ยุทธนา - ศิริพร YUTHANA UND SIRIPON MONCH AUF ZEIT

ความยาว 44.54 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง จำนวน 1 ม้วน

อำนวยการสร้าง  Hans Berthel


ภาพยนตร์ขาวดำพูดเสียงเยอรมันเรื่องนี้ สร้างโดย ฮันส์ เบอร์เทล ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวเยอรมัน บันทึกภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยชนชั้นกลางในเมืองกรุง สมัยราวปี พ.ศ. 2506 เดินเรื่องผ่านตัวละครคู่รักชายหนุ่มหญิงสาว คือ  ยุทธนา และ ศิริพร  แรกเริ่มเดิมทีนั้น ฮันส์ เบอร์เทล เข้ามาในเมืองไทยก็ด้วย ราปิดฟิล์ม บริษัทสร้างภาพยนตร์สัญชาติเยอรมันจ้างให้ฮันส์มาสำรวจสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย  ในครั้งนั้นเอง เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ แท้ ประกาศวุฒิสาร เจ้าของไทยไตรมิตรภาพยนตร์ซึ่งได้สร้างภาพยนตร์ไทยพากย์ ขนาด 16 มม. ประสบความสำเร็จหลายเรื่องติดกัน  เขาจึงชักชวนให้แท้เป็นผู้ร่วมอำนวยการสร้างฝ่ายไทยสำหรับโครงการภาพยนตร์เรื่อง THE BLACK PANTHER OF RATANA  ซึ่งแท้ได้ตั้งชื่อว่า “มือเสือ” เมื่อออกฉายในประเทศไทย


ในการสำรวจสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ครั้งนั้นเอง ฮันส์ เบอร์เทล ซึ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยมาพอสมควรโดยเฉพาะชาวเขาทางภาคเหนือ  จึงเกิดความคิดว่าจะถ่ายภาพยนตร์กึ่งสารคดีสักเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา และการปราบปรามยาเสพติดทางภาคเหนือของไทย โดยให้ แท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นผู้ช่วยประสานงาน จนการถ่ายทำสำเร็จ ด้วยดี  ความสามารถในการช่วยประสานงานให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติเช่นนี้ เป็นมูลเหตุที่ทำให้แท้ได้ร่วมงานกับกองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติอีกหลายคณะในเวลาต่อมา 


ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชาวเขาที่ ฮันส์ เบอร์เทล ถ่ายทำสำเร็จไปนั้นคงจะประสบผลสำเร็จดี เขาจึงกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อถ่ายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับไทยอีกเรื่องหนึ่ง โดยได้ แท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นผู้ร่วมงานอีก และได้ช่วยคิดแนวเรื่องให้ เป็นสารคดีที่จะแสดงให้เห็นวิถีชีวิตประจำวันของครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาในกรุงเทพ ใช้วิธีเดินเรื่องด้วยชีวิตประจำวันของคู่รักหนุ่มสาวคู่หนึ่ง คือ ยุทธนากับ ศิริพร แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่ง ๆ หนุ่มสาวทำอะไรบ้าง เริ่มจากหนุ่มพาสาวไปเที่ยว ซ้อนรถมอเตอร์ไซต์ไปตามย่านที่น่าดูต่าง ๆ ในกรุงเทพ เปิดฉากที่หน้าโรงภาพยนตร์โอเดียนสถานที่ยอดฮิตของวัยรุ่นในสมัยนั้น ซึ่งกำลังฉายภาพยนตร์เรื่องดังของ คลิฟฟ์ ริชาร์ด เรื่อง SUMMER HOLIDAY ศิริพรเองก็แต่งกายตามสมัยนิยม ใส่กางเกงยีนส์เอวสูง เมื่อดูหนังจบยุทธนาพาศิริพรซ้อนสกูตเตอร์ไปรอบกรุง เราจะได้เห็น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนินนอกไปจนถึงทำเนียบรัฐบาลเสาชิงช้า วัดพระแก้ว จากนั้น ทั้งสองแวะเข้าไปพักผ่อนในสนามหลวงหน้าวัดพระแก้ว เราได้เห็นผู้คนมาชุมนุมเล่นว่าวรูปแบบต่าง ๆ สุดท้ายคู่รักทั้งสองไปงานปาร์ตี้ชุมนุมวัยรุ่น ซึ่งมักจะสังสรรค์กันตามบ้าน เล่นดนตรีหรือเปิดแผ่นเสียงเพลงฮิตเพื่อเต้นรำ โดยขณะนั้นจังหวะทวิสต์กำลังฮิตอยู่ทั่วโลก 


วันต่อมายุทธนาพาศิริพรไปเที่ยวบ้านตน ผู้ชมจึงได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านคนไทย ซึ่งบ้านนี้อยู่ริมคลอง แม่ของยุทธนาตักบาตรพระที่พายเรือผ่านบ้านยามเช้า แล้วพายเรือไปตลาด ซื้อของจากตลาดน้ำมาทำอาหาร จนถึงเวลาที่ครอบครัวทานอาหารกัน พร้อมหน้า


ต่อมายุทธนา ซึ่งอายุยี่สิบเศษแล้ว ได้เข้าพิธีบวชเป็นพระ ตามประเพณีที่ชายไทยเกือบทุกคนก่อนจะแต่งงานมีเรือนจะต้องบวชเป็นพระระยะเวลาหนึ่ง หนังแสดงให้เห็นพิธีการบวชพระอย่างละเอียด และให้เห็นกิจกรรมของพระบ้าง เช่นไปเยี่ยมโยมพ่อแม่ที่บ้าน ที่สุดมาถึงวันที่ยุทธนาลาสิกขาบท ศิริพรไปรับเขาด้วยวามยินดี เพราะต่อไปคือวันแต่งงานที่จะมาถึง  และภาพยนตร์จบเพียงนี้


ฮันส์ เบอร์เทล ได้นำ ยุทธนา - ศิริพร ออกฉายทางโทรทัศน์ของเยอรมัน และได้ส่งฟิล์มก๊อปปี้หนึ่งให้แท้ ประกาศวุฒิสาร ในฐานะผู้ร่วมงาน ซึ่งภายหลังแท้ได้มอบฟิล์มนี้แก่หอภาพยนตร์  


แม้ว่า ยุทธนา - ศิริพร จะเป็นการมองวิถีชีวิตคนไทยผ่านสายตาฝรั่ง แต่ภาพยนตร์นี้มีคุณค่าเป็นภาพสะท้อนความน่าสนใจ และเสน่ห์ที่คนต่างชาติมองคนไทยและวิถีไทย และเมื่อวันเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ ยุทธนา - ศิริพรจึงเป็นความทรงจำที่มีชีวิตชีวาของยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งไม่อาจหวนคืนมาได้อีกแล้ว