ชุมแพ

35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 142 นาที

บริษัทสร้าง สันติสุชาภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง วิสันต์ สันติสุชา

ผู้กำกับ จรัล พรหมรังษี

ผู้ช่วยผู้กำกับ วีระมิตร

ผู้เขียนบท สุระ นานา, จรัล พรหมรังษี

ผู้ประพันธ์ ศักดิ์ สุริยา

ผู้กำกับภาพ จรัล พรหมรังษี

ผู้ทำอักษรประกอบ สมาน ชุบสุวรรณ

ผู้บันทึกเสียง วิสิทธิ์ กิวานนท์

ผู้ทำดนตรีประกอบ ก๊อง

ผู้ประพันธ์เพลง อนันต์ โชคชัย

ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน พีระ ตรีบุปผา

ผู้จัดจำหน่าย สันติสุชาภาพยนตร์

ผู้บริจาค ฟิล์ม 16 มม. กองอนามัยครอบครัว กรมอนามัย ฟิล์ม 35 มม. ก.ศ.น.

ผู้แสดง สมบัติ เมทะนี, นาท ภูวนัย, ปิยะมาศ โมนยะกุล, ธัญญรัตน์ โลหะนันท์, มานพ อัศวเทพ, ครรชิต ขวัญประชา, อุมา ไอยทิพย์, อนันต์ สัมมาทรัพย์, ภูมิ พัฒนายุทธ, เกชา เปลี่ยนวิถี, ดามพ์ ดัสกร, กฤษณะ อำนวยพร, ไกร ครรชิต, ลักษณ์ อภิชาติ, โดม สิงห์โมฬี, ชุมพร เทพพิทักษ์, พิภพ ภู่ภิญโญ, อดินันท์ สิงห์หิรัญ, ไสล พูนชัย, ชาย มีคุณสุต, เชิด ราชันย์, เทอด ดาวไท, แพน บรเพ็ด, หมี หมัดแม่น, เมฆ เมืองกรุง, พรชัย วิศาลกุล, สป็อก โคลีเซี่ยม, เบิ้ม พรานนก, ไทย น้ำจันทร์, พิศ อินทร์คล้าย, มารศรี ณ บางช้าง, วิน วันชัย


ในบรรดาภาพยนตร์บู๊ของไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในการพาผู้ชมในยังแดนเถื่อน ที่พระเอก ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปลอมตัวมา จะต้องเข้าต่อสู้กับเหล่าร้าย และสุดท้ายธรรมะย่อมชนะอธรรม หนึ่งในภาพยนตร์แนวนี้ ที่อยู่ในใจของผู้ชมมากที่สุดจวบจนถึงปัจจุบัน ก็คือชุมแพ ผลงานการสร้างของสันติสุชาภาพยนตร์ในปี 2519


ชุมแพ คือผลงานที่วิสันต์ สันติสุชา ได้มอบหมายให้จรัล พรหมรังษี เป็นผู้กำกับการแสดงเป็นครั้งแรก จรัล พรหมรังษี (ปานเสน) เป็นผู้ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก โดยจรัลเริ่มต้นชีวิตในวงการภาพยนตร์ ด้วยการทำงานในกองถ่ายของรังสี ทัศนพยัคฆ์ และก้าวขึ้นมาจากการเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ จนมาเป็นเด็กยกรีเฟลกซ์ และผู้ช่วยผู้กำกับ ก่อนที่เขาจะได้รับโอกาสจากวิสันต์ ให้ก้าวขึ้นมากำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัวในชุมแพ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องชุมแพ เป็นภาพยนตร์ที่วิสันต์ทุ่มทุนประชาสัมพันธ์อย่างยิ่งใหญ่ ก่อนที่ภาพยนตร์จะทำรายได้จากการออกฉายอย่างงดงาม จนทำให้ จรัล กลายเป็นผู้กำกับมือทองมานับแต่นั้น


ชุมแพ เป็นบทประพันธ์ของศักดิ์ สุริยา (ฉัตร บุญยศิริชัย) นักประพันธ์ชาวจังหวัดสุรินทร์ ที่มีผลงานการประพันธ์หลากหลายในนามปากกาต่างๆ อาทิ อ้อย อัจฉริยกร หรือ ดาวไสว ไพจิตร ฉัตรได้เขียนเรื่องชุมแพ ให้นิตยสารบางกอกรายสัปดาห์


ภาพยนตร์เรื่อง ชุมแพ เปิดตัวด้วยฉากการนั่งรถ บขส กลับมายังชุมแพ ของ เพิก ชุมแพ (สมบัติ เมทะนี)  หลังจากที่พ่อของเขาได้ถูกฆ่าตายไปเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อถูกนักเลงเจ้าถิ่นท้าทาย เขาจึงต้องลุกขึ้นสู้


เพิกมีศัตรูคือ จ่าบุญถม หรือฉายา จ่าถม นิยมไถ (เกชา เปลี่ยนวิถี) นายตำรวจกังฉิน ที่เป็นเจ้าพ่อชุมแพ เป็นผู้มีอิทธิพลที่ชอบรีดไถชาวบ้าน จ่าถมได้พยายามหาพวกด้วยการตีสนิทกับผู้กองไชโย (นาท ภูวนัย) เพื่อหวังให้มาคอยรับใช้ แต่ผู้กองไชโยไม่เล่นด้วย ในขณะเดียวกันผู้กองไชโยก็มีความสนิทสนมกับดวงพร (ธัญญรัตน์ โลหะนันท์) ลูกสาวของจ่าถมที่เปิดร้านเสริมสวยอยู่ในชุมแพ


เพิกได้เข้ามาขัดขวางการรีดไถของจ่าถม ทำให้จ่าถมใช้ให้ภู น้ำพอง (ดามพ์ ดัสกร) ลูกน้องเก่ามาจัดการกับเพิก  ขณะที่ผู้ใหญ่เสือ  (มานพ อัศวเทพ) ออกปล้นชาวบ้านโดยใช้ชื่อของเพิก ทำให้เพิกถูกทางการและผู้กองไชโยเข้าใจว่าเป็นโจรและตามล่าตัว ทำให้เพิกต้องไปขอความช่วยเหลือจากพิง (ครรชิต ขวัญประชา) ที่ภูเขียวและจับตัวแววดาว (ปิยะมาศ โมนยะกุล) หญิงสาวที่มีความสนิทสนมกับจ่าถมมาสอบสวน แต่ในที่สุด เพิกก็ปล่อยตัวเธอกลับมา


จ่าถมสั่งภูให้จัดการกับเพิกด้วยโดยที่จ่าถมสัญญากับลูกน้องแต่ละคนว่า ใครที่ฆ่าเพิกได้จะได้ดวงพรเป็นรางวัล จะยอมยกดวงพรให้กับคนนั้น ดอน (ลักษณ์ อภิชาติ) ได้รับคำสั่งจากภูให้มาจัดการกับเพิก แต่เพิกเคยมีบุญคุณกับดอน สุดท้ายเขาจึงไม่ได้ทำร้ายเพิก และกลายมาเป็นพวกของเพิก ขณะที่เพิกก็ได้จับตัวดวงพรไป เพื่อที่ดวงพรจะได้ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น ท้ายที่สุด เพิกสามารถจับจ่าถมกับผู้ใหญ่เสือแล้วล่อให้ลูกน้องของจ่าถมมาติดกับได้สำเร็จ ก่อนที่ภาพยนตร์จะเปิดเผยว่า แววดาว คือหมวดแววดาว และเพิก คือนายอำเภอคนใหม่ที่ถูกส่งมายังชุมแพ


ชุมแพเป็นหนังบู๊ที่นำดาราระดับพระเอกนางเอกจำนวนมากมาประชันบทบาทกัน ทั้ง สมบัติ เมทะนี, นาท ภูวนัย, ครรชิต ขวัญประชา, ปิยะมาศ โมนยะกุล, ธัญญรัตน์ โลหะนันท์ ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นของชุมแพ อยู่ที่หนังเรื่องนี้ ได้เดินทางไปถ่ายทำที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสถานที่นี้เป็นเสมือนศูนย์กลางการค้าขาย และประตูที่จะก้าวไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสานตอนบน ซึ่งในภาพยนตร์ เราจะได้เห็นภาพบ้านเมืองของอำเภอชุมแพในสมัยก่อนอันเป็นภาพที่ไม่สามารถพบเห็นได้แล้วในปัจจุบันนี้


เนื้อเรื่องของชุมแพ มีความซับซ้อนด้วยตัวละครที่มากมาย ทั้งตัวดี ตัวร้าย หรือฝั่งตัวร้ายที่กลับใจมาอยู่ฝั่งตัวดี มีการเล่าเรื่องที่ชวนให้ผู้ชมลุ้นไปกับการที่เพิก ชุมแพ ต้องถูกใส่ร้ายว่าเป็นโจรและถูกตามล่า ก่อนที่หนังจะเฉลยทุกอย่างออกมาในท้ายที่สุด และสะท้อนถึงภาพของการคอร์รัปชั่นและผู้มีอิทธิพลในสังคมชนบท ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังคงปรากฏให้เห็นจนปัจจุบันนี้ แต่ในภาพยนตร์เรื่องชุมแพ เราจะเห็นว่า ในที่สุด เครือข่ายของผู้มีอิทธิพลก็ได้ถูกปราบปรามลง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางอย่างหมวดแววดาวและนายอำเภอเพิก


ชุมแพประสบความสำเร็จในการสร้างฉากบู๊ที่น่าจดจำ ซึ่งฉากที่สำคัญที่สุดฉากหนึ่ง คือฉากการต่อสู้ระหว่างดอนและภู น้ำพอง บนหลังคารถบัสโดยที่ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ซึ่งฉากดังกล่าวเป็นฉากที่ไม่มีในบทประพันธ์เดิมของศักดิ์ สุริยา แต่จรัล พรหมรังสีษ์ ผู้กำกับ ได้คิดขึ้นและเติมเข้ามาในภาพยนตร์ จนกลายเป็นฉากที่ยังคงเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้


ชุมแพกลายเป็นต้นแบบของหนังบู๊ภูธรที่ในเวลาต่อมาจะมีการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะเดียวกันนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก จากทั้งสันติสุชาภาพยนตร์เอง หรือจากผู้สร้างเจ้าอื่น ชุมแพ ทำรายได้จากการฉายในกรุงเทพมหานคร ถึง 5 ล้านบาท และกล่าวกันว่า ในต่างจังหวัด ภาพยนตร์สามารถทำรายได้สูงถึง 30 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จของชุมแพ ทำให้สันติสุชาภาพยนตร์ต้องสร้างภาคต่อคือ ทุ่งลุยลายออกมาในปี 2521 รวมถึงชุมแพ ยังได้รับการนำกลับมาฉายใหม่ และในปี 2527 สันติสุชาภาพยนตร์ก็ยังได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ชุมแพ ภาค 2 ออกมา โดยใช้ทีมนักแสดงชุดใหม่ด้วย