วังพิกุล VILLAGE OF HOPE

ความยาว 66.52 นาที

สื่อดิจิทัล / ขาว-ดำ / เสียง

บริษัทสร้าง แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ สตูดิโอ

ผู้อำนวยการสร้าง ปิยะฉัตร นาคภู่   

ผู้กำกับ บุญส่ง นาคภู่

ผู้เขียนบท  บุญส่ง นาคภู่

ผู้กำกับภาพ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ผู้ลำดับภาพ เอกลักษณ์ อนันตสมบูรณ์

ผู้กำกับศิลป์ ธนสร อ่อนกล่ำผล, เอกลักษณ์ อนันตสมบูรณ์

ผู้ทำดนตรีประกอบ ไกวัล กุลวัฒโนทัย

ผู้บันทึกเสียง ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ธนสร อ่อนกล่ำผล, เอกลักษณ์ อนันตสมบูรณ์

ผู้แสดง ไกรสร นาคภู่, ธูป นาคภู่, สิริมงคล วันพุธ, บุญชุบ นาคภู่, จอมประสาน นาคภู่, ประจวบ นาคภู่, อำนวย นาคภู่, เทียน นาคภู่, มีนา เกตุขาว, ทุเรียน นาคภู่, สมหมาย นาคภู่, กษิดิ์เดช นาคภู่, ภูริพภัทร์ นาคภู่, เหลือ นาคภู่, แสงทอง นาคภู่, อำนวย จินา, ศิลาลักษณ์ จ๊อกถึง, แก้ว จันทร์ฟอง, มนตรี จ๊อกถึง, สิรินทรา อาทร, สุน สายสุรินทร์, น้อย รอดพู


เป็นภาพยนตร์เรื่องยาว โดย บุญส่ง นาคภู่  นักทำหนังอิสระ ออกฉายเมื่อปี 2557 บุญส่งเป็นลูกชาวนา หมู่บ้านวังพิกุล ตำบลนาขุนไกร  อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เป็นหนังที่ทำขึ้นจากเรื่องราวในชีวิตบุคคลและวิถีชีวิตในครอบครัวของเขาเอง ซึ่งมีแม่ที่แก่เฒ่าและลูก ๆ 8 คน กับอาชีพทำนาซึ่งสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ บุญส่งเล่าเรื่องของ สอน (ไกรสร นาคภู่) หลานชาย ซึ่งถูกเกณฑ์ทหารไปประจำอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้ลาวันหยุดกลับมาเยี่ยมบ้านอีกครั้งหนึ่ง และเหลือเวลารับใช้กองทัพอีกหกเดือน  หนังติดตามตั้งแต่สอนกำลังเดินจากถนนหลวงเรื่อยเข้าสู่หมู่บ้าน จนเข้ามาถึงบริเวณบ้านของครอบครัว   ซึ่งประกอบด้วยบ้านของแม่เฒ่าเป็นศูนย์หรือแกน และบ้านของลูกแต่ละครัวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินทำนาผืนเดียวกัน  หนังติดตามสอนเข้าไปสัมผัสกับสายใยความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแต่ละคนในบ้านและครอบครัว กับลุงป้า น้าอา ลูกพี่ลูกน้อง และกับย่าซึ่งเป็นเสมือนประมุขของบ้านทุกครัว ซึ่งขณะเดียวกันก็ให้สัมผัสความสัมพันธ์กับความทรงจำและอารมณ์ระหว่างสอนกับพ่อและแม่ของเขาซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมบ้านกัน พ่อไปทำงานรับจ้างทำสวนที่พิษณุโลก แม่ไปทำงานที่สุรินทร์ และอารมณ์ของสอนกับพื้นที่ในบ้านนอกบ้านและชุมชน

  ด้วยเวลา 72 นาที หนังแสดงเหตุการณ์สองสามวันที่สอนกลับมาเยี่ยมบ้าน ซึ่งสามารถทำให้เราเห็นสถานการณ์ของครอบครัวชาวนาในชนบทที่ยังอยู่ในสมัยบ้านแตกสาแหรกขาด คนเฒ่าแก่รุ่นปู่ย่าตายายต้องนอนเหงาเฝ้าจอทีวีอยู่แต่ในบ้าน คนรุ่นพ่อแม่ทิ้งไร่นาไปหางานทำในเมือง ซึ่งบ้างก็นำไปสู่การแยกทางหย่าร้างกัน เช่น เด็กชายหญิงญาติผู้น้องของเขาคนหนึ่งพ่อแม่ก็เลิกกันและไม่ได้อยู่บ้านกับลูก ๆ  มีคนรุ่นพ่อแม่บางคนยังยืนหยัดทำนาบนผืนดินของครอบครัว ซึ่งหนังได้แสดงให้เห็นว่าชาวนายังคงเผชิญกับปัญหาทุกข์กายใจด้วยหนี้สินและโรคภัยจากวิถีการทำนา  วันที่สอนกลับมาเยี่ยมบ้าน ลูกชายคนหนึ่งของย่าที่ไปทำมาหากินอยู่กรุงเทพ โทรศัพท์มาแจ้งว่าจะพาหลานชายคนเล็กมาหาย่าเช่นกัน  ซึ่งดูเหมือนว่าย่ามีชีวิตอันเนิบนาบอยู่กับการรอคอยการกลับมาเยี่ยมชั่วครั้งหนึ่ง ๆ ของลูกที่จากบ้านนาไป และเมื่อลูกชายจากกรุงเทพมาถึง เขาก็ฉายภาพสะท้อนชัดของวิถีร่วมสมัยของคนทำงานในกรุง ซึ่งต้องดิ้นรนแข่งขันกันทำมาหากิน วิถีชีวิตที่ต้องรีบเร่งแทบหายใจหายคอไม่ทัน ลูกชายย่ามาลำพังกับหลานย่าซึ่งยังเป็นเด็กชาย ในขณะที่ภรรยาต้องไปทำภารกิจที่ภาคใต้และดูเหมือนชีวิตครอบครัวจะไปด้วยกันไม่ราบรื่นนัก  การมาเยี่ยมบ้านเป็นเสมือนพิธีกรรม ที่จำเป็นต้องปฏิบัติ รีบมาและรีบไป แต่ก็เป็นเวลาสำคัญที่ครอบครัวจะได้ถามสารทุกข์สุกดิบกันทั่วหน้า และไม่ลืมเวลาที่เด็กชายหลานเล็ก ๆ ของครอบครัวจากกรุงเทพจะได้เต้นจังหวะกังนัมสไสตล์โชว์ลุงป้าน้าอา แต่ชั่วขณะเวลาที่สำคัญคือเมื่อลูกชายย่าพาหลานชายมากราบสวัสดีย่าและกราบลาย่า จะได้รับการอวยชัยให้พรจากย่า ซึ่งดูราวจะเป็นจุดบรรลุผลแห่งการกลับมาเยี่ยมบ้าน  โดยเฉพาะเมื่อลาย่า ลูกชายย่าได้ให้เงินไว้จำนวนหนึ่งและสั่งว่าอยากกินอะไรก็ให้ใครไปซื้อให้อย่าขี้เหนียว

    สำหรับสอน การกลับมาเยี่ยมบ้านของเขา เป็นการกลับมาที่ต้องใช้ความคิดกับตนเองเพราะกลับมาบ้านครั้งนี้เขาถูกตั้งคำถามจากลุงป้าน้าอาและคนรอบข้างว่าอนาคตจะทำอะไร เขาเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เด็กอีกต่อไป ป้าบอกสอนว่าพ่อของสอนเอานาไปจำนำ ควรจะคิดทำนา เก็บเงินปลูกบ้านใหญ่ ๆ   สอนไม่เข้าไปนอนในบ้าน ซึ่งอาจจะคอยรบกวนให้หวนนึกถึงยามที่ในบ้านมีพ่อแม่อยู่พร้อมกัน แต่ยอมนอนหนาวอยู่ใต้ถุนบ้าน วันหนึ่งสอนถามญาติลูกพี่ลูกน้องว่าซึ่งพ่อแม่เลิกร้างเช่นกัน ว่าอยากให้พ่อกับแม่คืนดีกันไหม  และสอนฝันเห็นพ่อซึ่งถามเขาว่าคิดถึงแม่หรือ ทำไมไม่ไปหาเขาละ ในฝันแม่ยืนดูเขาอยู่ไม่ห่างนัก


เมื่อลูกชายของย่าจะกลับกรุงเทพ สอนแสดงให้อารู้ว่าขอเงินบ้าง ซึ่งอาก็ให้และเป็นอีกรายหนึ่งที่บอกเขาว่า โตเป็นผู้ใหญ่แล้วหัดคิดได้แล้วว่าอนาคตจะทำอะไร  สอนไปไหว้ลาย่า และเอ่ยขอยืมตังย่า ย่าบอกไม่ให้ แต่ที่สุดก็ควักเงินที่ซุกไว้ให้เขาไป


ภาพสุดท้าย สอนเดินเรื่อย ๆ ออกจากหมู่บ้าน สู่ถนนหลวง เพื่อเดินทางกลับกรมกองทหาร


ภาพยนตร์ วังพิกุล มีคุณค่าเป็นบันทึกสังคมร่วมสมัย ไม่เพียงสภาพทางกายภาพของหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่ยังสามารถบันทึกบุคลิกภาพ อารมณ์ความรู้สึก ของผู้คนในวิถีชีวิตของหมู่บ้านไว้ได้ด้วย ผ่านภาพขาวดำทั้งเรื่อง เพราะต้องการใช้พลังความงามของภาพถ่ายขาวดำ