เกรซแลนด์ GRACELAND

35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 17.49 นาที

ผู้อำนวยการสร้าง เจตนิพิฐ ธีระกุลชาญยุทธ, โสฬส สุขุม

ผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์

ผู้ช่วยผู้กำกับ โมไนย ธาราศักดิ์

ผู้เขียนบท อโนชา สุวิชากรพงศ์

ผู้กำกับภาพ MING KAI LEUNG

ผู้กำกับศิลป์ การัณยภาส ขำสิน

ผู้บันทึกเสียง ทีฆะเดช วัชรธานินท์

ผู้ออกแบบเสียง อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร

ผู้ลำดับภาพ ลี ชาตะเมธีกุล

ผู้ทำดนตรีประกอบ เจตมนต์ มละโยธา

ผู้บริจาค อโนชา สุวิชากรพงศ์

ผู้แสดง สราวุธ มาตรทอง, เจลฬาริน ชาญเชิงรบ


ในวงการภาพยนตร์ไทย มีผู้กำกับภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงอยู่ไม่มากนัก และในบรรดาของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงรุ่นใหม่ของไทย อาจกล่าวได้ว่า อโนชา สุวิชากรพงศ์ คือชื่อที่น่าจับตามองมากที่สุด ด้วยความสำเร็จในระดับนานาชาติที่เธอได้รับจากภาพยนตร์เรื่อง เจ้านกกระจอก และ ดาวคะนอง


แต่ผลงานภาพยนตร์สั้นที่สร้างชื่อให้กับเธอ คือ เกรซแลนด์ (Graceland) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เธอทำในขณะที่ยังศึกษาด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา และจวบจนปัจจุบัน เกรซแลนด์ คือภาพยนตร์สั้นของไทยเพียงเรื่องเดียว ที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โดยภาพยนตร์ได้เข้าฉายในสาย Cinefondation ซึ่งเป็นสายประกวดภาพยนตร์สั้น สำหรับภาพยนตร์สั้นที่กำกับโดยนักศึกษาภาพยนตร์จากทั่วโลก


ใน เกรซแลนด์ ตัวละครเอกของเรื่อง คือ จ้อน (สราวุธ มาตรทอง) เด็กบาร์ที่แต่งกายเลียนแบบเอลวิส เพรสลีย์ นั่งรถไปกับหญิงสาวลึกลับคนหนึ่ง  (เจลฬาริน ชาญเชิงรบ)  ในคืนวันหนึ่งทั้งสองคนนั่งรถเข้าไปในบริเวณป่า เมื่อรถจอดลง ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เขาลงจากรถ  ก่อนที่หญิงสาวจะเดินทางเข้าป่าไป โดยที่จ้อนได้ตามเข้าไปในป่าด้วย และที่ในป่านั้นเอง ที่ทั้งคู่ได้รับรู้ซึ่งบาดแผลในชีวิตของกันและกัน


อโนชามีความสนใจในคาแร็กเตอร์ของนักแสดงเลียนแบบเอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งเป็นราชาแห่งร็อคแอนด์โรลล์ ที่แม้แต่ในประเทศไทยเอง กลุ่มคนที่ชื่นชอบในเอลวิส เพรสลีย์ก็ยังคงมารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมระลึกถึงเอลวิส และแต่งกายเลียนแบบเขาในทุกปี จากจุดนี้ จึงกลายมาเป็นคาแร็กเตอร์ของจ้อน ที่สราวุธ มาตรทอง เป็นผู้แสดง และเชื่อมโยงกับชื่อภาพยนตร์ เกรซแลนด์ ซึ่งเป็นชื่อของคฤหาสน์ของเอลวิส เพรสลีย์ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คำว่า เกรซแลนด์ อาจมีความหมายได้หลายประการตามแต่การตีความของผู้ชม


เกรซแลนด์ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ได้อย่างสวยงาม ด้วยการกำกับภาพของหมิง ไค่ เหลียง เพื่อนร่วมชั้นเรียนของอโนชา ที่ในเวลาต่อมา จึงกลายมาเป็นผู้กำกับภาพคู่บุญของเธอ ขณะที่งานตัดต่อของลี ชาตะเมธีกุล ก็เพิ่มมิติให้กับเกรซแลนด์ได้อย่างน่าสนใจ


ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เกรซแลนด์ เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากงานของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ดังจะเห็นจากฉากขับรถของตัวละครเอกไปยังป่า ที่ชวนให้นึกถึง ฉากขับรถใน สุดเสน่หา ตลอดจนการที่สองตัวละครหลักของเรื่องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นป่า แต่อโนชา ก็ทำงานชิ้นนี้ออกมาให้มีรูปแบบเป็นสไตล์ของตัวเธอเอง ที่สไตล์ของเธอจะพัฒนาต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่องที่เธอสร้างในภายหลัง