมกันได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งในวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566 หอภาพยนตร์จะจัดงานเสวนาเพื่อพาผู้สนใจไปสำรวจความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทย



สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/program/100


ตารางจัดฉาย

พฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2566

15.30 น. กุ้งนาง 

ศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566

13.00 น. เพลงสุดท้าย..

15.30 น. รักทรมาน

อาทิตยที่ 28 พฤษภาคม 2566

13.00 น. ฉันผู้ชายนะยะ

15.30 น. มะลิลา

อังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566

13.00 น. วัยเรียนเพี้ยนรัก

15.30 น. Present Perfect แค่นี้...ก็ดีแล้ว 

พุธที่ 31 พฤษภาคม 2566

13.00 น. สตรีเหล็ก

15.30 น. พรางชมพู กะเทยประจัญบาน

พฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2566

13.00 น. Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ

อังคารที่ 6 มิถุนายน 2566

13.00 น. วัยเรียนเพี้ยนรัก

15.30 น. กุ้งนาง

พุธที่ 7 มิถุนายน 2566

13.00 น. นรกตะรุเตา

พฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566

13.00 น. วิวาห์พาฝัน

15.30 น. เพลงสุดท้าย..

ศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566

13.00 น. ฉันผู้ชายนะยะ

15.30 น. พรางชมพู กะเทยประจัญบาน

อังคารที่ 13 มิถุนายน 2566

15.30 น. มะลิลา

พุธที่ 14 มิถุนายน 2566

13.00 น. รักทรมาน

15.30 น. Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ

พฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2566

13.00 น. Present Perfect แค่นี้...ก็ดีแล้ว

15.30 น. นางแบบ 

ศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2566

14.00 น. ดูหนังคลาสสิกกับ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน สวรรค์สุดเอื้อม (Happy Berry) + Happy Berry: Oops! I Did It Again

เสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566

13.00 น. แมลงรักในสวนหลังบ้าน

15.30 น. It Get Better

อังคารที่ 20 มิถุนายน 2566

13.00 น. สตรีเหล็ก

15.30 น. หอแต๋วแตก

พุธที่ 21 มิถุนายน 2566

13.00 น. ปล้นนะยะ

พฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566

13.00 น. 1448 love Among Us รักเรา..ของใคร  

15.30 น. She เรื่องรักระหว่างเธอ

เสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566

13.00 น. นรกตะรุเตา

15.30 น. สัตว์ประหลาด!

อาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566

13.00 น. เสวนาภาพยนตร์ Thai Queer Cinema Odyssey การเดินทางของหนังเควียร์ไทย

15.30 น. วิวาห์พาฝัน

อังคารที่ 27 มิถุนายน 2566

13.00 น. It Get Better

15.30 น. She เรื่องรักระหว่างเธอ

พุธที่ 28 มิถุนายน 2566

13.00 น. 1448 love Among Us รักเรา..ของใคร  

15.30 น. นางแบบ

พฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566

13.00 น. ปล้นนะยะ

15.30 น. หอแต๋วแตก

ศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566

13.00 น. สัตว์ประหลาด!

15.30 น. แมลงรักในสวนหลังบ้าน




ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบข้อเขียนและสัมภา...

ตามประกาศหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติงาน ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่พัสดุ บัดนี้หอภาพย...

อ่านรายละเอียด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด