FINAL SCORE 365 วัน-ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์

ความยาว 100.57 นาที

สื่อดิจิทัล / สี / เสียง

บริษัทสร้าง จีเอ็มเอ็ม ไท หับ

ผู้อำนวยการสร้าง จิระ มะลิกุล, ประเสริฐ วิวัตนานนท์พงษ์, ยงยุทธ ทองกองทุน, เช่นชนนี สุนทรศารทูล, สุวิมล เตชะสุปินัน

ผู้กำกับ โสรยา นาคะสุวรรณ

ผู้กำกับภาพ อนุรักษ์ คงคา

ผู้ลำดับภาพ ชาติชาย เกษนัส, สราณี วงศ์พันธ์

ผู้ทำดนตรีประกอบ หัวลำโพง ริดดิม

ผู้บันทึกเสียง เฉลิมชัย จั่นโต

ผู้แสดง สุวิกรม อัมระนันทน์, วรภัทร จิตต์แก้ว, กิตติพงศ์ วิจิตรจรัสสกุล, สราวุฒิ ปัญญาธีระ, ชินดนัย ศิริสมฤทัย, อัยย์ริน ตั้งพูลเจริญ

รางวัล รางวัลภาพยนตร์ไทย สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 16 ประจำปี พ.ศ. 2550 


ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา เป็นปัญหาที่มักถูกยกขึ้นมาถกเถียงเสมอ โดยเฉพาะระบบการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งเยาวชนไทยทุกคนจะต้องเผชิญ การถกเถียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากระบบเอ็นทรานซ์ กลายมาเป็นระบบแอดมินชัน มีการใช้เกรดเฉลี่ย เกิดการสอบ O-Net เพื่อวัดค่าสัมประสิทธิ์ของแต่ละโรงเรียน ส่วนข้อสอบเอ็นทรานซ์ก็เปลี่ยนชื่อเป็นข้อสอบ A-Net ซึ่งต่อมา ก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น GAT/PAT ซึ่งจะเป็นข้อสอบที่วัดความถนัดทั่วไป วิชาชีพ และ วิชาการ 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยข้างต้น กลายเป็นปัญหาระดับชาติ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบมาโดยตลอด ภาพยนตร์สารคดี 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (หรือที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับชื่อ Final Score) ได้บันทึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ ด้วยการตามติดชีวิตเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ที่ต้องมาประสบกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ในปีแรก แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้จงใจจะวิพากษ์ระบบการศึกษา แต่ภาพที่ถูกนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการกวดวิชา การสับสนกับระบบการสอบแบบใหม่ และความไม่แน่ใจอนาคตของตัวเองของเหล่าตัวละครวัยรุ่น ล้วนทำหน้าที่บอกเล่าปัญหาระบบการศึกษา และปัญหาที่วัยรุ่นไทยแทบทุกคนจะต้องเผชิญ 


ภาพยนตร์ 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ เป็นเสมือนภาพบันทึกชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางในเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ที่ผู้ชมได้เห็นวิถีชีวิตของตัวละครที่วนเวียนอยู่ในพื้นที่บ้าน โรงเรียน สถานกวดวิชา สยามสแควร์ และ คอนเสิร์ตนักร้องอินดี้ ในยุคก่อนที่เทคโนโลยีโชเซียลมีเดียและสมาร์ทโฟนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตวัยรุ่น 


อีกหนึ่งความสำคัญของภาพยนตร์ 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ คือ เป็นภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวของไทยเรื่องแรกที่ฉายในโรงภาพยนตร์ในวงกว้าง (ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์สารคดีไทยที่ฉายโรงภาพยนตร์แต่แบบจำกัดโรง คือ เสือร้องไห้ และ เด็กโต๋) และได้รับเสียงตอบรับทั้งในแง่รายได้ และ คำวิจารณ์ อย่างดี ถือเป็นหลักหมายสำคัญหลักหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย