[ภาพยนตร์โฆษณาสี่คิงส์]

ฟิล์ม 16 มม. / สี / เงียบ / 4.58 นาที  

ผู้สร้าง  แท้ ประกาศวุฒิสาร 

ผู้บริจาค แท้ ประกาศวุฒิสาร


ภาพยนตร์โฆษณาหนังไทยในยุค 16 มม. เรื่อง สี่คิงส์ ออกฉายเมื่อปี 2502 ภาพยนตร์ไทยยุคนี้ มีการแข่งขันทางการตลาดสูงมาก แต่ละเดือนมีหนังไทยออกมาฉายจำนวนมาก จึงต้องโฆษณาแข่งกันดุเดือดในทุกสื่อเท่าที่มี และภาพยนตร์โฆษณาในโรงคือหนึ่งในช่องทางนั้น แท้ ประกาศวุฒิสาร นับเป็นผู้สร้างหนังไทยที่มีบทบาทนำในการทำโฆษณา โดยเฉพาะการทำสปอตทางวิทยุ เป็นผู้ริเริ่มจ้างคนแต่งเพลงโฆษณาหนัง โดยนำทำนองเพลงสากลที่กำลังโด่งดังมาแปลงและใส่เนื้อหาประชาสัมพันธ์หนังเรื่องแรกที่ทำออกมาและประสบความสำเร็จ ติดหูติดปากคนไทยไปทั่วประเทศ คือโฆษณาภาพยนตร์เรื่อง “เห่าดง” ซึ่ง แท้ ประกาศวุฒิสาร สร้างขึ้นเมื่อ 2501 ซึ่งเพลงโฆษณาเห่าดงนี้ได้นำทำนองเพลง Wear My Ring Around Your Neck ของ เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งกำลังโด่งดังทั่วโลกในเวลานั้นมาใส่เนื้อไทย กลายเป็นเพลงโฆษณาหนังไทยที่ฮิตติดใจและปากคนไทยทั่วประเทศ และหลังจากนั้นผู้สร้างหนังไทยรายอื่นๆ ดำเนินรอยตามการประชาสัมพันธ์เช่นนี้จนเป็นขนบไปอีกนับสิบปี


ภาพยนตร์โฆษณาสี่คิงส์ นี้ เป็นหนังโฆษณาซึ่งคุณแท้ในฐานะผู้อำนวยการสร้างซึ่งเป็นตากล้องเอง ได้คิดและทำโฆษณาด้วยตัวเอง เริ่มต้นได้ถ่ายให้เห็นสภาพของโรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ในคืนรอบปฐมทัศน์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของหนังไทยยุค 16 มม. คือต้องจัดรอบปฐมทัศน์ มีการจัดรายการแสดงต่างๆ เช่น ละครย่อย ตลกจำอวด ดนตรี การโชว์ตัวของดารา และปิดท้ายด้วยการฉายหนังขายบัตร 20 บาททุกที่นั่ง และมักจัดเป็นรอบการกุศล มอบเงินให้กิจการสาธารณะกุศลต่างๆ หนังแสดงให้เห็นว่ารอบปฐมทัศน์ของ สี่คิงส์ มีคนดูหลั่งไหลไปชมกันคับคั่งจนเต็มทุกที่นั่ง เห็นบรรยากาศการแสดงบนเวที และบรรดาผู้ชมทั้งชาวบ้านแฟนหนังไทยทั่วไปและแขกเกียรติยศ จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวอย่างหนัง สี่คิงส์ ซึ่งคุณแท้คิดทำขึ้นเป็นพิเศษ ตัดต่อสลับระหว่างฉากในเรื่องและฉากที่ให้ตัวแสดงพูดเชิญชวนกับผู้ชม หนังโฆษณานี้ไม่ได้บันทึกเสียงในฟิล์ม แต่สันนิษฐานว่าในเวลาฉายโฆษณาในโรงจะแผ่นเสียงเพลงและสปอตวิทยุ หรืออาจใช้การพากย์หรือบรรยายสดประกอบ


หนังเรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างอันดีและหายาก ของแบบฉบับการโฆษณาหนังไทยยุค 16 มม. ซึ่งทำให้เราเห็นทั้งบรรยากาศความคึกคักของโรงหนังในยุคนั้น เห็นวิถีชีวิตการดูหนังในฐานะมหรสพมวลชนของสังคมไทย และเห็นรสนิยมของหนังไทยแท้ๆ