[พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดชแข่งรถ ณ ถนนราชดำเนิน]

ความยาว 2.16 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ

สร้าง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์



ช่วงปลายทศวรรษของปี 2473 (ค.ศ. 1930) คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีเจ้าชายองค์หนึ่งจากสยามประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ จากทวีปเอเชีย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช  ได้เข้าร่วมการแข่งขันรถยนต์นานาชาติทั่วทวีปยุโรป และสามารถกวาดรางวัลจากการแข่งขันได้มากมายหลายแห่งหลายรางวัล  จนคว้าตำแหน่ง  “ดาราทอง” ของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษมาครองได้ถึง 3 ปีซ้อน คือในปี  2479 ถึง 2481 (ค.ศ. 1936-1938)  ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ได้คะแนนสะสมสูงสุดในแต่ละปีของสโมสรนักแข่งรถของอังกฤษ และยังได้รับการบันทึกพระนามในหอเกียรติยศของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษด้วย โดยทรงชนะเป็นอันดับที่หนึ่ง 4 ครั้ง จากการชิงถ้วยเจ้าชายแรนีแยแห่งโมนาโก ชิงรางวัลระหว่างชาติที่บรูคแลนด์ส ชิงรางวัลใหญ่ของปีการ์ดี และชิงรางวัลของอาลบี ชนะที่สอง 2 ครั้ง จากการแข่งที่เกาะแห่งเมน และการแข่งขันที่กรุงดับลิน ชนะที่สาม 2 ครั้งจากการแข่งที่ภูเขาไอเฟิล และการชิงแชมเปี้ยนภูเขาที่บรูคแลนด์ส จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของคนไทยและต่างชาติ


หลังจากหมดฤดูกาลแข่งขันในปี 2480 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทรงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพระองค์เจ้าพีระฯ ได้มีพระประสงค์จะเดินทางกลับมาเยี่ยมเมืองไทยพร้อมกันทั้งสองพระองค์ เพื่อเตรียมจัดการแข่งขันรถนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในขณะนั้น โดยให้ชื่อว่า “การแข่งขันรถยนต์ระหว่างชาติ รางวัลใหญ่กรุงเทพ ฯ”  (Bangkok Grand Prix)  เป็นการแข่งรถขนาด 1500 ซีซี  สถานที่บริเวณรอบสนามหลวงและรอบพระบรมมหาราชวัง  รวมระยะทางรอบละ 2 ไมล์ จำนวน 60 รอบ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 120 ไมล์ โดยได้มีการเชิญนักแข่งรถที่มีชื่อเสียงในยุโรปมาร่วมแข่งขันครั้งนี้  12 คน รวมพระองค์เจ้าพีระฯด้วย มีการออกแบบจัดพิมพ์โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การแข่งขันออกเผยแพร่อย่างงดงาม   กำหนดจะจัดแข่งขันในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2482 เพื่อประโคมการแข่งขันนี้ พระองค์เจ้าจุล ฯ ทรงนำรถอี.อาร์.เอ. “รอมิวลุส” ซึ่งเป็นรถแข่งคันที่พระองค์พีระ ฯ ทรงขับนำชัยชนะมากมาย มาจัดแสดงให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชม และเพื่อประโคมการแข่งรถ “รางวัลใหญ่กรุงเทพ ฯ” จึงมีการจัดประลองความเร็วเป็นตัวอย่างขึ้น โดยกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ปิดถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลา จนถึงลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นส่วนของถนนที่จะใช้สำหรับการแข่งขันจริงในปี 2482 โดยจัดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2480   วันนั้น พระองค์เจ้าพีระฯ หรือ “พ.พีระ เจ้าดาราทอง” วีรบุรุษของชาวไทย ทรงขับรถรอมิวลุสโลดแล่นผ่านถนนราชดำเนิน ประลองความเร็วกับรถอื่น ๆ ให้ประชาชนชมเป็นขวัญตา  ท่ามกลางชาวไทยนับหมื่นที่มารอชมอย่างแน่นขนัด สร้างความตื่นตาตื่นใจและเร้าใจอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นี้อย่างยิ่ง ถึงแม้จะเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยเมื่อรถแข่งคันหนึ่งวิ่งหลุดโค้งเข้าสู่กลุ่มคนดูริมถนน แต่ไม่เกิดการเสียหายร้ายแรงอะไร  หลังจากวันนั้นทุกคนก็รอคอบวันที่การแข่งขันจริงจะมาถึง   แต่แล้วได้เกิดสงครามใหญ่ขึ้นในยุโรปในเดือนกันยายนปี 2482  และที่สุดได้ขยายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง  ทำให้การแข่งรถ “รางวัลใหญ่กรุงเทพ”  ไม่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับการแข่งขันรถยนต์นานาชาติอื่น ๆ อีกหลายแห่ง   ต่อมาจึงมีการขนานนามการแข่งขันที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงนี้ว่า The race that was never run  (การแข่งขันที่ไม่เคยเกิดขึ้น)  อย่างไรก็ดีปี 2531 คนไทยในวงการแข่งรถกลุ่มหนึ่งและรัฐบาลในเวลานั้น ได้ร่วมมือกันจัดการประลองความเร็วในตำนานนี้ขึ้น โดยนำรถรอมิวลุสและรถแข่งโบราณร่วมสมัยกับรอมิวลุสมาประลองความเร็ว ตามโครงการที่จะจัดเมื่อปี 2482 โดยนำมาจัดขึ้นในวันที่ 9 มกราคม 2531 วันนั้น ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาของพระองค์เจ้าจุล ฯ เป็นผู้ขับรอมิวลุสแทน พ. พีระ


ภาพยนตร์ม้วนนี้ ซึ่งถ่ายโดยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงนับเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านบันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในความทรงจำของชาติ และเป็นเหตุการณ์ตำนานในประวัติศาสตร์การแข่งรถของไทยและของโลก