ความยาว 45 นาที
ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ
เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับเรือดำน้ำของราชนาวีไทย ซึ่งรัฐบาลไทยสั่งต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2479 จำนวน 4 ลำ คือ วิรุณ มัจฉาณุ สินสมุทร และ พลายชุมพล หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รับมอบภาพยนตร์นี้ซึ่งอยู่ในรูปม้วนเทปวีดิทัศน์ซึ่งถ่ายทอดจากฟิล์มภาพยนตร์มาแล้ว จากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตั้งแต่เมื่อปี 2557 แต่เมื่อพิจารณาจากเรื่องราวในภาพยนตร์แล้ว พบว่าประกอบด้วยภาพยนตร์ซึ่งสร้างหรือผลิตต่างวาระกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องของเรือดำน้ำไทยด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยภาพยนตร์ 3 เรื่องคือ
1.) รั้วใหม่ทางทะเล เรือดำน้ำ แห่งราชนาวีสยาม (30 นาที)
เข้าใจในชั้นต้นนี้ว่า เป็นภาพยนตร์ซึ่งทางราชนาวีไทยจ้างบริษัทถ่ายภาพยนตร์ที่เมืองโกเบ คือ บริษัท นาคาจิมา เอกิกา เซอิซากิโซ เป็นผู้ถ่ายทำ บันทึกการก่อสร้างเรือดำน้ำไทยลำแรก คือ วิรุณ โดยบันทึกให้เห็นการก่อสร้างทุกขั้นตอนสำคัญตามลำดับ ตั้งแต่พิธีวางกระดูกงู เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2479 แล้วการก่อสร้างก็ค่อย ๆ ดำเนินไป เห็นความคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างลำเรือขึ้นตามลำดับวันเวลาของปฏิทินที่พลิกผ่านไป เห็นขั้นตอนสำคัญเช่น การประกอบท่อตอร์ปิโด การประกอบใบจักร ทดลองกำลังอัดน้ำ พิธีลงน้ำ การประกอบเครื่องจักร การดำ การเอาหม้อเก็บไฟฟ้าลงเรือ การบรรจุตอร์ปิโด การทดลองยิงตอร์ปิโด
นอกจากการบันทึกขั้นตอนการก่อสร้างเรือดำน้ำแล้ว ภาพยนตร์ยังบันทึกให้เห็นภาพและบรรยากาศของเมืองโกเบ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เช่น เทศกาลแห่รถบุปผาชาติ แต่อย่างไรก็ดีภาพยนตร์นี้ราชนาวีไทยทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนไทยได้ชม เป็นโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นความจำเป็นในการที่สยามต้องมีเรือดำน้ำ ในช่วงท้ายภาพยนตร์จึงแสดงข้อความตัวอักษรว่า
เรือดำน้ำพร้อมด้วยลูกเรืออันไม่กลัวตาย อาจยังความพินาศให้กองทัพเรือสัตรูที่เข้มแข็งได้ ถึงแม้กองทัพเรือเราจะเล็กเพียงใดก็ตาม ถ้ามีเรือดำน้ำแล้ว ย่อมเป็นที่เกรงขามต่อหมู่ปัจจามิตรทั่วไป ฉนั้นเรือดำน้ำจึงเป็นของจำเป็นยิ่ง !
จงดู ! กองทัพเรืออันมหึมาของจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีกำเนิดรุ่นราวคราวเดียวกับเราในภาคตวันออกนี้ แล้วเปรียบเทียบกับกองทัพเรือแห่งสยามดูบ้าง
จงคุ้มครอง จงป้องกัน จงร่วมมือร่วมใจกันเถิด เพื่อประกันความเป็นอิสรภาพแห่งบ้านเกิดเมืองนอนของเรา พร้อมทั้งเกียรติยศและความรุ่งเรืองของชาติให้อยู่ชั่วกัลปาวสาน
2.) กิจวัตรของทหารเรือดำน้ำไทยในญี่ปุ่น (10 นาที)
เป็นภาพยนตร์ซึ่งระบุว่าอภินันทนาการจาก มิตซุบิซีจูโคเกียว คาบูชิกิ ไคชา และถ่ายทำโดย บริษัทภาพยนตร์ พี. ซี. แอล. กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ยาว 10 นาที
ภาพยนตร์แสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคณะนักเรียนทหารเรือดำน้ำไทย ที่ต้องไปเรียนทฤษฎีและฝึกการเป็นลูกเรือดำน้ำเป็นเวลาหลายเดือน พร้อม ๆ กับที่เรือดำน้ำไทยกำลังสร้าง โดยคณะนักเรียนเรือดำน้ำไทยได้รับการจัดให้พักอาศัยและเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมฟูนาบาซี จังหวัดฟูนาบาซี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านนอกแห่งหนึ่งในอ่าวโตเกียว ห่างไปทางตะวันออกของโตเกียวประมาณ 15 ไมล์ ภาพยนตร์บรรยายว่า พลเมืองฟูนาบาซีต้อนรับทหารเรือไทยด้วยไมตรีจิตต์ มีการเชิญเลี้ยง ชมสถานที่ และการรื่นเริงอื่น ๆ ต่างแสดงมิตรภาพต่อกัน ซึ่งความเอื้อเฟื้ออันนี้ จะฝังอยู่ในหัวใจมิรู้ลืม
วันหนึ่งในเดือนกันยายน 2479 ท่านนายพลเรือโทชิมาดา รองเสนาธิการทหารเรือ พร้อมด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ได้มาเยี่ยมและดูการศึกษา ในห้องเรียนมีการสอนภาษาญี่ปุ่นโดยคณะอาจารย์แห่งโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแก่นักเรียนไทยในญี่ปุ่น การหัดกายบริหารในสนาม นักเรียนทหารเรือดำน้ำไทยแสดงการเตะตะกร้อวง การเรียนยูโด เคนโด และแสดงมวยไทย
คณะนักเรียนทหารเรือไทย ร้องเพลงชาติญี่ปุ่นและเพลงชาติสยาม ท่านนายพลเรือโทชิมาดาให้โอวาท ท่านนายนาวาเอกยัตชุชิโร ผู้ปกครองทหารเรือดำน้ำไทยในญี่ปุ่นให้โอวาท ท่านนายพลเรือโทชิมาดาและคณะลากลับ
3.)(พิธีปล่อยเรืออันรุ่งเรืองสดใส) (5 นาที)
เป็นภาพยนตร์ข่าวซึ่งผลิตโดยสำนักข่าวของญี่ปุ่น แสดงกิจวัตรประจำวันของเรือดำน้ำไทย รล. สินสมุทร ซึ่งเป็นเรือดำน้ำหมายเลข 3 วางกระดูกงูเมื่อ 1 ตุลาคม 2479 ทำพิธีปล่อยลงน้ำ 14 พฤษภาคม 2480 เรือเอก สนอง ธนาคม เป็นผู้บังคับการเรือ มีลูกเรือรวม 33 นาย เป็นนายทหาร 5 นาย พันจ่า 28 นาย เรือติดเขี้ยวเล็บ ตอร์ปิโด 4 ท่อ ปืนใหญ่ 8 มม. 1 กระบอก ปืนกลต่อสู้อากาศยาน 7.7 มม. 1 กระบอก ภาพยนตร์แสดงให้เห็นการปฏิบัติภารกิจประจำวันบนเรือของลูกเรือ เริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดพื้นดาดฟ้าเรือ การทำความสะอาดอาวุธปืน การออกกำลังกายท่าบริหารร่างกายของลูกเรือ การพักผ่อน และมีเหตุการณ์การมาเยี่ยมเรือสินสมุทรของคณะทหารเรือญี่ปุ่น ซึ่งทหารเรือไทยได้แสดงการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ให้ชม ในช่วงท้ายได้เห็นเรือดำน้ำไทยอีกสามลำกำลังแล่นอยู่ท่ามกลางกองเรือรบอื่น ๆ ในน่านน้ำญี่ปุ่น