16 มม. / ขาว-ดำ / เงียบและเสียง / ความยาว 09.54 นาที
ผู้สร้าง หนังสือพิมพ์โตกิโอ นิจินิจิ และโอซากา ไมนิจิ
ผู้ถ่ายภาพ ภาพยนต์เสียง ศรีกรุง
ผู้บริจาค สุรินทร์-ประณีต (เฉลิมวัฒนาโคราช)
กรณีสงครามที่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการระหว่าง ไทย กับ อินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อปี 2483 จากการที่รัฐบาลไทยขณะนั้น โดยการนำของ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้มีการเรียกร้องดินแดนที่เสียไปให้ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ 5 คืน นำไปสู่การรบกันตามแนวชายแดนด้านตะวันออกและด้านเหนือ สงครามดำเนินไปราวสามเดือน ก็ยุติลงเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาเป็นคนกลาง นำไปสู่การเจรจาที่กรุงโตเกียว
ภาพยนตร์นี้ หอภาพยนตร์ได้รับมาจากโรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนา โคราช ซึ่งมีการค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เก่าก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนหนึ่ง แสดงว่าเป็นภาพยนตร์ที่ส่งไปฉายในฐานะภาพยนตร์ข่าวตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นขนบปกติของโรงภาพยนตร์ในยุคก่อนที่จะมีโทรทัศน์เกิดขึ้น
ภาพยนตร์นี้มี 2 ม้วน บันทึกเหตุการณ์เดียวกัน คือ วันที่คณะทูตเจรจาสันติภาพของไทย ซึ่งมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้า เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบินที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดให้ เดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ท่ามกลางประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย และคนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งไปต้อนรับถึงลานที่เครื่องบินจอด ในบรรดาผู้ที่มาต้อนรับ จะเห็นบุคคลในคณะรัฐบาลไทยขณะนั้นบางท่าน เช่น พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อเครื่องบินจอด คณะทูตลงมาท่ามกลางกลุ่มผู้ต้อนรับ เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้จัดไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงมาให้หัวหน้าคณะทูตไทยกล่าวปราศรัย ซึ่งท่านได้กล่าวสั้นๆ แต่ใจความอยู่ที่แสดงความขอบคุณประเทศญี่ปุ่นและยืนยันถึงมิตรไมตรีกับญี่ปุ่นจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
คำกล่าวนั้นเป็นการขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างใหญ่ ซึ่งเมื่อเราได้ยินในปัจจุบัน จะสามารถบอกเล่าสำเนียงแห่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคก่อนและยามสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ภาพยนตร์ม้วนที่ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ได้บันทึกเหตุการณ์ต่อเนื่องตลอด (ไม่มีการตัดต่อเปลี่ยนมุมกล้อง) และบันทึกเสียงสดจากเหตุการณ์จริง ยาวประมาณ 5 นาที โดย ที่หัวฟิล์มหรือต้นม้วนเป็นไตเติ้ลระบุว่า จัดให้ถ่ายทำโดย หนังสือพิมพ์โตกิโอ นิจินิจิ และโอซากา ไมนิจิ โดยในตอนท้ายปรากฏว่าต่อด้วยภาพยนตร์ข่าวเหตุการณ์เดียวกัน แต่เป็นภาพยนตร์เงียบ ไม่บันทึกเสียง เข้าใจว่าคณะถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนต์เสียงศรีกรุงถ่ายไว้เป็นอีกฉบับหนึ่ง มีการตัดต่อเปลี่ยนมุมกล้องหลายมุม ในขณะที่ฉบับแรกที่บันทึกเสียงนั้น เป็นการถ่ายยาวตลอดคัทเดียวไม่มีการตัดต่อเลย ภาพเหตุการณ์ในฉบับหลัง ได้ถ่ายให้เห็นว่าในบรรดาผู้ที่มารับคณะทูตพิเศษไทยนั้น มีพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายปรีดี พนมยงค์ รวมอยู่ด้วย
ภาพยนตร์นี้เป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในรูปของภาพยนตร์ ที่ฉายให้เห็นอารมณ์ของกระแสสังคมไทยในยุคชาตินิยมกำลังทวีความแข็งแรงขึ้น ในขณะที่เป็นผลงานการถ่ายทำของบริษัทภาพยนต์เสียงศรีกรุง ซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด