ในนิทรรศการ “โรงถ่าย 3” นิทรรศการว่าด้วยกระบวนการผลิตภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์จัดทำขึ้นในอาคารสรรพสาตรศุภกิจ มีหัวข้อสำคัญคือ “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” ซึ่งกล่าวถึงแรงบันดาลใจและงานศิลปะที่ส่องมาถึงกัน จาก ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ส่งต่อถึง เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งได้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “สงครามชีวิต” จากนวนิยายของศรีบูรพาด้วยใจรัก แม้ไม่เคยได้สร้างจริง แต่หอภาพยนตร์ก็ได้นำบทนี้มาสร้างสรรค์ขึ้นให้โลดแล่นในนิทรรศการแห่งนี้ รวมทั้งส่งต่อให้ สมเกียรติ วิทุรานิช ผู้เคารพศรัทธาศรีบูรพาและ “สงครามชีวิต” เช่นกัน มาเป็นผู้ลงมือทำความฝันในบางฉากจากบทของ เชิด ทรงศรี ให้กลายเป็นจริง
เนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดของศรีบูรพา (31 มีนาคม 2449) หอภาพยนตร์จึงนำภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจงานวรรณกรรมของศรีบูรพามาจัดฉาย เพื่อต่อยอดให้เห็นลักษณะของศิลปะที่ส่องทางให้แก่กันดังกล่าวควบคู่ไปกับการชมนิทรรศการ ตั้งแต่ผลงานที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับปี 2528 โดย เปี๊ยกโปสเตอร์ ฉบับปี 2544 โดย เชิด ทรงศรี และฉบับปี 2563 โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล ในชื่อ Forget Me Not ซึ่งเป็นงานที่เกิดขึ้นจากนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับข้างหลังภาพที่เขาจัดแสดงก่อนหน้านั้น ต่อด้วยภาพยนตร์อีก 2 เรื่องที่กล่าวถึงและมีความเชื่อมโยงกับนวนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” คือ รักแท้ บทที่ 1 (2538) ของ สุเทพ ตันนิรัตน์ และ October Sonata รักที่รอคอย (2552) ของ สมเกียรติ วิทุรานิช