[ภารกิจทหารอาสาสยามในสงครามโลก ครั้งที่ 1]

ความยาว 63.26 นาที 

ฟิล์ม 35 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ

ผู้สร้าง 


สยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ - ฝรั่งเศส) เพื่อกระทำสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมัน - ออสเตรีย - ฮังการี) รัฐบาลได้ประกาศรับสมัครทหารอาสา เพื่อส่งไปร่วมรบในทวีปยุโรป จำนวน 1,233 คนหอภาพยนตร์ได้พบหลักฐานเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่า จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ซึ่งทรงเป็นผู้อำนวยการและบังคับบัญชากองทหารไทยในราชการสงครามนี้ ได้ทรงแจ้งให้ นายพันตรี หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร ผู้ช่วยทูตในราชการทหารบก สถานทูตไทยในปารีส ฝรั่งเศส ทราบว่าทางฝรั่งเศสจะจัดการให้มีผู้ถ่ายรูปซีเนมาโตกราฟในขณะที่กองทหารไทยไปถึงฝรั่งเศส รูปเช่นนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ยิ่งนัก ทรงขอให้ติดตามให้มีการถ่ายให้สำเร็จและให้ซื้อฟิล์มส่งเข้ามาให้พระองค์ด้วย และต่อมาได้พบหลักฐานจากรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันในเวลานั้นว่า 


เมื่อเสร็จสงครามแล้ว และทหารไทยเดินทางกลับสู่มาตุภูมิแล้ว ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2462 กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้พระราชทานฟิล์มภาพยนตร์ ที่บันทึกภารกิจของทหารไทยที่อาษาไปในงานพระราชสงคราม จำนวน 14 ม้วน ออกฉายตามโรงภาพยนตร์บางโรง โดยใช้ชื่อว่า “ทหารไทยที่อาษาปราบฮั่น” และมีการจัดฉายรอบพิเศษให้กองทหารไทยที่เดินทางกลับมาได้ดูด้วย แต่ก่อนหน้านี้ คือในระยะเดือนมกราคม พ.ศ. 2461 (หากนับปฏิทินปัจจุบันคือต้นปี พ.ศ. 2462) ในขณะที่กองทหารไทยยังไม่ได้เดินทางกลับมา ได้มีข่าวแจ้งความในหนังสือพิมพ์รายวันว่า บริษัทภาพยนตร์พัฒนากร จะจัดฉายภาพยนตร์ซึ่งใช้ชื่อว่า “ทหารอาษาของเรา” ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้างเอเยนต์ของบริษัทที่ประเทศฝรั่งเศสถ่ายมาให้เป็นพิเศษ ยาว 3 ม้วน กินเวลาฉายราว 40 นาที แจ้งความในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันของบริษัทพัฒนากร มีความบางตอนว่า


“ในระหว่าง 40 นาทีที่เรานั่งดูอยู่นั้น ให้รู้สึกใจคอตึกตักอย่างไรไม่รู้ ด้วยสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่ตาเรานั้นล้วนสะกิดให้เรารู้สึก ภาคภูมิใจในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ของเรา...... หนัง 3 ม้วนนั้น ฉายกระจ่างจะแจ้ง แลเห็นรูปโฉมของนายและพลทหารได้อย่างชัดเจน ไม่มืดมัว จำหน้าผู้ที่เรารู้จักได้ทุกคน คงเป็นที่ปราบปลื้มยินดีของบรรดาวงษาคณาญาติ มิตรสหายชาวเกลอของนายแลพลทหารนั้น ที่จะได้เห็นเขาเหล่านั้น ยังอยู่ดีกินดี ทุกคนหน้าตาแช่มชื่นร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใส”


การนำภาพยนตร์ทั้ง 2 รายการนี้ออกฉายให้สาธารณชนสยามดูในเวลานั้นปรากฏเป็นที่ตื่นเต้นและชื่นชมยินดีกันทั่วไป หอภาพยนตร์ได้พยายามสืบหาภาพยนตร์ทั้งสองรายการนี้ตลอดมา แต่ไม่มีความหวังว่าจะค้นพบ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็น


วาระการฉลอง 100 ปี มหาสงครามโลก ครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญ และเป็นสนามรบสำคัญในมหาสงครามนี้ ได้จัดงานเฉลิมฉลองและรำลึกอย่างเป็นงานใหญ่ของชาติ ได้มีการรื้อฟื้นหลักฐานความทรงจำต่าง ๆ ของสงคราม และโดยไม่คาดฝัน หอภาพยนตร์จึงพบว่าทางการฝรั่งเศสได้จัดทำสำเนาภาพยนตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับกองทหารอาสาสยามในฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในหอจดหมายเหตุของกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส และมีการจัดส่งเข้ามาเพื่อเผยแพร่ในประเทศไทยโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ภาพยนตร์นี้เป็นการบันทึกกิจวัตรของกองทหารไทย ตามลำดับเวลานับตั้งแต่เดินทางไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศส ไปจนการเดินทางไปประจำการตามสถานที่ต่าง ๆ การฝึกอบรมหน้าที่ตามภารกิจ เป็นการบันทึกอย่างละเอียด โดยเฉพาะอาจกล่าวได้ว่าสามารถบันทึกทหารอาสาสยามทุกคนรวมไว้ในภาพยนตร์นี้


หอภาพยนตร์ได้ตรวจสอบเนื้อหาเรื่องราวในภาพยนตร์นี้แล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นเนื้อหาที่ตรงกับภาพยนตร์ “ทหารไทยที่อาษา


ปราบฮั่น” ของกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และ “ทหารอาษาของเรา” ของบริษัทพัฒนากร โดยเทียบจากเค้าเรื่องของ “ทหารอาษาของเรา” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้


ม้วน 1 

1. โรงทหารกาเทดราลที่เมืองมาร์แซย์ ซึ่งทหารไทยไปพักอยู่ กองทหารไทยไปรับประทานอาหาร

2. นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์และคณะทูตทหารที่โรงทหารกาเทดราล ณ เมืองมาร์แซย์ 

3. โรงทหารแซงต์ชาร์ลที่มาร์แซย์ นายพลเลอกรังด์ และนายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ตรวจพลสวนสนาม

4. นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ต้อนรับกองทหารไทย

5. กองทหารไทยเดินแถวผ่านนายพลเลอกรังด์และนายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์

6. กองทหารไทยโห่ร้องไชโยให้แก่นายพลทั้งสอง

7. ทูตสยามที่ปารีสและโรมเยี่ยมที่พักทหารไทย

8. นายพันเอกพระเฉลิมอากาศอ่านคำปฏิสันถารของพระองค์เจ้าจรูญฯ ให้กองทหารไทยฟัง

9. พระองค์เจ้าจรูญฯ แจกของที่รฦกแก่ทหารไทยในการที่ได้มาสู่ประเทศฝรั่งเศส ต่อหน้าพระยาพิพัฒน์โกษา อรรคราชทูตสยามประจำกรุงโรมและต่อหน้าพระยาพิไชยชาญฤทธิ์


ม้วน 2

ทหารไทยไปดูภาพยนตร์ที่มาร์แซย์ 

ทหารนักบินไทยไปถึงสถานีอิศเตอรด์

ไปยังสนามเครื่องบิน

ไปถึงสนามเครื่องบิน

ผู้บังคับการเดอะมาลอรบ์ และครูนักบินฝรั่งเศสกับนายทหารนักบินไทย ณ ที่พักเครื่องบิน

พระยาพิไชยชาญฤทธิ์กับกองเสนาธิการและนายทหารฝรั่งเศสดูการซ้อมวิชาขับรถยนต์


ม้วน 3

พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ตรวจพลทหารไทยที่โรงเรียนเครื่องยนต์ก่อนหน้าที่ทหารเข้าสู่แนวรบ

การเดินรถยนต์

ความเป็นไปต่าง ๆ ที่โรงเรียนเครื่องยนต์ทหารฝรั่งเศสและไทยปะปนกันอย่างพี่น้องเมื่อก่อนหน้าจะเข้าไปเคียงไหล่ช่วยกันรบศึกที่แนวรบ


ภาพยนตร์ชุดนี้ นับว่ามีค่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์บันทึกกิจกรรมวัตรปฏิบัติของกองทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อย่างดี เป็นบันทึกภาพจำของเหล่าพลทหารและนายทหารทั้งปวงไว้อย่างสมบูรณ์ น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ชุดนี้ถูกเก็บงำไว้ตลอดเกือบร้อยปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีการจัดงานรำลึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เรียกว่า วันทหารผ่านศึก ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ทุกปี ซึ่งเป็นวันยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และจะมีทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยังมีชีวิตอยู่มาร่วมงานทุกปี ในขณะที่แต่ละปี ทหารผ่านศึกที่มีชีวิตอยู่เหลือน้อยลงไปทุกปี จนทหารผ่านศึกคนสุดท้ายเสียชีวิตไปแล้วหลายปี เราจึงพบภาพยนตร์นี้ 


อย่างน้อยภาพยนตร์นี้จะเป็นภาพอันมีชีวิตชีวาแทนตัวทหารผ่านศึกทั้งหลายเหล่านั้นตลอดไป จึงสมควรที่ภาพยนตร์นี้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ชิ้นหนึ่งของชาติ