ทะเลรัก

16 มม. / สี / เสียง / ความยาว 67 นาที

บริษัทสร้าง ภาพนิมิต

ผู้อำนวยการสร้าง เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์

ผู้กำกับ ขุนวิจิตรมาตรา

ผู้ประพันธ์ “กาญจนานาคพันธุ์”

ผู้ถ่ายภาพ ประสาท สุขุม A.S.C.

ผู้ออกแบบฉาก โสภา เปี่ยมพงศ์สานต์

ผู้จัดเครื่องแต่งกาย โสภา เปี่ยมพงศ์สานต์

ผู้บันทึกเสียง ชาญ บุนนาค

ที่ปรึกษาฝ่ายดนตรี ศุภชัย วานิชวัฒนา

ผู้ลำดับภาพ ชาญ กาญจนาคพันธ์

ผู้บริจาค เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์

ผู้แสดง พิชัย วาศนาส่ง, ไขศรี ชุมะศารทูล, ประจวบ กาญจนลาภ, อาจศรี บุนนาค, ประภัสสร์ มัณฑุสินธุ์


ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของไทยที่มีความสามารถในหลายด้าน ทั้งการเขียนนวนิยาย บทละคร สารคดี แต่งเพลง ซึ่งงานสำคัญของท่าน คือการเขียนเนื้อร้องของเพลงชาติไทย และความสามารถอีกด้านของท่าน คือการกำกับภาพยนตร์ ขุนวิจิตรมาตราเป็นหนึ่งในคณะผู้กำกับภาพยนตร์ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงผู้บุกเบิกภาพยนตร์ไทยรายสำคัญในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 


ทะเลรัก คือผลงานการกำกับภาพยนตร์ของขุนวิจิตรมาตราที่สร้างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยดัดแปลงจากบทประพันธ์ที่ท่านได้ประพันธ์เอาไว้ในปี 2469 เข้าใจว่าเหตุที่ท่านกลับมากำกับภาพยนตร์อีกหลังจากที่ร้างราไปนานคงเป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องทะเลรักนี้เป็นผลงานสร้างของบุตรเขยของท่าน คือ เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ นักการเมือง ผู้แทนราษฎรจังหวัดระยองซึ่งต่อมาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี เสวตรสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในนามของภาพนิมิต โดยวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งคือการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน และอีกประการหนึ่งเพื่อใช้ในการโฆษณาหาเสียงทางการเมืองของท่าน


ทะเลรัก เป็นภาพยนตร์แนวชีวิต ที่เรื่องราวเกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวประมงชายทะเลระยองแถบบ้านเพ โดยตัวเอกของเรื่องคือหมึก (พิชัย วาศนาส่ง) ชาวประมงหนุ่ม ที่หลงรักมุกดา (ไขศรี ชุมะศารทูล) หญิงสาวในหมู่บ้านเดียวกัน แต่มุกดา มีชายอื่นมาหมายปอง คือคุณจำแลง ชายที่มารับซื้อไข่มุกจากชาวประมง


การเข้ามาของจำแลง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมุกดาและหมึกเปลี่ยนไป มุกดาหลงรักจำแลง แต่จำแลงก็กลับพาผู้หญิงคนอื่น อย่างเช่นผกาแก้วไปนั่งเรือเล่น เมื่อจำแลงสังเกตเห็นไข่มุกที่หมึกให้กับมุกดา เขาวางแผนจะนำเอาไข่มุกนั้นมาเป็นของตัวเอง จึงวางแผนที่จะสับเปลี่ยนไข่มุกด้วยการเอาไข่มุกปลอมไปเปลี่ยน เขาจึงหลอกมุกดาว่าจะเอาไข่มุกของเธอไปทำเป็นต่างหูมุก และวางแผนในการสับเปลี่ยน เพื่อนำเอาไข่มุกนั้นไปให้กับผกาแก้ว


ต่อมาสันต์พบว่าไข่มุกที่อยู่กับมุกดาเป็นไข่มุกปลอม สันต์จึงช่วยเหลือด้วยการไปขอไข่มุกคืนจากผกาแก้ว มุกดาโกรธจำแลงมากจึงมีปากเสียงกัน จำแลงทำร้ายมุกดา หมึกพยายามมาช่วย แต่มันก็อาจจะสายเกินไป


ทะเลรัก เป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก และเรื่องเดียวของพิชัย วาศนาส่ง นักออกแบบฉาก นักจัดรายการโทรทัศน์ และพิธีกรโทรทัศน์ชื่อดังในยุคนั้น ซึ่งทะเลรัก เป็นภาพยนตร์ที่ได้ ประสาท สุขุม ผู้กำกับภาพของภาพยนตร์ไทยเพียงคนเดียวที่เป็นสมาชิกของ American Society of Cinematographer มาเป็นผู้กำกับภาพ ซึ่งงานด้านภาพของทะเลรัก มีความพิเศษ ในการถ่ายทอดภาพของทะเลในจังหวัดระยองในอดีตออกมาได้อย่างงดงาม อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ยังมีการถ่ายทำฉากใต้น้ำ ในตอนที่หมึกได้ดำน้ำลงไปใต้ทะเลเพื่องมหาไข่มุก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยในสมัยนั้น ทะเลรัก เป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวของขุนวิจิตรมาตรา ที่ยังคงมีหลงเหลือให้ได้ชมในปัจจุบัน ซึ่งผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะไม่ได้ถ่ายทำด้วยระบบมาตรฐานอย่าง 35 มม. แต่ก็ได้เห็นถึงความสามารถรอบตัวของท่านขุน ทะเลรักเป็นตัวอย่างอันดีอีกเรื่องหนึ่งของภาพยนตร์ที่สร้างโดยนักการเมืองและโดยมีวัตถุประสงค์ในทางการหาเสียงทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองไทยได้ใช้กันโดยทั่วไปในยุคสมัยนั้น แต่ส่วนใหญ่มิได้สร้างเอง เพียงจัดหาหนังมาฉายเพื่อประกอบการปราศรัยหาเสียง แต่ต่อมาได้มีกฎหมายห้ามการฉายหนังประกอบการหาเสียง