พันท้ายนรสิงห์

ความยาว 98 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ 

สถานที่ฉายครั้งแรก ศาลาเฉลิมกรุง 

บริษัทสร้าง อัศวินภาพยนตร์ 

ผู้อำนวยการสร้าง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระ-องค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล 

ผู้กำกับการแสดง  มารุต 

ผู้เขียนเรื่อง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระ-องค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล 

ผู้ถ่ายภาพ รัตน์ เปสตันยี

ผู้แสดงนำ ชูชัย พระขรรค์ชัย, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, ถนอม อัครเศรณี, ช. แสงเพ็ญ, แชน เชิดพงษ์, อบ บุญติด, สิน, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ทัต เอกทัต, อุดม ปิติวรรณ, ทวีสิน ถนอมทัพ, จุมพล ปัทมินทร์, มงคล จันทนบุปผา, อดิเรก จันทร์เรือง 


ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคพระเจ้าเสือ ขุนนางคิดคดทรยศต่อพระเจ้าเสือ นำชื่อของพระองค์ไปแอบอ้างในทางเสียหายทำให้ราษฎรรู้จักพระองค์ในทางเลวร้าย ไม่ว่าในด้านราชการหรือส่วนพระองค์ จนราษฎรเกลียดกลัวไม่กล้าพบพระพักตร์ พระองค์จึงต้องปลอมตัวไปสืบหาความชั่วของพวกขุนนางที่ทำให้พระองค์ถูกมองไปในทางที่ผิด ทั้งเพื่อตรวจดูทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์เอง และทรงได้พบกับนายสินพันท้ายเรือของพระยาพิชัย ขุนนางในราชสำนัก และรู้สึกพอพระทัยในความสามารถด้านการต่อยมวยและน้ำจิตน้ำใจของนายสิน ทั้งสองจึงเป็นสหายกัน กระทั่งพระเจ้าเสือทรงเปิดเผยพระองค์และทรงแต่งตั้งให้นายสินเป็น พันท้ายนรสิงห์ คุมเรือพระที่นั่ง


วันหนึ่ง พันท้ายนรสิงห์ทราบว่าพระยาพิชัย เจ้านายเก่าคิดจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือขณะเสด็จประพาสต้นทางเรือพระที่นั่ง ครั้นจะเพ็ดทูลความแด่พระเจ้าเสือหรือก็กลัวอันตรายจะถึงเจ้านายเก่า พันท้ายจึงให้ นวล ภรรยาไปวิงวอนให้พระยาพิชัยเลิกคิดการเสีย เพราะฝ่ายหนึ่งคือเจ้านายเก่า ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นเจ้านายใหม่ที่ตนให้ความเคารพทั้งคู่ ฝ่ายนวลเมื่อเดินทางไปถึงก็สามารถวิงวอนพระยาพิชัยสำเร็จ แต่มาเกิดเหตุกลางทางทำให้ไม่สามารถนำความสำเร็จไปบอกสามีได้ทัน ทำให้สินซึ่งปฏิบัติหน้าที่พันท้ายเรือพระที่นั่งตัดสินใจแสร้งบังคับให้หัวเรือชนเข้ากับกิ่งไม้จนหัวเรือหักเพื่อหยุดการเสด็จประพาสกลางครัน สินทูลขอให้พระเจ้าเสือประหารตนเพื่อรักษาจารีตตามกฎมณเฑียรบาล และเพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ด้วยความรักและเมตตา พระเจ้าเสือทรงอภัยโทษให้ แต่สินกลับยืนยันให้ทรงรักษากฎ และแม้พระเจ้าเสือมีพระราชดำริให้ทำรูปปั้นสินและประหารรูปปั้นแทน สินก็ไม่ยอม ที่สุดพระองค์จึงจำพระทัยให้ทหารตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ผู้ภักดีและสหายรักด้วยความสุดแสนโทมนัส และยิ่งทวีความโทมนัสเมื่อนวลมาถึงแต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว


เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในยุคที่เริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นอีกหลังสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำจากบทละครเวทีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งเมื่อเป็นละครเวทีที่มีการแสดงระหว่างสงครามและหลังสงครามใหม่ ๆ ก็ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลพระเจ้าเสือ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเกร็ดในประวัติศาสตร์นั้นกล่าวแต่ว่า เหตุที่เรือพระที่นั่งชนฝั่งหักล่มเพราะลำน้ำคลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวมาก จนพันท้ายไม่สามารถคัดท้ายเรือได้ แต่พันท้ายกลับยอมรับผิดไม่โทษเหตุสุดวิสัย ยอมถูกประหารเพื่อรักษากฎ จึงกินใจผู้คนในความจงรักภักดีประเภทยอมตายถวายชีวีต่อเจ้าเหนือหัวและความกล้าหาญเสียสละชีวิตเพื่อรักษาระเบียบประเพณี เรื่องของพันท้ายนรสิงห์เป็นตำนานของผู้ซื่อสัตย์ซึ่งได้รับการบูชาดุจเทพเจ้า ผู้แต่งบทละครได้แต่งเพิ่มตัวละครภรรยาของพันท้ายนรสิงห์ คือ นวล และนวลกำลังจะมีลูกทำให้มีรสชาติของความรักและกลายเป็นโศกนาฏกรรมแห่งความรัก ความเสียสละรัก และความกล้าหาญเพื่อรักษาความดี ความถูกต้องเป็นอุดมคติ สร้างอารมณ์ให้ฮึกเหิมพอ ๆ กับหดหู่เวทนา เมื่อเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกนี้ ก็ปรากฏได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ชมทั่วประเทศ เพลงเอกเพลงหนึ่งในภาพยนตร์ คือ น้ำตาแสงใต้ ที่พระเอกร้องร่ำอาลัยลาเมีย กลายเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของชาติ ฉากเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จไปในคลองโคกขามและเกิดเหตุ ก็เป็นฉากหนึ่งที่ติดตรึงตาตรึงใจและอยู่ในความทรงจำของผู้ชมภาพยนตร์


พันท้ายนรสิงห์ จึงเป็นภาพยนตร์ที่ตัวมันเองเป็นประวัติการณ์ในสังคมไทยในช่วงปีที่ออกฉาย เป็นภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์และความเชื่อของผู้คนทั่วไปในสังคมไทย ซึ่งแยกแยะไม่ออกว่าเรื่องราวและตัวละครในภาพยนตร์เป็นจริงหรือแต่งเติม และภาพยนตร์นี้คงจะมีส่วนทำให้พันท้ายนรสิงห์เป็นตัวแทนในอุดมคติของความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ต่อสถาบันตลอดกาลในสังคมไทย