ความยาว 104 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง
บริษัทสร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, บาแรมยู
ผู้อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ผู้ควบคุมการสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
ผู้ดำเนินงานสร้าง สมศักดิ์ จิ๋วสุวรรณ
ผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว
ผู้แต่งเรื่อง พันนา ฤทธิไกร, ปรัชญา ปิ่นแก้ว
ผู้เขียนบท ศุภชัย สิทธิอำพรพรรณ
ผู้กำกับภาพ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ
ผู้ลำดับภาพ ธนัติ สุนสิน, ฐานพัฒน์ ทวีสุข
ผู้ออกแบบงานสร้าง อรรคเดช แก้วโคตร
ผู้กำกับการต่อสู้ พันนา ฤทธิไกร
ผู้ออกแบบฉากต่อสู้ พันนา ฤทธิไกร, พนม ยีรัมย์
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย วรธน กฤษณะกลิน
ดนตรีประกอบ อะตอมมิกซ์ คลับบิ้ง สตูดิโอ
ออกแบบเสียงและบันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ผู้แสดง เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, พนม ยีรัมย์, ภุมวารี ยอดกมล, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ชุมพร เทพพิทักษ์, เชษฐวุฒิ วัชรคุณ, วรรณกิตย์ ศิริพุฒ, รุ่งระวี บริจินดากุล, ฉัฏฐพงศ์ พันธนะอังกูร, ณัฐพล อัศวโภคิน, พรพิมล ชูขันทอง
รางวัล รางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม KUNGFUCINEMA AWARD นักแสดงนำฝ่ายชายที่เน้นศิลปะการต่อสู้ยอดเยี่ยม, ออกแบบฉากและศิลปะการต่อสู้ยอดเยี่ยม พนม ยีรัมย์ รางวัลทูตวัฒนธรรมด้านภาพยนตร์ครั้งที่ 1
สำหรับคนดูภาพยนตร์ไทย คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำประชาสัมพันธ์ของภาพยนตร์ที่ว่า “ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน” ของภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ซึ่งต่อมากลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นจุดขายสำคัญของภาพยนตร์แนวนี้ รวมไปถึงนักแสดงนำ พนม ยีรัมย์ หรือ จา พนม ซึ่งได้กลายเป็นนักแสดงบู๊ของไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอย่างรวดเร็ว
ภาพยนตร์เล่าเรื่องของ บุญทิ้ง หนุ่มบ้านหนองประดู่ ที่ออกตามหา เศียรองค์บาก พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพบูชาของหมู่บ้านซึ่งถูกขโมยตัดเศียรไป บุญทิ้งอาสาออกตามหา เศียรองค์บาก เพื่อนำกลับมาให้ทันงานพิธีอุปสมบทหมู่ของชาวบ้านในอีก 7 วันข้างหน้า โดยมุ่งไปตามที่กรุงเทพฯ ซึ่งเขาได้เจอ แหล่ หรือ ยอร์จ ลูกชายผู้ใหญ่บ้านที่ทิ้งท้องนาและกลิ่นโคลนสาปควายบ้านนอก มาร่วมทีมกับ หมวยเล็ก ทำตัวเป็นพวก 18 มงกุฎ หากินทางต้มตุ๋นชาวบ้านเพื่อเลี้ยงปากท้อง ทีแรกบุญทิ้งเองตกเป็นเหยื่อแหล่กับหมวยเล็กเอาง่าย ๆ เพราะเป็นคนซื่อ แต่ด้วยความที่เป็นคนดีและต่อมาได้บังเอิญมาช่วยเหลือชีวิตทั้งสองไว้บุญทิ้งจึงกลับได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสองในการร่วมมือกันช่วยตามล่าหาองค์บาก ซึ่งเหตุการณ์บานปลายเข้าไปสู่การต่อสู้กับเจ้าพ่ออิทธิพลมืด แทบจะเอาชีวิตไม่รอด เดชะบุญ บุญทิ้งได้ต่อสู้อย่างถวายชีวิตด้วยศิลปะมวยไทยโบราณ จนที่สุดสามารถปราบเหล่าร้ายและนำองค์บากกลับคืนสู่หมู่บ้านได้ทันพิธีอุปสมบทหมู่ซึ่งชาวบ้านจะจัดขึ้น
หากจะวิเคราะห์ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก น่าจะเกิดจากการผสมผสานขององค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นทักษะความสามารถส่วนตัวของ จา พนม และความพร้อมของทีมงานนักแสดงฉากต่อสู้ จากการออกแบบและการกำกับคิวบู๊ของ พันนา ฤทธิไกร ที่บ่มฝีมือมาจากภาพยนตร์บู๊เกรดบีมาอย่างโชกโชนจนพัฒนาถึงขีดสุด นอกจากนี้ยังผสมผสานไปด้วยอารมณ์ขันที่จัดวางให้เกิดขึ้นอย่างถูกจังหวะและลงตัวของเพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก นักแสดงตลกที่มีชื่อเสียงโดดเด่นจากรายการโทรทัศน์ องค์ประกอบสุดท้ายคือ ความสามารถของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งพยายามค้นหารูปแบบใหม่และการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ มาใส่ในภาพยนตร์ไทย การผสมผสานกันทำให้เกิดภาพยนตร์ประเภทศิลปะการต่อสู้แบบไทย ที่มีเอกลักษณ์และเป็นเอกภาพ มีฉากแอ็คชั่นที่น่าตื่นตาตื่นใจตลอดทั้งเรื่อง
ภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งปรากฏว่า องค์บาก เป็นภาพยนตร์ไทยเพียงไม่กี่เรื่องที่ได้ออกฉายในวงกว้างในตลาดต่างประเทศ กล่าวได้ว่าสามารถสร้างปรากฏการณ์หนังไทยในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง และ จา พนม ได้กลายเป็นขวัญใจของผู้ชมทั่วโลกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ในขณะที่กระแสศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยก็ขึ้นสูงจนติดลมบนระดับโลกด้วยความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของ องค์บาก เป็นไปตามกฎธรรมดาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่จะต้องมีการสร้างภาคต่อหรือภาคสอง ทีมงานนี้จึงสร้าง ต้มยำกุ้ง ออกมา ซึ่งแม้จะไม่ใช่ภาคต่อโดยตรง แต่ก็เป็นการทำภาคสองหรืออาฟเตอร์ช็อคของ องค์บาก ซึ่งดูเหมือนพยายามจะทำให้มีแรงสั่นสะเทือนมากกว่าเดิม เน้นทักษะความสามารถของผู้แสดงมากขึ้น การกำกับคิวบู๊แบบเสี่ยงชีวิตมากขึ้น และการใช้ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติมากขึ้น ปรากฏว่า ต้มยำกุ้ง ประสบความสำเร็จทางรายได้ในประเทศและต่างประเทศมากกว่า องค์บาก แต่น่าสังเกตว่าแรงสั่นสะเทือนทั่วไปกลับน้อยกว่า ในแง่คำวิจารณ์รวมไปถึงความแปลกใหม่ก็ไม่สามารถเทียบชั้นกับองค์บากได้
มีแต่ จา พนม ที่ยังคงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง หลุดออกมาจากภาพยนตร์ จากหนึ่งในนักแสดงแทนในฉากแอ็คชั่นของทีมพันนา ก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงบทบู๊ที่ได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติ ในนาม โทนี่ จา ฝีมือการแสดงฉากต่อสู้ของเขาถูกนำไปเปรียบเทียบกับนักแสดงฉากบู๊ที่มีชื่อเสียงอย่างแจ๊กกี้ ชาน เจ็ต ลี และ บรู๊ซ ลี ซึ่งต่อมา เขาก็ยังได้มีโอกาสแสดงในภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องดังอีกหลายเรื่อง
ส่วน หม่ำ จ๊กมก หลังจาก องค์บาก ยังได้ก้าวขึ้นไปเป็นนักแสดงตลกชั้นนำของภาพยนตร์ไทย รวมไปถึงเขายังได้รับโอกาสสานฝันได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวตลกชวนหัวอีกหลาย ๆ เรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
องค์บาก จึงเป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างปรากฏการณ์สำคัญไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์โลก เป็นความตื่นตาตื่นใจแฟนภาพยนตร์ทั่วโลกในช่วงเวลาสองสามปีที่หนังออกฉายทั่วโลก และจะประทับอยู่ในความทรงจำตลอดไป