บางระจัน BANG-RAJAN The Legend of the Village Warriors

ความยาว 118 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง 

บริษัทสร้าง ฟิล์มบางกอก

ผู้อำนวยการสร้าง อังเคิล

ผู้กำกับ ธนิตย์ จิตนุกูล

ผู้เขียนบท ธนิตย์ จิตนุกูล

ผู้กำกับภาพ วิเชียร เรืองวิชญกุล

ผู้ลำดับภาพ สุนิตย์ อัศวินิกุล, ธานินทร์ เทียนแก้ว

ผู้ออกแบบงานสร้าง บุญถิ่น ทวยแก้ว

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ธีรพันธ์ จันทร์เจริญ

ผู้ทำดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์

บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา

ผู้แสดง วินัย ไกรบุตร, บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, จรัญ งามดี, ชุมพร เทพพิทักษ์, อรรถกร สุวรรณราช, บงกช คงมาลัย, สุนทรี ใหม่ละออ, ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล, ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง, สุรเชษฐ์ เลาะสูงเนิน, ใจ พงษ์ศักดิ์, ภาสกร อักษรสุวรรณ, นิรุต สาวสุดชาติ, สมนึก แก้ววิจิตร, กฤษณ์ สุวรรณภาพ

รางวัลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 24 ประจำปี พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ธนิตย์ จิตนุกูล, ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, ผู้แสดงประกอบชายยอดเยี่ยม ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล, กำกับภาพยอดเยี่ยม วิเชียร เรืองวิชญกุล, ออกแบบและจัดเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, แต่งหน้าและทำผมยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ยอดนิยม รางวัลพิเศษ ตุ๊กตาเงินดาวรุ่งฝ่ายหญิง บงกช คงมาลัย, ผู้กำกับคิวบู๊ยอดเยี่ยม ธนบดี เชื่อมชุนทด, พิชัย จันทิมาธร, แผงฤทธิ์ แสงชารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2544 ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม


วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดีในฐานะภาพแทนของความสมัครสมานสามัคคีอุทิศตนต่อสู้กับศัตรูที่เข้ามารุกรานประเทศชาติ และมักจะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในยามที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤตเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้คนไทย


เรื่องราวของชาวบ้านบางระจันนั้น ปรากฏบนจอภาพยนตร์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2482 ในชื่อ ค่ายบางระจัน  สร้างโดย บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง  โดยให้ “พรานบูรพ์”ผู้แต่งบทและกำกับละครเวทีชื่อดังที่สุดในยุคนั้นเป็นผู้แต่งเรื่องเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ นับเป็นภาพยนตร์ที่สนองนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลพิบูลสงครามในเวลานั้นโดยตรง และรัฐกำลังปลุกกระแสให้คนไทยหวาดกลัวภัยจากการรุกรานของต่างชาติ และพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อปกป้องชาติ เพลงสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ กลายเป็นเพลงปลุกใจประจำชาติ ซึ่งใช้กันมาจนแม้ปัจจุบัน เช่น สยามานุสติ ต้นตระกูลไทย 


ปี พ.ศ. 2508 ยุคหนังไทย 16 มม. มีผู้สร้างหนังไทยนำประวัติศาสตร์บางระจันมาสร้างแข่งกันสองราย 


รายหนึ่งคือ ค่ายบางระจัน ของพรานบูรพ์ โดยให้ท่านกำกับเหมือนเมื่อศรีกรุงสร้าง ออกฉายปี พ.ศ. 2508  อีกรายหนึ่ง เรื่อง ศึกบางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม นักประพันธ์ลือนาม ออกฉายทีหลังในปีถัดมา บางระจันจึงกลายเป็นศึกหนังไทยด้วยกันเอง


จนมาถึงปี พ.ศ. 2543 ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไปได้ไม่นานและเป็นยุคที่วงการภาพยนตร์ไทยเพิ่งฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจเช่นกัน ธนิตย์ จิตนุกูล หรือ ปื้ด ได้นำเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันมาเล่าขานอีกครั้งหนึ่งในชื่อ “บางระจัน” เป็นบางระจันในรูปแบบภาพยนตร์ไทยยุคโพสท์โมเดิร์นหรือหลังสมัยใหม่หรือหลังทันสมัย เพราะว่า ค่ายบางระจัน ก็ดี ศึกบางระจัน ก็ดี เป็นหนังไทยยุคก่อนทันสมัย หรือบางทีก็ใช้คำเปรียบเปรยเชิงดูหมิ่นว่ายุคน้ำเน่า ขนบการแสดงและกระบวนการผลิตถือหลักอย่างลิเก คือ ไม่นับถือว่าต้องสมจริง สมมุติเอาได้ เช่น การยกทัพรบกัน ก็อาจดูเหมือนฉากยกรบ พอให้เห็นว่าฟันดาบกันช้งเช้ง นักรบพม่าก็นุ่งโสร่งวิ่งไล่ฟันกับนักรบไทยที่สวมกางเกงและเสื้อยันต์ แต่บางระจันในยุค พ.ศ. 2543 เป็นการแสดงภาพยนตร์ยุคที่ถือความสมจริง หรือสร้างจินตนาการให้คนดูเชื่อว่าสมจริงจริง ๆ 


สิ่งที่น่าสังเกตคือ ธนิตย์ จิตนุกูล สร้างบางระจัน ขึ้นมาในช่วงเวลาที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล กำลังสร้างภาพยนตร์มหากาพย์วาระแห่งชาติ สุริโยไท ซึ่งใช้เวลาสร้างนานแรมปีแต่ก็ยังไม่มีกำหนดเสร็จและออกฉาย หากว่ามีหนังตัวอย่างและข่าวคราวการถ่ายทำออกมาประโคมตลอดเวลาจนเป็นกระแส ซึ่งสังคมก็รับรู้และเฝ้ารอชมอยู่ จู่ ๆ ปลายปี พ.ศ. 2543 บางระจัน ก็ออกมาฉายสู่สาธารณะในรูปลักษณ์ที่ละม้าย สุริโยไท ปรากฏว่าภาพยนตร๋ได้รับการต้อนรับจากสังคมไทยอย่างมโหฬาร จะเปรียบว่า สุริโยไท เป็นสึนามิที่ยังไม่ทันเกิด แต่ บางระจัน ชิงเป็นอาฟเตอร์ช็อคไปก่อนก็กระไรอยู่ อาจต้องเปรียบว่าเป็นบีฟอร์ช็อค 


เนื้อเรื่อง บางระจัน ฉบับปื้ด เริ่มต้นเรื่องราวในปีพุทธศักราช 2306 เมื่อพระเจ้ามังระเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงพม่า ทรงเริ่มรัชกาลด้วยการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของตน ที่กรุงศรีอยุธยาคอยหนุนหลัง ล่วงเข้าปีพุทธศักราช 2308 พม่าจึงจัดทัพเป็นสองเส้นทางใหญ่เส้นทางหนึ่งให้มังมหานรธาตีฟากทิศตะวันตก อีกเส้นทางทรงมอบให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพเข้ามาทางเหนือ ตีเรื่อยลงมาจนกระทั่งถึงบ้านระจัน ก็สะดุด ปรากฏว่าไม่สามารถตีแตกได้ เนื่องจากชาวบ้านสามัคคีกันจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับทัพพม่า ชาวบ้านแห่งหนอื่นที่ได้ยินกิตติศัพท์ก็มารวมตัวกันกับบางระจัน ร่วมต่อสู้จนได้รับชัยชนะมาหลายครั้งหลายครา แต่ต่อมา พ่อแท่น ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้นำบ้านบางระจัน ได้รับบาดเจ็บจากการรบ และด้วยสังขารที่ถดถอยลงไปตามวัย พ่อแท่นจึงตัดสินใจจะหาผู้นำคนใหม่ โดยให้นายอินกับนายเมืองไปชักชวนนายจันหนวดเขี้ยว ผู้ทำตัวอิสระกับพรรคพวกซ่องสุมกำลังซุ่มรบแบบกองโจรกับพวกพม่าจนชำนาญศึก หวังให้มาเป็นผู้นำแทนตน  และให้ไปนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ พระอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพรักของชาวบ้าน มาอยู่ในค่ายเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวบ้าน 


นายจันสืบทราบว่าพม่ากำลังขนปืนใหญ่เดินทางมาหวังเผด็จศึกบางระจันให้ได้ จึงสั่งการให้มีการสร้างค่ายเป็นปราการรับศึก  จัดเวรยามให้แข็งแกร่ง และส่งนายอินไปเจรจาขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา แต่นายทองเหม็นนักรบขี้เมาที่นิสัยมุทะลุเห็นว่าควรจะบุกไปทำลายทัพของพม่าเสียก่อนมากกว่าจะมาคอยตั้งรับ  ทำให้นายจันและนายทองเหม็นต่างไม่ถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบ พ่อแท่นต้องห้ามปรามและให้ดำเนินการตามกลศึกของนายจัน  แต่เมื่อนายอินกลับมาพร้อมข่าวร้ายว่าทางกรุงศรีฯ ปฏิเสธที่จะให้ปืนใหญ่ เพราะกลัวว่าค่ายบางระจันจะแตกพ่ายและถูกทัพพม่ายึดปืนไป  ชาวบ้านบางระจันจึงต้องตัดสินใจยอมตายรบกับพม่าอย่างโดดเดี่ยว  มิหนำซ้ำยังต้องมามีปัญหาภายในกันอีก เพราะในคืนหนึ่ง นายอินซึ่งเห็นต่างจากแผนของนายจัน ได้ละทิ้งเวรยามของตน หมายไปเด็ดหัวแม่ทัพพม่าที่กำลังตั้งค่าย โดยหารู้ไม่ว่าในเวลาเดียวกันนั้นกองทหารพม่าได้พรางตัวแทรกซึมเข้ามาถึงในค่ายบางระจัน และด้วยกำลังน้อยนิดที่นายอินเตรียมไปปราบพม่า นอกจากจะไม่สามารถทำอะไรทัพพม่าได้แล้ว เมื่อกลับมาถึงก็ต้องพบกับค่ายของตนในสภาพวอดวาย ชาวบ้านหลายคนล้มตาย หลายคนเตรียมอพยพออกจากหมู่บ้าน นายอินและนายทองเหม็นจึงได้สำนึก 


ไม่นานนัก พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งเห็นในความกล้าหาญของชาวบ้านบางระจัน ก็ได้เดินทางมาช่วยหล่อปืนใหญ่ ชาวบ้านมีกำลังใจขึ้นมาอีกครั้ง ทว่าปืนใหญ่ทั้งสองกระบอกที่หล่อกลับร้าว มิหนำซ้ำ กองทัพพม่าก็มาถึงพร้อมแม่ทัพคนใหม่ที่เก่งกล้าคือ สุกี้  และคราวนี้ยกกำลังกันมาอย่างมหาศาลและโหดกระหายกว่าครั้งก่อน ๆ ชาวบ้านและนักรบบางระจันจึงรวมพลกันครั้งสุดท้ายเพื่อจะประจันบานกับทัพพม่า แม้รู้ว่าศึกครั้งนี้จะนำไปสู่จุดจบของพวกเขาทั้งหมด 


แม้ตัวหนังจะไม่ได้เป็นการสำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หากแต่เพิ่มอรรถรสให้ตัวละครนำซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาทั้ง 11 คนให้มีมิติมากยิ่งขึ้น โดยการผูกปมตัวละครว่าอะไรเป็นแรงขับที่ทำให้ชาวบ้านธรรมดาต้องลุกขึ้นมาหยิบดาบเข้าฟาดฟันศัตรู โดยเฉพาะการคัดเลือกนักแสดงให้ละม้ายคล้ายกับตัวละครนั้น ๆ มากที่สุด โดยอิงจากอนุสาวรีย์วีระชนค่ายบางระจัน นักแสดงส่วนใหญ่เป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่ไม่เคยแสดงภาพยนตร์มาก่อนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวละคร แล้วยังได้พระเอกร้อยล้าน วินัย ไกรบุตร ซึ่งกำลังโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” มาสวมบท “อิน” เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์พระเอกย้อนยุคให้กับวินัย ไกรบุตร นอกจากนี้ยังแจ้งเกิดให้นักแสดงหน้าใหม่อย่าง ตั๊ก บงกช คงมาลัย และเชื่อว่าในขณะนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก บุญเลิศ ควายเขางามที่แสดงเป็นควายคู่บุญของนายจันหนวดเขี้ยวถึงขนาดตกเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ หลังจากออกฉาย บางระจัน ทำลายสถิติรายได้สูงสุดในขณะนั้นไปถึง 150 ล้านบาท อีกทั้งยังกวาดรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหลายรางวัล ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในประเทศ บางระจันยังได้รับเกียรติเป็นภาพยนตร์เปิดเทศกาลภาพยนตร์เดอวิลล์ ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย 


บางระจัน ฉบับปื้ด จึงเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกและสะท้อนหรืออาจอธิบายอารมณ์แห่งกระแสสำนึกของสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ยังเป็นหลักหมายอันหนึ่งในการเปลี่ยนภาพจำของการแสดงฉากสงครามไทยรบพม่าซึ่งต่างจากที่เคยมีมาตลอดก่อนหน้านี้