การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำทางทหารจนถึงล้มป่วยและอสัญกรรมของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ความยาว 25.15 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง 

ผู้สร้าง กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง)


เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นหลังจากการอสัญกรรมของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ไม่นานนัก เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณงามความดีของ ฯพณฯ ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงด้วยภาพและเสียงบรรยายให้เห็นว่า ฯพณฯ ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเข้มแข็ง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและดูแลทุกข์สุขความเป็นอยู่ของราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานซึ่งราษฎรมีความเป็นอยู่ยากแค้นที่สุด ส่วนในเมืองกรุง ก็ดูแลเต็มที่ แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง เช่นดูแลเรื่องความสะอาดของบ้านเมือง ฯพณฯ ทำงานหนักจนล้มป่วย และต้องพักรักษาตัว ภาพยนตร์แสดงให้เห็น ฯพณฯ พักรักษาตัวที่บ้านพักชายทะเล แหลมแท่น บางแสน และเหตุการณ์สำคัญเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงขับด้วยพระองค์เองไปทรงเยี่ยม ฯพณฯ ซึ่งกำลังป่วยหนัก ต้องนอนอยู่บนเตียง มีภาพขณะที่ ฯพณฯ ยกพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นทูนไว้เหนือหัวตน ซึ่งเป็นภาพที่เคยออกอากาศเป็นข่าวในราชสำนักทางโทรทัศน์ในขณะนั้น และน่าจะเป็นภาพจำสำคัญภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติ หลังจากนั้นภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ฯพณฯ ป่วยหนักจนต้องนำส่งทางเฮลิคอปเตอร์ไปรักษาที่โรงพยาบาลในพระนคร ตามด้วยภาพการเข้าเยี่ยมด้วยความเป็นห่วงของผู้คนสำคัญในวงการต่าง ๆ และภาพของคณะแพทย์ผู้รักษาซึ่งมีแพทย์ฝรั่งจากสหรัฐอเมริกามาร่วมการรักษาด้วย ภาพที่น่าสนใจคือ สภาพของ ฯพณฯ บนเตียงในห้องพยาบาลที่แวดล้อมอยู่บนพื้นด้วยนายทหารที่ใกล้ชิด ปรากฏว่า ฯพณฯ จะติดตามดูข่าวทางโทรทัศน์พร้อมกัน 2 เครื่อง ซึ่งเวลานั้นมีอยู่ 2 ช่อง คือ ไทยโทรทัศน์ช่อง 4 และโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และที่สุดภาพยนตร์ก็นำเสนอวาระสุดท้ายของ ฯพณฯ ด้วยความเศร้าอย่างสุดซึ้ง ถึงการจากไป ซึ่งในวันอสัญกรรม รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระไว้ทุกข์ทั่วประเทศ ให้งดการมหรสพทั้งปวงเป็นเวลาหลายวัน วิทยุและโทรทัศน์งดจัดรายการบันเทิง แต่เสนอการถ่ายทอดงานศพแทน ทั้งชาติจึงตกอยู่ในอารมณ์เศร้า ภาพยนตร์แสดงภาพบันทึกในงานตั้งศพสวดอภิธรรม ซึ่งเป็นรัฐพิธีของชาติ ให้เห็นว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าตลอดจนผู้แทนนานาชาติต่างไปร่วมงานศพและไว้อาลัยจำนวนมาก


ภาพยนตร์เรื่องนี้ นับเป็นงานบันทึกอารมณ์ที่มีกระแสสูงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติ และเป็นเอกสารแห่งความทรงจำที่ไม่อาจบันทึกด้วยสื่ออื่น ๆ ให้รู้สึกได้ดีเท่าภาพยนตร์