35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 123.17 นาที
บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้จัดการกองถ่าย ยุวดี ไทยหิรัญ
ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์
ผู้ช่วยผู้กำกับ บุรณี รัชไชยบุญ, จิรศักดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ไพโรจน์ โรจน์เลิศจรรยา
ผู้กำกับบท พิชิต นิยมศิริ
ผู้เขียนบท วิศณุศิษย์
ผู้ประพันธ์ ศรีบูรพา
ผู้กำกับภาพ สมบูรณ์สุข
ผู้ถ่ายภาพ ร่วมใจ จำเป็น
ผู้ถ่ายภาพนิ่ง ปนัดดา นิยมศิริ
ผู้กำกับศิลป์ นิยมศิลป
ผู้สร้างฉาก ประสรร เพชรพงษ์
เครื่องแต่งกาย ไข่บูติค
ควบคุมเครื่องแต่งกาย รินทร์ พุ่มพวง
แต่งหน้า/แต่งผม ยิ้มยูนิแฮร์
เทคนิคภาพ โชน บุนนาค
บันทึกเสียง แครปเปอร์บอร์ด
มิกซ์เสียง ซีเนซาวด์
ผู้ลำดับภาพ สยามสตูดิโอ
ผู้ประพันธ์เพลง เสกสรร สอนอิ่มศาสตร์
ผู้บริจาค สมบูรณ์สุข นิยมศิริ
ผู้แสดง อำพล ลำพูน, นาถยา แดงบุหงา, จุรี โอศิริ, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อำนวย ศิริจันทร์, สุรีย์พร เริงอารมณ์, สุรชัย แก้วชูศิลป, ญาณี จงวิสุทธิ์
รางวัล ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2528 ออกแบบจัดเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยม ไข่บูติค, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ซีเนซาวด์
ข้างหลังภาพ เป็นบทประพันธ์ของศรีบูรพา ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ มากที่สุด อาทิเช่น ละครโทรทัศน์ ทาง ททบ. 5 ในปี 2524 ที่กนกวรรณ ด่านอุดม เป็นผู้จัด ตลอดจนภาพยนตร์ฉบับปี 2544 ของ เชิด ทรงศรี และ ละครเวที ข้างหลังภาพ เดอะ มิวสิคัล ของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ในปี 2551 ซึ่งในการสร้างแต่ละครั้ง ผู้สร้างจะสร้างโดยตีความตามจินตนาการของผู้สร้าง ทำให้ในแต่ละฉบับ มีจุดที่แตกต่างกันออกไป
ข้างหลังภาพ ฉบับปี 2528 ที่กำกับภาพยนตร์โดย เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นอีกครั้งที่มีการหยิบเอานวนิยายเรื่องนี้ของศรีบูรพามาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้กับไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น โดยได้ยกกองไปถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่นเกือบตลอดทั้งเรื่อง โดยเปี๊ยก ได้เลือกอำพล ลำพูน ซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในขณะนั้น จากภาพยนตร์เรื่อง วัยระเริง และ น้ำพุ มาแสดงคู่กับนางเอกใหม่ที่ก้าวมาจากการเล่นละครโทรทัศน์ และ การเป็นพิธีกร คือ นาถยา แดงบุหงา
เช่นเดียวกับนวนิยาย ข้างหลังภาพในฉบับปี 2528 เปิดตัวด้วยฉากที่
นพพรในวัยทำงาน ได้นำภาพภาพหนึ่งมาแขวนในห้องของเขา จากนั้น เรื่องราวของข้างหลังภาพ ก็ได้ถูกเผยออกมา 6 ปีก่อนหน้า นพพรเป็นนักศึกษาในประเทศญี่ปุ่น เจ้าคุณอธิการบดี ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นพร้อมภรรยา ที่สถานีรถไฟโตเกียว นพพรได้พบกับ ม.ร.ว.กีรติเป็นครั้งแรก ม.ร.ว.กีรติ มีวัยที่ต่างจากเจ้าคุณอธิการบดีผู้เป็นสามีอย่างมาก ด้วยความกังวลว่า ม.ร.ว.กีรติ จะรู้สึกเบื่อ เจ้าคุณอธิการบดีจึงได้ฝากให้นพพร พา ม.ร.ว.กีรติ ไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น ความใกล้ชิดกัน ทำให้นพพรเกิดความรู้สึกพิเศษต่อ ม.ร.ว.กีรติ แม้จะรู้ว่า ม.ร.ว.กีรติ ได้แต่งงานแล้วก็ตาม
จุดหักเหสำคัญของข้างหลังภาพ อยู่ที่ฉากที่ธารน้ำตกมิตาเกะ ที่ซึ่งนพพรได้สารภาพความในใจกับ ม.ร.ว.กีรติ แต่เธอได้ปฏิเสธนพพร โดยให้เหตุผลถึงความเหมาะสม
6 ปีผ่านไป นพพรได้เดินทางกลับสยาม ขณะที่เจ้าคุณอธิการบดีได้ถึงแก่กรรม และ ม.ร.ว.กีรติ ได้กลายเป็นหม้าย นพพรได้พบกับเธออีกครั้ง แต่ความรู้สึกของเขาที่มีต่อเธอได้เปลี่ยนไป นพพรได้แต่งงานกับคู่หมั้นที่ครอบครัวจัดหาให้ แต่หลังจากที่นพพรแต่งงานได้สองเดือน เขาได้ทราบข่าวว่า ม.ร.ว.กีรติ กำลังป่วยด้วยวัณโรค นพพรได้เดินทางไปเยี่ยม ม.ร.ว.กีรติ และ ม.ร.ว.กีรติ ก็ได้มอบภาพวาดของธารน้ำตกมิตาเกะให้กับเขา และกล่าวคำตัดพ้อ ว่านพพรไม่เคยเข้าใจในความรู้สึกที่แท้จริงของเธอเลย ไม่กี่วันต่อมา ม.ร.ว. กีรติก็สิ้นใจลงพร้อมด้วยข้อความชิ้นสุดท้ายที่เธอเขียนถึงนพพรว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
แม้ข้างหลังภาพ จะไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวในยุคสมัยนั้นที่เดินทางไปถ่ายที่ประเทศญี่ปุ่น แต่การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องข้างหลังภาพในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความที่เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นก่อนหน้าราว 50 ปี ซึ่งสถานที่ต่างๆในญี่ปุ่นตามที่ปรากฏในนวนิยายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเกือบทั้งหมดแล้ว อีกทั้งธารน้ำตกมิตาเกะ ก็เป็นเพียงสถานที่ในจินตนาการของศรีบูรพาที่ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าธารน้ำตกนี้นำต้นแบบมาจากสถานที่ใดในญี่ปุ่นกันแน่ แต่ทีมงานสร้างภาพยนตร์ ก็สามารถถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในญี่ปุ่น ออกมาให้ดูสมจริงได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า ข้างหลังภาพ เป็นภาพยนตร์ที่มีงานสร้างปราณีตมากที่สุดเรื่องหนึ่งในช่วงเวลานั้น
สิ่งที่เป็นจุดโดดเด่นของข้างหลังภาพ ฉบับของ เปี๊ยก โปสเตอร์ อยู่ที่การดำเนินเรื่องราวโดยซื่อสัตย์ต่อบทประพันธ์ โดยถ่ายทอดตัวอักษรของศรีบูรพาให้กลายมาเป็นคำพูดของตัวละครได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แม้ว่าอาจมีการสอดแทรกบทบาทบางตอนเพิ่มเติมเข้าไป แต่ก็ไม่ได้ดูขัดกับความเป็นข้างหลังภาพตามบทประพันธ์
แม้ว่านาถยา แดงบุหงา จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ในเวลานั้น และตัวเธอไม่ได้มีอายุที่ต่างกับอำพล ลำพูน ผู้รับบทเป็นนพพร มากเท่า ม.ร.ว.กีรติ กับ นพพร ในบทประพันธ์ แต่เธอก็สามารถถ่ายทอดบทบาท และคำพูดของ ม.ร.ว.กีรติ ให้ผู้ชมเชื่อได้ว่า เธอคือ ม.ร.ว.กีรติ จริงๆ ซึ่งภายหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย นาถยา ก็ได้กลายเป็นนางเอกคนสำคัญคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์