มือปืน

35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 140.13 นาที

1 กรกฎาคม 2526

บริษัทสร้าง บริษัท ซี.เอส.พี. โปรดักชั่น จำกัด, นิว พร้อมมิตรภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง บริษัท ซี.เอส.พี. โปรดักชั่น จำกัด

ผู้จัดการกองถ่าย สมนึก เอี่ยวเจริญ

ผู้กำกับ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ช่วยผู้กำกับ สมถวิล สุวรรณกูฏ, วชิระ ชอบเพื่อน

ผู้กำกับบท ประสพ ขำเจริญ

รีพอร์ทเตอร์ จินตนา เอี่ยมสอาด

ผู้เขียนบท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ประพันธ์ ชาตรีเฉลิม

ผู้ถ่ายภาพ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ช่วยผู้ถ่ายภาพ หาญ ปิ่นคำ

ผู้กำกับแสง วิจิตร์ บัวจันทร์

ผู้ถ่ายภาพนิ่ง สุพจน์ อำนาจศศิธร, เตี้ย บางลำภู

ผู้กำกับศิลป์ ทวีศักดิ์ ทัศคร, ประสิทธิ์ ศรีสมบัติ, ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน์, สาทิส บัวพันธุ์

ผู้บันทึกเสียง นิวัฒน์ สำเนียงเสนาะ

ผู้ช่วยผู้บันทึกเสียง ยุทธนา จินตยานนท์

ผู้ควบคุมเสียง ดุลสิทธิ์ สนิทวงศ์

ผู้ลำดับภาพ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ช่วยลำดับภาพ ม.ล. วราภา เกษมศรี, นรา ไทยเจริญภิภพ

ผู้ทำดนตรีประกอบ พิเศษ สังข์สุวรรณ

ผู้ประพันธ์เพลง พิเศษ สังข์สุวรรณ

ที่ปรึกษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ, หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา

ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, รณ ฤทธิชัย, ชาลิตา ปัทมพันธุ์, สมศักดิ์ ชัยสงคราม, จินดา ทินกร, ศักดิ์สิทธิ์ มิ่งประยูร, จรัญ ชิมะโน, จอห์น อิสรัมย์, กมลา เศรษฐี, ศิริ ศิริจินดา, อำนวย ศิริจันทร์, วสันต์ บูรณะพิมพ์, ผจญ ดวงขจร, กอบ อรุณ,  จันทนา ศิริผล, อำนวย รุ่งเรือง, พร้อม จอมปลวก, พุทธพงศ์ สิงหเสนีย์, พิเศษ สังข์สุวรรณ, สิทธิ์ ทานก, ไชยสิทธิ์ บุญมา, กอบ นัมเบอร์ไนท์, ชื่นนิจ พิศวิไล, หนึ่ง มือแดง, สมชาย สามิภักดิ์, ไกร ครรชิต, โยธิน เทวราช, ด.ช.สุรชัย จำนงค์เวศ

รางวัล ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2526 ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม สรพงศ์ ชาตรี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, ลำดับภาพยอดเยี่ยม ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ดุลยวิทย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, สุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2526 ดารานำชายยอดเยี่ยม สรพงศ์ ชาตรี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, เสียงยอดเยี่ยม นิวัติ สำเนียงเสนาะ

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม พิเศษ สังข์สุวรรณ 


หากถามว่า งานชิ้นใดที่ถือเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ภาพยนตร์เรื่อง มือปืน ที่ออกฉายในปี 2526 น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น  ไม่ใช่แค่การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับ 5 รางวัลตุ๊กตาทอง ในปี 2526 เท่านั้น แต่มือปืน เป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือในการกำกับภาพยนตร์ ของ  ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับนิวเวฟคนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลานั้น 


มือปืน เป็นภาพยนตร์อิสระที่ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างขึ้นในนามนิวพร้อมมิตรภาพยนตร์ ด้วยการสนับสนุนจาก วี.ซี. โปรโมชั่น ของ วิสิษฐ์ วงศ์นาค และ ซี. เอส. พี. โปรดักชั่น ของ สรพงศ์ ชาตรี 


มือปืน เป็นภาพยนตร์ที่ฉีกจากภาพยนตร์ในท้องตลาดในเวลานั้น ด้วยการเล่าถึงชีวิตของคนที่มีอาชีพเป็นมือปืนในแง่มุมที่ผู้ชมในยุคนั้นอาจไม่เคยได้เห็น ตัวละครเอกของเรื่อง ที่รับบทโดยสรพงศ์ ชาตรี คือจ่าสมหมาย ม่วงทรัพย์ มือปืนรับจ้างขาเป๋ ภูมิหลังของจ่าสมหมาย เคยเป็นนายทหารที่ร่วมรบในสมรภูมิที่ลาวจนเสียขาไปข้างหนึ่ง เมื่อชีวิตของเขาอับจนหนทาง เขาจึงต้องมามีอาชีพเป็นมือปืนรับจ้างคอยฆ่าคน โดยมีอาชีพเป็นช่างตัดผมบังหน้า แต่แม้ว่าจ่าสมหมายจะทำอาชีพมือปืน แต่ในอีกด้าน เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปกับสาธิต (ด.ช. สุรชัย จำนงค์เวศ) ลูกชาย และนิด (ชาลิตา ปัทมพันธุ์) น้องเมียของเขา


แม้จ่าสมหมายจะก่อคดีอุกอาจ แต่สารวัตรธนู (รณ ฤทธิชัย) ซึ่งรับผิดชอบคดีมือปืนรับจ้างกลับไม่จริงจังในการทำคดีเรื่องนี้มากนัก จนหมวดแฉล้ม ลูกน้องของสารวัตรธนูได้เข้ามาสืบสวนและพบว่ามือปืนที่ก่อคดี คือจ่าสมหมาย ซึ่งเคยเป็นลูกน้องเก่าของสารวัตรธนู ในสมรภูมิรบที่ลาว ขณะที่ฝ่ายทหารไทยกำลังจะพ่ายแพ้ และสารวัตรธนูกำลังเพลี่ยงพล้ำ จ่าสมหมายได้ช่วยชีวิตของสารวัตรธนูไว้ แต่จ่าสมหมายกลับโดนระเบิดจนขาขาด และสารวัตรธนูก็ทิ้งจ่าสมหมายให้ต้องเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามแต่เพียงลำพัง


เมื่อสาธิต ลูกชายของเขาป่วยหนัก จ่าสมหมายตัดสินใจรับงานใหญ่เพื่อหาเงินมารักษาลูก สารวัตรธนูได้วางแผนที่จะจับกุมจ่าสมหมาย ทำให้ทั้งคู่ต้องเผชิญหน้ากันอีกครั้ง 


การกำกับของ  ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ในมือปืน น่าสนใจจากการเปิดภาพยนตร์ ด้วยฉากลองเทคด้วยกล้องแฮนด์เฮล ที่จ่าสมหมายออกสังหารเหยื่อ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ล้ำสมัยมากสำหรับภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลานั้น รวมถึงตอนจบที่ได้ทิ้งปมบางประการให้ผู้ชมกลับไปคิดต่อ


ภาพยนตร์เรื่อง มือปืน เลือกที่จะเล่าถึงชีวิตของมือปืน ที่มักเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มือปืนอย่างจ่าสมหมาย คือคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งในสังคมที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับโชคชะตาและความอยุติธรรมที่ได้รับ แม้ว่าสิ่งที่เขาทำคือการฆ่า ขณะที่ตัวละครสารวัตรธนู สะท้อนถึงผู้ใช้กฎหมายที่กลายเป็นฝั่งตรงข้ามกับผู้คนตัวเล็กๆ ในสังคม ที่ต้องถูกเบียดบังจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้ต้องเลือกเส้นทางเดินชีวิตที่สวนทางกับกระบวนการยุติธรรม


งานสร้างของมือปืน เป็นงานที่ได้มาตรฐานสูง เช่นเดียวกับงานอื่นๆ ของ  ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ด้วยการเป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มที่บันทึกเสียงจริงของนักแสดง ซึ่งในปี  2526 เป็นสิ่งที่ผู้สร้างรายอื่นๆ มองว่าฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น เช่นเดียวกับดนตรีประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้สร้างรายอื่นในเวลานั้นมองว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งขึ้นมาใหม่ เพราะใช้การเปิดแผ่นเสียงเพลงประกอบของหนังต่างประเทศเอาก็ได้ แต่ ในมือปืน ม.จ.ชาตรีเฉลิม ได้ให้พิเศษ สังข์สุวรรณ ทำดนตรีประกอบขึ้นมา ซึ่งงานดนตรีของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนทำให้พิเศษได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่


สรพงศ์ ก็พลิกบทบาทและภาพลักษณ์ของความเป็นพระเอก มารับบทเป็นมือปืนขาพิการ ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยการอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกฎหมาย ซึ่งก็เป็นบทบาทพิเศษ ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้