เพื่อน-แพง PUEN-PAENG

ความยาว 131 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง เชิดไชยภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง จันทนา ทรงศรี

ผู้กำกับ เชิด ทรงศรี

ผู้ประพันธ์ “ยาขอบ”

ผู้เขียนบท “ธม ธาตรี”

ผู้ถ่ายภาพ กวี เกียรตินันท์

ผู้ลำดับภาพ คชา ราชประทาน

ผู้จัดเครื่องแต่งกาย จันนิภา เจตสมมา, เจริญ แสงเดือน

ผู้ประพันธ์เพลง “พรานบูรพ์” ในเพลง “จันทร์เจ้าขา” “กระจุ๋มกระจิ๋ม” “ลืมเสียแล้วหรือเพื่อนแพง”

ผู้ทำดนตรีประกอบ สมาน กาญจนะผลิน, คดี อรรถกร

ผู้บันทึกเสียง เกษม มิลินทจินดา

ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, ชณุตพร วิศิษฏโสภณ, คนึงนิจ ฤกษะสาร, ปิยะ ตระกูลราษฎร์, วิโรจน์ ควันธรรม, โดม สิงห์โมฬี, สุรชาติ ไตรโภค, ม.ร.ว. สุดจัยยะ ชมพูนุท, เกษม มิลินทจินดา, วงจันทร์ ไพโรจน์, พิราวรรณ ประสพศาสตร์, ถนอม รุ่งพวงเงิน, สุรพล แก้วอำไพ

รางวัล รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2526 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลตุ๊กตาเงิน ผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ชณุตพร วิศิษฏโสภณ, ผู้แสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม คนึงนิจ ฤกษะสาร


ภาพยนตร์ที่ เชิด ทรงศรี ดัดแปลงขึ้นจากเรื่องสั้นแนวลูกทุ่งเรื่อง “เพื่อน-แพง” ของ ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์)  ภายหลังประสบความสำเร็จอย่างสุดยอดจากการนำนิยายลูกทุ่งเรื่อง “แผลเก่า” ของไม้ เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา)  มาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2520


เพื่อน–แพง บอกเล่าตำนานรักสามเส้าแห่งท้องทุ่ง ระหว่าง ลอ ชายหนุ่มผู้ผิดคำสาบาน กับ เพื่อน และ แพง สองพี่น้องผู้มีใจรักชายคนเดียวกัน โดยยาขอบได้หยิบยืมความสัมพันธ์และชื่อตัวละครเอกมาจากวรรณคดีโบราณเรื่องลิลิตพระลอ เขียนออกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารของโรงเรียนเทพศิรินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2476 ก่อนหน้า “แผลเก่า” ซึ่งเป็นนิยายเรื่องแรกของไม้ เมืองเดิม ผู้เป็น “จ้าวแห่งนิยายลูกทุ่ง” “เพื่อน-แพง” จึงถือเป็นหลักหมายแรก ๆ ของงานประพันธ์ไทยแนวนี้ และเป็นที่จดจำได้ดีของผู้คนในวงการวรรณกรรมในขณะนั้น


ด้วยความที่ต้นฉบับเป็นเรื่องสั้น เชิด ทรงศรี จึงได้เพิ่มเติมตัวละครและขยายความออกไปให้ได้เนื้อเรื่องและความยาวอย่างภาพยนตร์ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาชีวิตและเรื่องราวของผู้แต่งอย่างเอาจริงเอาจัง เช่นเดียวกับเมื่อคราวที่ดัดแปลง แผลเก่า รวมทั้งยังคง “สำแดงความเป็นไทยต่อโลก”  ด้วยการบรรจงสอดแทรกวิถีชีวิตชาวไทยในช่วงประมาณ พ.ศ. 2476 เอาไว้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะด้านการบันเทิงและมหรสพ ที่มีให้เห็นตั้งแต่ เพลงลำตัด เพลงเกี่ยวข้าว หนังใหญ่ หุ่นกระบอก ไปจนถึงละครร้องเรื่อง จันทร์เจ้าขา ของพรานบูรพ์ ศิลปินชั้นครูผู้ที่เขาเคารพและนำเพลงเอกหลายเพลงมาใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้


ในแง่หนึ่ง เพื่อน-แพง จึงเป็นเสมือนมหรสพที่ทำขึ้นเพื่อบูชามหรสพทั้งหลายซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจของบรรพชนไทยมาก่อนหน้า และที่สำคัญ คือการเป็นบทบันทึกถึงโศกนาฏกรรมความรักอันเรียบง่ายกินใจของหนุ่มสาวแห่งท้องทุ่งชนบท ในยุคที่ยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในอานุภาพของคำสาบาน รวมทั้งเป็นผลงานอันมีเลือดเนื้อและตอกย้ำให้เห็นถึงความรักความชื่นชมและความเข้าใจในความเป็นไทยอย่างลึกซึ้งของ เชิด ทรงศรี ผู้พิถีพิถันและละเมียดละไมไม่ต่างกับการเขียนด้วยภาษาอันวิจิตรบรรจงของ ยาขอบ ทั้งยังเป็น “จ้าวแห่งหนังไทยลูกทุ่ง” ในแบบเดียวกับที่ ไม้ เมืองเดิม โดดเด่นอยู่ในวงการวรรณกรรม