หมานคร CITIZEN DOG

ความยาว 94.58 นาที

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น, เดอะ ฟิล์ม แฟคตอรี่

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

ผู้ประพันธ์ คอยนุช

ผู้เขียนบท วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

ผู้กำกับภาพ เรวัตร ปรีเลิศ

ผู้ลำดับภาพ ดุษณี ผุยหนองโพธิ์, พลพัฒน์ กิติคุณไพโรจน์

ผู้ออกแบบงานสร้าง สุราษฏร์ กาฏีโรจน์

ผู้กำกับศิลป์ มนต์ชัย ทองศรีสืบสกุล         

ผู้ทำดนตรีประกอบ อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ

ผู้บันทึกเสียง นิพัฒน์ สำเนียงเสนาะ

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย อัจฉรียา พินิจสารภิรมย์

ผู้ออกแบบเทคนิคพิเศษ สุทธิพร ไสยสุข

ผู้แสดง มหาสมุทร บุณยรักษ์, แสงทอง เกตุอู่ทอง, สวัสดิ์วงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ณัฎฐา วัฒนะไพบูลย์, เรือนคำ แสนอินทร์, ภคภัทร บุญสมธรรม, ด.ญ.ภัทรียา สนิทธิเวทย์, พาชื่น มาไลยพันธ์

รางวัล รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2547, Silver Prize for Most Groundbreaking Film and Bronze Prize for Best Asian Film - the 2006 Fantasia Festival, Critics prize, 2005 Deauville Asian Film Festival


วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง บุคคลเบื้องหลังความสำเร็จของวงการภาพยนตร์ไทยหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น นางนาก หรือ 2499 อันธพาลครองเมือง หลังจากสองเรื่องนี้ที่ทำเงินและสร้างความตื่นตาให้คนไทยส่วนมากหันกลับเข้าสู่โรงหนังแล้ว ผู้ที่เขียนบทภาพยนตร์ของทั้งสองเรื่องนี้ หลังจากที่ขัดเกลาฝีมือมานาน ก็ได้เวลาออกมาลงมือสร้างหนังเองบ้าง หลังจากเรื่องแรกที่ชื่อว่า ฟ้าทะลายโจร จบลงไป พร้อมกับกระแสตอบรับทั้งแง่บวกและลบ รายได้อาจไม่สวยงามแต่เป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลมากมาย จนในที่สุด เขาก็ได้ทำให้เกิดผลงานเรื่องที่สองที่มีชื่อว่า หมานคร ขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง หมานคร นี้เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมของ คอยนุช เรื่องราวที่สุดแสนจะแปลกแต่มีเสน่ห์เป็นของตัวเอง มีการเล่าเรื่องแบบจิกกัด เพ้อฝัน แบบเหนือจริงและจินตนาการ สร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ และเล่าเรื่องที่เป็นความจริงที่ยิ่งกว่าตาเห็น ของมหานครที่หมุนเปลี่ยนไปตามกระแสอย่างรวดเร็วฉับไวยากแก่การเข้าใจ


หมานคร นั้นเล่าเรื่องราวของ ป๊อด เด็กหนุ่มบ้านนอกที่ตั้งใจเข้ามาทำงานในเมืองแต่ก็กลัวเพราะคุณยายเคยบอกว่า หากเข้าไปทำงานในเมืองซักวันหนึ่งจะมีหางงอกออกมาจากก้น และเมื่อเข้ามาทำงานในเมืองจึงได้พบเจอกับ จิน หญิงสาวบ้านนาผู้ได้รับหนังสือปกขาวที่อ่านไม่ออก เธอจึงคิดว่ามันคือหนังสือที่สำคัญมากๆ เลยมาทำงานในเมืองเพื่อหาความรู้และหวังว่าซักวันจะอ่านมันออก และนอกจากนั้น ป๊อด ยังคงพบคนต่อหลายคนที่มีความแปลกอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น คง ผีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง น้องแหม่ม เด็กสาวผู้ที่เชื่อว่าตนเองโตแล้ว เป็นสาวเปรี้ยวชอบเที่ยวและสูบบุหรี่ นี่คือเรื่องราวเพียงเล็กน้อยจากเรื่อง หมานคร หนังที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน การเล่าเรื่องอันแปลกประหลาดและเฉพาะตัว ที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ความจิกกัดวิถีชีวิตคนกรุง รวมไปถึงการตีความของตัวละครที่มีบทบาทน้อยนิดในเมืองใหญ่ ซึ่งก็คือชื่อเรื่องที่บอกว่า หมานคร ที่คนตัวเล็กๆใช้ชีวิตอย่างไร้ซึ่งบทบาทใดๆเปรียบได้ดั่งหมาจรจัดตัวหนึ่งแค่นั้นเอง และสิ่งที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการใช้เพลงประกอบในการเล่าเรื่อง จากเนื้อเพลง ก่อน ของศิลปินโมเดิร์นด็อก ที่เปิดคลอเลียทุกครั้ง และจะหนักและชัดเจนขึ้นเมื่อตัวละครต้องพบกับเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ขึ้น ซึ่งหลายต่อหลายอย่างที่ใช้ในการเล่าเรื่อง ล้วนเป็นภาพและเสียงเชิงสัญลักษณ์ เพราะทุกอย่างคือความเหนือจริง แต่เหตุการณ์เพี้ยนๆประหลาดๆเหล่านี้ กลับมีเสน่ห์อย่างประหลาดเช่นกัน เพราะในช่วงเวลานั้นมีหนังไทยไม่กี่เรื่องนัก ที่จะกล้าทำออกมาในลักษณะนี้ โดยหนังได้สะท้อนให้เห็นความเป็นไทย ความเป็นหนังไทยแบบในยุค 16 มม. ที่ใช้ฟิล์มสีรีเวอร์ซัลถ่ายหนัง ทำให้สีออกมาดูสดเกินจริงจนออกจะบิดเบี้ยว และการเล่าเรื่องแบบเพ้อฝัน ลิเก ทำให้หมานคร กลายเป็นหนังเก่าที่ดูใหม่และร่วมสมัย


ในตอนที่หนังเข้าฉาย กระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกมาทั้งในแง่ดีและไม่ดี แต่นับว่าเป็นหนังเพ้อฝันเหนือจริงเพียงไม่กี่เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยให้ไกลไปต่างแดน ตัวหนังถูกซื้อไปฉายหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ แคนนาดา, สวิตเซอร์แลนด์, จีน, อเมริกา และทำให้คนต่างชาติได้รู้จักคนทำหนังไทยทื่ชื่อ วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง มากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก ปี  2547 จากผลโหวตของนิตยสาร ไทม์แม็กกาซีน ถึงแม้รายได้ในประเทศจะไม่ถล่มทลายมากนัก แต่ก็ได้รับคำชื่นชมจากผู้ชมหลากหลายทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป และได้รับรางวัล สาขาการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม จากสุพรรณหงส์ ปี 2547 ด้วยเช่นกัน