ความยาว 115 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง
ผู้เขียนบท เป็นเอก รัตนเรือง
ผู้กำกับภาพ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์
ผู้ลำดับภาพ ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล
ผู้กำกับศิลป์ ศักดิ์ศิริ จันทรังษี
ผู้จัดเครื่องแต่งกาย สมบัษร ถิระสาโรช
ผู้ออกแบบเสียง อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ
ผู้บันทึกเสียง นิพัฒน์ สำเนียงเสนาะ
ผู้แสดง ลลิตา ปัญโญภาส, สุรพล เมฆพงษ์สาธร, แบล็ค ผมทอง, อรุณ วรรณาดบดีวงศ์, ทัศนาวลัย องอาจอิทธิชัย, ศิริสิน ศิริพรสมาธิกุล, สีเทา
รางวัลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 23 ประจำปี พ.ศ. 2542 ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2542 ดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ลลิตา ปัญโญภาส, ดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม ศิริสิน ศิริพรสมาธิกุล, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2542 ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ลลิตา ปัญโญภาส, ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม แบล็ค ผมทอง, ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ศิริสิน ศิริพรสมาธิกุล, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม รางวัล Don Quixote Award, Special Mention จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน รางวัล FIPRESCI Prize จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง รางวัล Best Feature จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติบรู๊กลิน
ภาพยนตร์ที่เล่าเหตุการณ์ในภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำยุคฟองสบู่แตกหรือวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2540 ผ่านเรื่องราวของ ตุ้ม พนักงานสาวประจำบริษัทการเงินแห่งหนึ่งที่ถูกปลดออกจากงานเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ซ้ำโชคชะตายังเล่นตลกเมื่อลูกน้องของเจ้าพ่อแห่งวงการมวย นำกล่องบะหมี่สำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยเงินสดจำนวนมหาศาลมาวางไว้หน้าห้องพักหมายเลข 6 ของเธอ ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นห้องหมายเลข 9 เพราะตัวเลข “6” หน้าห้องของตุ้มบังเอิญพลิกตกกลับหัวกลายเป็น “9” เป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตที่กำลังจนตรอก ต้องตกเข้าไปอยู่ในวังวนของอาชญากรรมโดยไม่ตั้งใจ
ผลงานภาพยนตร์เรื่องที่สองของ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับโฆษณาที่ผันตัวมากำกับภาพยนตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ด้วยผลงานเรื่องแรก คือ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ซึ่งเป็นช่วงที่วงการหนังไทยกำลังดิ่งลงไม่ต่างจากสภาวะเศรษฐกิจของชาติ เป็นช่วงที่ ผลผลิตภาพยนตร์ไทยตกต่ำ ผลิตออกมาปีละประมาณ 10 กว่าเรื่องเท่านั้น ท่ามกลางความซบเซาที่เกิดขึ้นเป็นเอกได้เป็นหนึ่งในผู้กำกับหน้าใหม่ที่ก้าวเข้ามาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่วงการ เรื่องตลก 69 เป็นผลงานลำดับที่สองของเขา เป็นเอกได้พัฒนาให้เห็นถึงความจัดเจนและชั้นเชิงในการเล่าเรื่องด้วยลีลาท่าทีแบบ “ตลกร้าย” ซึ่งเขายอมรับว่าได้แรงดลใจมาจากหนังไทยปี พ.ศ. 2500 ของรัตน์ เปสตันยี เรื่อง โรงแรมนรก และแม้เหตุการณ์ในหนังจะเป็นกระแสสังคมที่กำลังเกิดขึ้นจริงในเวลานั้น แต่ด้วยสัญชาตญาณและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้กำกับ รูปแบบและเนื้อหาของหนังจึงพ้นไปจากกระแสนิยม โดยสิ่งที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การนำ ลลิตา ปัญโญภาส ดาราระดับนางเอกมารับบทบาทที่พลิกความคาดหมายอย่างสิ้นเชิง และประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมจนกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในอาชีพนักแสดงของเธอ
เรื่องตลก 69 สามารถคว้ารางวัลใหญ่ ๆ ในการประกวดภาพยนตร์ไทยประจำปี พ.ศ. 2542 ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่ชนะเลิศในทุกรายการประกวด รวมทั้งยังเดินสายได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมาอีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นผลงานแห่งยุคสมัยที่ช่วยปลุกวงการหนังไทยซึ่งกำลังสลบไสลให้ฟื้นตื่นขึ้นมาพบเจอทิศทางใหม่ ๆ ในโลกภาพยนตร์ ในขณะเดียวกัน ตัวภาพยนตร์ยังทำหน้าที่เป็นสื่อในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับอารมณ์และจิตใจของผู้คนในสังคมที่เพิ่งปั่นป่วนเซซวนจากการโดนพิษเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศเล่นงานเรื่องตลก 69 จึงเป็นเอกสารบันทึกเรื่องราว และความรู้สึกหรืออารมณ์ของสังคมไทย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตกและโรคต้มยำกุ้ง ที่มีชีวิตชีวาที่สุด ซึ่งไม่อาจรับรู้ได้จากสื่ออื่น ๆ