พิธีเปิดป้าย พรรคเสรีมนังคศิลา 2 กุมภาพันธ์ 2499

16 มม. / ขาว-ดำ / เสียงและเงียบ / ความยาว 36.04 นาที

ผู้บริจาค พิศมัยฟิล์ม จังหวัดนครสวรรค์


เริ่มต้นถ่ายจากถนนหน้าบ้านมนังคศิลา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2499 อันกำหนดเป็นวันจัดงานพิธีเปิดที่ทำการพรรค เห็นป้าย “พรรคเสรีมนังคศิลา” ภาษาไทยและอังกฤษประดับอยู่เหนือประตูรั้วหน้าบ้าน ภายในบริเวณซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง มีรถยนต์จอดเต็มไปหมด และเห็นผู้คนซึ่งมีทั้งสมาชิกพรรคและแขกเหรื่อเต็มไปหมด นั่งกันอยู่ในเต็นท์รอบๆ ส่วนใหญ่เป็นสุภาพบุรุษและอยู่ในชุดสูทสากลสีขาวหรือสีอ่อน ในปะรำพิธี เห็นคณะพระสงฆ์นั่งบนเก้าอี้อาสนะกำลังสวดมนต์ แล้วพระสงฆ์ฉันอาหาร สมาชิกผู้ใหญ่ของพรรคนั่งปรนนิบัติพระสงฆ์


ระหว่างนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรองหัวหน้าพรรค เดินทางมาถึง เข้าไปกราบและกล่าวทักทายพระสงฆ์ 


ที่หน้าอาคาร มีรถยนต์เข้ามาส่งสมาชิกพรรคหรือแขกเหรื่อสำคัญซึ่งทยอยมาถึงอย่างต่อเนื่อง มีตำรวจคอยกำกับการจราจร แขกที่มาถึงได้รับแจกของชำร่วยเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ซึ่งต่างก็เปิดดูอย่างสนใจ เมื่อได้เวลา จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคได้เดินทางมาถึง และสนทนากับใครบางคน 


จากนั้น มีพิธีเปิดพรรค มีผู้กล่าวรายงานที่ไมโครโฟน บริเวณภายนอก ด้านข้างอาคารหลังหนึ่ง รายงานจบแล้ว มีผู้นำเอกสารส่งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม สำหรับอ่านกล่าวตอบและเปิดพรรค เห็นสมาชิกและแขกเหรื่อทั้งหลายยืนฟังกันอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ยืนฟังอยู่ถัดไปข้างหลังท่านนายก ฯ เมื่อกล่าวจบแล้ว จึงเดินไปกดปุ่มเปิดผ้าแพรคลุมป้าย ซึ่งเห็นประทัดควันจุดขึ้นเป็นควันโขมงและเห็นผ้าแพรลอยขึ้นไปในอากาศด้วยลูกโป่งสวรรค์ ท่านจอมพลและนายพลตำรวจต่างมองดูป้ายลอยไปไกล


ในกระโจม จะเห็นแขกเหรื่อนั่งและยืนกันทั่วไป ล้วนเป็นคนสำคัญในวงการเมืองและราชการ เช่น พล.ท หม่อมหลวงขาบ กุญชร 


ในห้องพิธี แขกผู้ใหญ่กำลังถวายปัจจัยแด่พระสงฆ์ที่อาสนะ พระสงฆ์สวด เห็นจอมพล ป. กรวดน้ำ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงประทับอยู่ใกล้ๆ จบแล้ว จอมพล ป. สนทนากับพระ แล้วพระสงฆ์เดินทางกลับ 


จอมพล ป. สนทนากับสมาชิกและแขกสำคัญ ก่อนจะกลับ โดยพล.ต.อ. เผ่ามาส่งที่รถ จอมพล ป. ขับรถธันเดอร์เบิร์ดกลับด้วยตนเอง



รถยนต์ของสมาชิกและแขกสำคัญทยอยกลับออกจากบ้านมนังคศิลา


ในบ้าน สมาชิกที่ยังไม่กลับ จับกลุ่มสนทนา และรับประทานอาหาร พล.ต.อ. เผ่า รับประทานอาหารตอนเย็น มีงานเลี้ยงฉลอง เห็นบริเวณสนามมีโต๊ะอาหารตั้งทั่วบริเวณ มีบาร์เครื่องดื่ม มีโคคาโคลา และกรีนสปอร์ต


ตอนค่ำ ในงานเลี้ยง เห็นแขกเหรื่อในงาน จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด เดินทางมาถึง ในบ้าน สนทนากับผู้ที่แวดล้อม เห็นเครื่องรับโทรทัศน์ตั้งอยู่และเปิดรับภาพรายการจากสถานี จอมพล ป. และท่านผู้หญิงเดินลงไปร่วมงานเลี้ยงในสนาม ท่านผู้หญิงแวดล้อมด้วยสุภาพสตรีในงาน จอมพล ป. นั่งโต๊ะสนทนากับ พล.ต.อ. เผ่า และคนอื่นๆ 


ที่เวทีการแสดง วงดนตรีกำลังบรรเลง สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น กำลังร้องเพลงที่ไมโครโฟน แขกเหรื่อตามโต๊ะต่างๆ กำลังสนทนากัน จอมพล ป. และท่านผู้หญิงในโต๊ะซึ่งแวดล้อมด้วยสุภาพสตรี บนเวที นักร้องชาย หญิง กำลังร้องเพลงคู่ ต่อจากนั้นมีการแสดงรำนาฏศิลป์ จอมพล ป. นั่งชมที่เก้าอี้หวายด้านหน้าเวทีพร้อมกับสมาชิกสำคัญอื่นๆ 


จอมพล ป. ยืนสนทนากับท่านผู้หญิง ที่โต๊ะวางอาหารแบบบุฟเฟต์ เห็นสุภาพสตรีกำลังตักอาหารที่โต๊ะอาหารขนาดใหญ่ จอมพล ป. และท่านผู้หญิง กับสมาชิกอื่นๆ กำลังทานอาหาร จากนั้นจะเห็นบรรยากาศการรับประทานอาหารตามโต๊ะต่างๆ ในงาน


บนเวที โฆษกหรือพิธีกรชายกำลังอ่านกระดาษในมือ


บนเวที กำลังมีการแสดงจำอวดหรือละครย่อยตลก โดย จำรูญ หนวดจิ๋ม แสดงเป็นตำรวจ ที่ฉากป้อมตำรวจ กำลังเจรจากับสาวนางหนึ่ง จอมพล ป. กับท่านผู้หญิงนั่งชมการแสดง อย่างสนใจ

บนเวที มีนักแสดงเป็นกลุ่มใหญ่เต็มเวที กำลังฟังนักแสดงหญิงคนหนึ่งกล่าวอยู่กลางวง กล่าวจบแล้วทุกคนชูไม้ชูมือชอบใจ จากนั้นมีเด็กชายล้อต๊อกน้อย ขึ้นมาพูดที่ไมโครโฟน ต้องยืนบนลัง จอมพลและท่านผู้หญิงชมอย่างสนใจ


วันต่อมา 3 กุมภาพันธ์ 2499 มีการเปิดประชุม ณ ห้องประชุมของพรรค บรรดาสมาชิกพรรคพากันเดินทางมาถึง ลงนามในสมุดลงทะเบียน จากนั้นจึงเข้าสู่ห้องประชุม เปิดการประชุมพรรค เห็นบรรยากาศการประชุม การอภิปรายของสมาชิก การยกมือลงมติ จนปิดประชุม เมื่อ 20.00 น.


ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์บันทึกกิจกรรมของพรรคการเมืองสำคัญพรรคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย เสียงผู้บรรยายในภาพยนตร์ ได้เล่ารายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะได้เอ่ยถึงชื่อสมาชิกสำคัญของพรรคจำนวนมาก ได้กล่าวถึงอุดมคติและแนวนโยบายของพรรคอย่างละเอียด 


แม้ว่าพรรคการเมืองนี้จะยังไม่ทันมีบทบาทอะไรในประวัติศาสตร์ เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูก พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รองหัวหน้าพรรคทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาลของจอมพล ป. หัวหน้าพรรคไปเสียก่อน