เทพธิดาโรงแรม

ความยาว                    90.16 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง พร้อมมิตรภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง “สุโรจนา”

ผู้กำกับ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ประพันธ์ ณรงค์ จันทร์เรือง

ผู้เขียนบท  ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้กำกับภาพ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ลำดับภาพ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้กำกับศิลป์ กำชัย ประภารัตน์

ผู้ทำดนตรีประกอบ อาดิง ดีล่า

ผู้บันทึกเสียง นิวัฒน์ สำเนียงเสนาะ

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย “ดารินดา”

ผู้แสดง วิยะดา อุมารินทร์, สรพงศ์ ชาตรี, สมภพ เบญจาทิกุล, คธา อภัยวงศ์, สุรศักดิ์ วรสิทธิกร, จริยา ศิริพิศ, สายพิณ จินดานุช, สิริโชค ชนะชนม์, ประภา สุวรรณฤทธิ์, น้ำผึ้ง ภุมรินทร์, ศรัทธา จินดาพร, ลำเจียก ขจรไกล, นที โรยริน, ชินดิศ บุนนาค, ธีระ เดชดำรงค์, กิตติ ดัสกร, เพิ่ม พรหมศาสตร์, เทียนชัย สมยาประเสริฐ, เพ็ญพิม จิตธร, ชวนพิศ เผ่าศิลปิน, ทิวา บุญบรรเทิง, อธิญา อยู่คงพันธ์, ไพริน จินดานุช, สมนึก ชมบริสุทธิ์, ลลิตา ณ เชียงใหม่, กรุง บางกอก, เรวัต สุริยะวงศ์, คำมูล ณ เชียงใหม่, ขวัญเรือน ตระกูลพุ่ม, เดือนแก้ว ตระกูลพุ่ม, บุญเลิศ ตระกูลพุ่ม, ถนอม นวลอนันต์, ณรงค์ จันทร์เรือง, แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี, สปัน เธียรประสิทธิ์, ชัยศรี เอี่ยมบำรุง, สุภาพ คลี่ขจาย

รางวัล - 



หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทหารเข้าปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ออกมารวมตัวกันประท้วงรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร และนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารและถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยจนสำเร็จ บรรยากาศของสังคมไทยดูเหมือนจะคลี่คลาย และเป็นช่วงเวลาที่สิทธิเสรีภาพเริ่มเบ่งบาน หลังจากถูกกดทับจากระบบเผด็จการทางทหารมาหลายทศวรรษ


เทพธิดาโรงแรม ผลงานการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ออกฉายในปี 2517 นอกจากจะมีความแตกต่างทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอจากภาพยนตร์ไทยในยุคเดียวกัน หากพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้ควบคู่ไปกับบริบทสังคมและการเมือง ในช่วงนั้น ก็จะพบว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายได้ถูกยุคสมัยอย่างยิ่ง


เทพธิดาโรงแรม เล่าเรื่องของมาลี หญิงสาวจากเมืองเหนือที่ถูกชายหนุ่มล่อลวงมาขายตัวในกรุงเทพ ตอนแรกเธอก็ปฏิเสธและขัดขืน แต่แล้วเธอก็เรียนรู้ว่ายิ่งขัดขืนเธอก็ยิ่งถูกซ้อมอย่างทารุณ เธอจึงจำใจรับสภาพการเป็น “เทพธิดาโรงแรม” มาลีประกอบอาชีพขายตัว และยินดีกับคำกล่าวชมของชายหนุ่มที่จริงใจกับเธอว่า “มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก” ส่งเงินไปให้ที่บ้านเธอให้สร้างบ้านใหม่ แต่แล้วชีวิตเธอก็พลิกพันไปเมื่อชายหนุ่มที่ล่อลวงเธอมา หรือ แมงดาของเธอ ถูกยิงเสียชีวิต ชีวิตเธอจึงต้องระเห็จออกจากโรงแรม และเริ่มตกต่ำลง และนี่ทำให้หญิงสาวได้รับบทเรียนสำคัญของชีวิตที่ผลักดันให้เธอเลิกอาชีพโสเภณีและเลิกพึ่งพิงเพศชายเป็นสำคัญ


หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้ใช้การตัดต่อชักชวนให้คนดูตั้งคำถามกับชะตาชีวิตของตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าการตัดต่อภาพมาลีกำลังขายตัวให้ลูกค้าสลับกับครอบครัวเธอกำลังทำบ้านใหม่ จนไปถึงการตัดสลับภาพมาลีกำลังถูกซ้อม กับภาพประชาชนรวมตัวประท้วง เป็นต้น


ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ น่าจะแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิสรภาพของมาลี ที่สิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายของเธอถูกกดทับมาตลอดทั้งเรื่อง แต่แรกเริ่มเธอปฏิเสธการกดทับ จึงถูกตอบโต้ด้วยกำลัง และเมื่อเธอก็ถูกทำให้ต้องยอมรับสภาพการกดทับ เพราะปัจจัยการอยู่รอดทางเศรษฐกิจ 


ถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะจบลงด้วยภาพแห่งความหวังของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ในสังคม หลังจากประสบชะตากรรมอันเลวร้าย แต่ก็น่าสนใจว่า ชีวิตของมาลีหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ในเมื่อหลังจากเหตุการณ์การเมืองของไทยหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทำให้สิทธิเสรีภาพที่ได้รับหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถูกทำลายไป “เทพธิดาโรงแรม” เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกวิถีชีวิตของหญิงโสเภณีคนหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของหญิงโสเภณีจำนวนมากในสังคมไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย