คนกลางแดด

ความยาว 116 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง โมชั่นอาร์ตฟิล์มโปรดักชั่น

ผู้กำกับ คิด สุวรรณศร

ผู้เขียนบท คิด สุวรรณศร

ผู้กำกับภาพ พรนิติ วิรยศิริ

ผู้ลำดับภาพ สุวรรณ

ผู้ทำดนตรีประกอบ ปรัชญ์ สุวรรณศร

ผู้แสดงรณ ฤทธิชัย, เบญจวรรณ บุญญกาศ, นพดล ดวงพร, ด.ญ. ศศิธร พันธุ์รัตน์, แม้นมาศ เรืองอนันต์, มนัส บุณยเกียรติ, ต่อลาภ กำพุศิริ, ชินดิศ บุนนาค, สมศักดิ์ ชัยสงคราม, ขวัญ สุวรรณะ, ตาโป๋ เป่าปี่, วิทย์ วรนารถ, เดช เดชดำเกิง, ศักดิ์ชัย ปิยะวรรณ, ด.ญ. นฤมล ปลื้มจิตติกุล, ด.ช. วสันต์ โกศลจิตร, ด.ช. สมจิต มะตัง, ด.ช. สมนึก มะตัง, ด.ญ.สุภาพร มะตัง, ด.ช. สมคิด มะตัง, จรัสศรี กาญจนมาศ, จงรักษ์ สุริยจันทราทอง, อรุณ ชูรัตน์, บุรินทร์ ชัยยะ


ภาพยนตร์โดย คิด สุวรรณศร ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่องแรกที่กำกับร่วมกับ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ คือ ซูเปอร์ลูกทุ่ง (ออกฉายเมื่อปี 2521) คนกลางแดด เป็นผลงานเรื่องที่สองของคิด มีแรงดลใจสร้างเพื่อโอกาสที่กรุงเทพ ฯ จะมีอายุ 200 ปี ในปี 2525 เขาต้องการแสดงภาพด้านมืดของเมืองหลวงของประเทศ ที่มีความหมายว่าเมืองของเทวดา เมืองฟ้าเมืองสวรรค์


คนกลางแดด เป็นภาพของกรุงเทพ ฯ ปี 2522 เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมีประชากรราว 5 ล้านคน แต่ภาพยนตร์เลือกที่จะนำเสนอภาพชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ทำมาหากินอยู่บนท้องถนน ที่เรียกว่า คนจนเมือง ตัวเอกของเรื่อง คือ เปลว อดีตคนคุกที่มายึดอาชีพคนขับรถกะบะส่งน้ำแข็งตามร้านเล็กร้านน้อยริมถนนกับหุ้นส่วนคือ น้าเริงซึ่งเป็นนักเล่นการพนันด้วย  นางเอกคือเด็กสาวขาเป๋อาชีพขายพวงมาลัยริมถนนและสี่แยกไฟแดง ซึ่งฝันจะมีร้านเสริมสวย  ตัวประกอบอื่น ๆ ล้วนมีอาชีพอยู่ในแวดวงคนจนเมือง คือ เด็ก ๆ ที่ขายพวงมาลัยหรือหนังสือพิมพ์ริมถนน พ่อค้าแม่ขายของเล็กน้อยตามข้างถนนประเภทหาบเร่แผงลอย หญิงบริการ  ยาม  และพวกมิจฉาชีพที่ค้ายาและเสพยา และที่พำนักของพวกเขาคือชุมชนที่เรียกว่า สลัม หรือแหล่งเสื่อมโทรม ตัวละครเหล่านี้ล้วนรู้จักกันและเป็นเพื่อนร่วมชุมชนสลัม


เปลว พำนักอยู่ในสลัมนี้ กับน้าชายซึ่งสติไม่สมประกอบ คิดว่าตัวเองเป็นพระอภัยมณี แต่งตัวชุดลิเกเป็นพระอภัยเดินเร่ขายปี่ของเล่น   เปลวเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ ที่เรียนหนังสือและขายของตามถนน โดยเขาให้เด็ก ๆ เหล่านี้โดยสารรถไปส่งโรงเรียนหรือส่งข้างถนนที่เป็นทำเลขายของทุกวัน บรรดาตัวละครเหล่านี้ มีตัวสำคัญตัวหนึ่ง คือ เด็กหญิงแมว ซึ่งเรียนหนังสือชั้นประถมและหารายได้พิเศษด้วยการขายพวงมาลัย แมวมีโรคประจำตัวคือโรคหืด  วันหนึ่งครูประจำชั้น ให้นักเรียนเขียนเรียงความ หัวข้อเรื่อง กรุงเทพ เพราะกรุงเทพ ฯ  กำลังจะมีอายุครบ 200 ปีในอีกไม่นานนี้  แมวตั้งใจเขียนเรียงความนี้


หนังใช้ตัวละครทั้งหลายแสดงวิถีชีวิตของพวกเขา ซึ่งเป็นตัวแทนของคนจนเมือง  และแสดงให้เห็นปัญหาในวิถีชีวิตซึ่งโยงใยเป็นปัญหาชุมชนและสังคม  แม่ของเป๋นอกจากร้อยพวงมาลัยให้ลูกขายแล้ว ก็ไม่ทำอะไรแต่หวังรวยทางลัดด้วยการเสี่ยงโชค ติดการพนัน ตั้งแต่การแอบเล่นไพ่พนัน เล่นและขายหวยเถื่อน แล้วถูกลุงชักนำไปเล่นพนันม้าแข่ง พนันมวย เมื่อเสียพนันไม่มีเงินส่งและใช้หนี้จากการรับขายหวยเถื่อนซึ่งเป็นกิจการของพวกนักธุรกิจประเภทผู้มีอิทธิพลเถื่อน ทำบริษัทเงินทุนบังหน้า แต่เบื้องหลังทำธุรกิจผิดกฏหมายสารพัด เช่น ค้ายาเสพติด เงินกู้นอกระบบ หวยเถื่อน การพนันเถื่อน   แม่จึงถูกลูกสมุนของนักธุรกิจอิทธิพลทวงเงินด้วยวิธีทำร้ายร่างกาย แต่ผู้ที่รับเคราะห์แทนคือเด็กหญิงแมว  นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เพราะเปลวกับพวกชาวสลัมยกไปบุกรังของนักธุรกิจอิทธิพลเถื่อน  จนบาดเจ็บและล้มตายทั้งสองฝ่าย


ฉากจบของหนัง ให้ครูประจำชั้นอ่านเรียงความเรื่อง กรุงเทพ ฯ ของเด็กหญิงแมว หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเธอเขียนแสดงความรู้สึกถึงกรุงเทพ ฯ ว่า กรุงเทพ ฯ จะมีอายุ 200 ปีในไม่ช้า กรุงเทพ ฯ มีสิ่งดี ๆ เหลืออยู่เพราะคนรุ่นก่อนคงรักกรุงเทพ ฯ และเก็บของเก่า ๆ ไว้อย่างดี กรุงเทพ ฯ เมื่อก่อนคงน่าอยู่ และอยู่กันอย่างมีความสุข แต่ทำไมเดี๋ยวนี้จึงไม่เหมือนแต่ก่อน ทำไมเดี๋ยวนี้คนจึงชอบด่ากัน  ทำสกปรก รังแกกัน แม้แต่ฆ่าตัวเอง เพราะไม่อยากอยู่ที่นี่ ทำไมกรุงเทพ ฯ จึงไม่เป็นเมืองสวรรค์ดังที่คนรุ่นก่อนตั้งชื่อไว้ ทำไมเราไม่รักใคร่กัน ช่วยเหลือกัน ไม่เห็นอกเห็นใจกัน จะได้อยู่อย่างมีความสุข


ภาพยนตร์เรื่องนี้  ถ่ายทำในสถานที่จริงเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะฉากภายนอก ถนนหลายสายในย่านสำคัญของกรุงเทพ ฯ  จึงมีค่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์กายภาพและสังคมกรุงเทพ ผ่านสายตาและทัศนคติของนักทำหนังไทยโดยตั้งโจทย์ในวาระที่กรุงเทพ ฯ กำลังจะมีอายุยืนยาวถึง 200 ปี ประเทศกำลังจะเฉลิมฉลองความยั่งยืนของเมืองหลวง เป็นหนังไทยเรื่องเดียวที่สะท้อนวาระดังกล่าวและเป็นการสะท้อนในด้านขัดแย้งกับการฉลอง ภาพยนตร์เกี่ยวกับกรุงเทพ ฯ 200 ปีอื่น ๆ ล้วนเป็นประเภทข่าวและสารคดีบันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีฉลองกรุงที่รัฐบาลจัดขึ้น