เงาะป่า

ความยาว 86.21 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง 

สถานที่ฉายครั้งแรก โรงภาพยนตร์เอเธนส์

บทประพันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุล-จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้อำนวยการสร้าง ปริม บุนนาค, เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับการแสดง ภานุพันธุ์, เปี๊ยก โปสเตอร์

ผู้เขียนบท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

ผู้ถ่ายภาพ สามัคคี

ผู้ประพันธ์ดนตรี บุญยงค์ เกตุคง, บรู๊ซ แกสตัน

ผู้แสดง จตุพล ภูอภิรมย์, ศศิธร ปิยกาญจน์, ภิญโญ ปานนุ้ย, ปู จินดานุช, สมคิด 

ทองเงิน, อำนวย แจ่มใส, ลาวัลย์ บัวทั่ง, สังเวียน ยอดนิล, สำรวย ธรรมสาคร, พิบูลย์ สดชื่น, สุทัศน์ เพ็งขำ


ซมพลา เงาะหนุ่มแห่งชายป่าเมืองพัทลุงได้พบรักกับ ลำหับ เงาะสาว หลังจากที่ซมพลาได้ช่วยชีวิตลำหับให้รอดพ้นจากการถูกงูกัดในระหว่างเที่ยวป่า จนถูกเนื้อต้องตัวลำหับกลายเป็นเรื่องผิดผี เกิดกลายเป็นความรักฉันท์ผัวเมีย แต่ทั้งคู่ก็ต้องแอบรักกันเรื่อยมา เพราะ ตองยิบ พ่อของลำหับคอยกีดกันและบังคับให้เธอต้องแต่งงานกับ ฮเนา เงาะหนุ่มผู้มีฐานะดี ทำได้แม้กระทั่งเฆี่ยนตีและไม่ยอมให้ลำหับลูกสาวตนออกไปไหน จนลำหับต้องจำใจทิ้งรักของเธอไปแต่งงานกับฮเนา แต่เมื่อลำหับกับฮเนาแต่งงานกันจนได้ร่วมหอ ซมพลาก็ใช้อุบายลักพาตัวลำหับหนีมา ครั้นเมื่อฮเนารู้ความก็รีบออกตามล่าซมพลาจนพบซมพลาขณะกำลังล่าสัตว์ ทั้งคู่จึงได้ต่อสู้กันตามคำท้าของซมพลาที่ว่าหากฮเนาชนะเขาจะยอมบอกที่ซ่อนของลำหับ แต่ทว่าในระหว่างที่ซมพลากำลังจะมีชัยเหนือฮเนา รำแก้วซึ่งเป็นพี่ชายของฮเนาที่ติดตามมาด้วยก็รีบเป่าลูกดอกอาบยาพิษใส่ซมพลาจนเขาล้มลง ลำหับซึ่งไม่เห็นซมพลากลับมา จึงออกมาตามหาซมพลา และเจอเขาในขณะเกิดเหตุ ในจังหวะที่ซมพลากำลังจะสิ้นใจ ด้วยความโศกเศร้าลำหับจึงใช้มีดฆ่าตัวเองตายตามซมพลา ส่วนฮเนาเมื่อได้รู้ว่าลำหับกับซมพลารักกันและได้เห็นความรักอันเด็ดเดี่ยวของทั้งสอง ก็ได้แต่โศกเศร้ากับสิ่งที่ทำไป พร้อมกับฝังร่างของทั้งคู่ไว้ด้วยความอาลัยรัก


เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวที่สร้างจากบทละครร้องพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “เงาะป่า” ซึ่งเป็นบทละครร้องที่ถือกันว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งของชาติ เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมความรักที่ถูกขัดขวางและนำไปสู่ความตายที่คู่รักยอมสละชีพเพื่อพิสูจน์รัก



ข้อเด่นประการหนึ่งของภาพยนตร์นี้ คือเป็นผลงานที่ทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์สองวัยและสองยุค คนเก่าและคนใหม่ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือ เสด็จพระองค์ชายใหญ่ ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นที่สองของวงการภาพยนตร์ไทย คือรุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือ เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับรุ่นที่สี่ หรือคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทย เป็นการผสานระหว่างเก่ากับใหม่ เพื่อถ่ายทอดบทละครร้องและรำซึ่งเป็นภาษานาฏศิลปะแบบประเพณี ให้ออกมาเป็นภาษาภาพยนตร์ไทยสมัยใหม่ จะเห็นได้จากการใช้วิธีถ่ายทำในสถานที่จริง คือสร้างฉากหมู่บ้านเงาะขึ้นในป่าในดงจริง และแต่งหน้าแต่งตัวผู้แสดงให้ดูเชื่อว่าเป็นชาวป่าจริง ซึ่งอาจเป็นการตีความลึกลงไปถึงที่มาของบทพระราชนิพนธ์ซึ่งกล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงได้สดับเค้าเรื่องมาจากการเล่าขานของพวกเงาะซาไก แล้วนำมาพระราชนิพนธ์เป็นบทละคร 


ภาพยนตร์นี้ผู้สร้างใช้วิธีการถ่ายทำด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย โดยจ้างบุคลากรและอุปกรณ์จากต่างประเทศ นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ๆ ที่ถ่ายทำในระบบไวด์สกรีน ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยเกือบทั้งหมดในเวลานั้น นิยมถ่ายด้วยระบบซีเนมาสโคปซึ่งมีจุดอ่อนเรื่องความคมชัดของภาพ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญก็ใช้นักดนตรีที่มีผลงานเด่นในการทำดนตรีไทยเดิมแบบสมัยใหม่ คือ บรูซ แกสตันและ บุญยงค์ เกตุคง 


หัวใจของภาพยนตร์นี้คือ การถ่ายทอดหัวใจของบทพระราชนิพนธ์คลาสสิกนี้ให้ได้ซึ่งคือความสะเทือนใจในท้ายสุดของเรื่องที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมอันสร้างความรู้สึกเห็นหัวอกหัวใจแห่งความรักบริสุทธิ์ของคู่หนุ่มสาวและบังเกิดความสลดสังเวชในชะตากรรมของคนคู่นั้น ซึ่งภาพยนตร์นี้ทำได้เช่นกัน


ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่ทำจากบทพระราชนิพนธ์ “เงาะป่า” เรื่องแรกและเรื่องเดียว ภาพยนตร์นี้จึงเป็นภาพแทนหรือภาพจำอันมีชีวิตชีวาเสมือนมีตัวตนจริงของตัวละครที่เคยมีอยู่แต่ในจินตนาการเมื่ออ่านบทพระราชนิพนธ์หรือดูการแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวตลอดมา