ขนมเปี๊ยะของอากง

ฟิล์ม 16 มม. / สี / เงียบ / 19 นาที

ผู้สร้าง ยุงจัง แซ่อื๊อ

ผู้บริจาค อุดม ศรีเมลืองกุล


เหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้น ณ ร้านขนมเปี๊ยะ อื้อเล่งเฮง บนถนนแปลงนาม เจ้าของร้าน เถ้าแก่ยุงจัง แซ่อื๊อ ได้พาเข้าไปดูขั้นตอนการทำขนม โดยจะเห็นคนงานกำลังปอกเปลือกฟักเขียว (ตังกวย) หั่นเป็นแผ่น เตรียมทำ ขนมตังกวยแฉะ (ฟักเชื่อมแห้งอย่างแผ่น) ซึ่งปัจจุบันไม่พบเห็นแล้ว พบเพียง ขนมกวยเต็ง (หั่นเป็นแท่ง) เถ้าแก่ยุจังกำลังทำเชื่อมฟักแผ่น และคุมเครื่องจักรในการกวน ขนมเหม่งทึ้ง หรือ หนึงทึ้ง ซึ่งคนไทยจะเรียก ขนมงาอ่อน ต้องใช้เวลากวนประมาณ 5-6 ชั่วโมง ต่อมาคนงานกำลังคั่ว ฉามั้ว (งาขาว) และกวน แปเต่าซา (ไส้ถั่วเหลือง) อีกทั้งเตรียมไส้ขนม ประกอบด้วยฟักเชื่อม มันหมูสับ และหอมซอย ต่อมาได้ทำ ขนมโงวหยิ่งเปี้ย (ขนมเปี๊ยะไหว้พระจันทร์ไส้เมล็ดผลไม้) มีส่วนประกอบ 5 ชนิด คือ เห่งยิ้ง (อัลมอนด์จีน), เมล็ดมะม่วงหิมพานต์, วอลนัท, กวยจี้ (เมล็ดแตงโม), งาขาว, ไข่เค็ม และอื่นๆ  ส่วนแผ่นเปลือกที่ใช้ห่อขนม ประกอบด้วย


น้ำเชื่อมปรุงแต่ง ผสมกับแป้งสาลี นวดคลึงให้เข้ากัน ขนมตั่วหล่าเปี้ย จะห่อด้วยกระดาษแก้ว เพราะเป็นขนมที่ราคาสูง ต้องรอให้เย็นตัวก่อนถึงจะห่อได้ มิฉะนั้น จะเกิดราขึ้นบนก้อนขนมเพราะไอน้ำคายตัวจากด้านใน และรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายในการทำขนมที่เป็นการให้ข้อมูลครบครันที่สุด โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องราวในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ขายดีของร้าน เถ้าแก่จะเกณฑ์ลูกหลานและเครือญาติมาช่วยขายของที่ โพ๊วโจ้ย (หน้าร้าน) และงานหลังร้าน นอกเหนือไปจากการจ้างคนงาน ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก


ฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับบริจาคจาก อุดม ศรีเมลืองกุล หลานของเถ้าแก่ยุจัง ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัท เวลลิงตัน ให้มาถ่ายทำไว้สำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ร้าน ซึ่งแม้เป็นเพียงการถ่ายทำขั้นตอนการทำขนมเปี๊ยะธรรมดาๆ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหลักฐานเพียงน้อยชิ้นที่เป็นภาพเคลื่อนไหว อันแสดงให้เห็นสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม การแต่งตัว ของชาวจีน-แต้จิ๋ว และชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ในพระนครก่อนปี 2500


สารคดีนี้แม้จะเป็นเพียงผลงานที่เกิดจากการผลิตในครอบครัว ทว่าเป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันหาชมได้ยากสมควรได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนสืบไป