ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113.30 นาที
บทประพันธ์ สีฟ้า
บริษัทผู้สร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้กำกับการแสดง สักกะ จารุจินดา
ผู้แสดง สมบัติ เมทะนี, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ปัฐม์ ปัทมจิตร, Dana Myers, พอหทัย พุกกะณะสุต, อรสา พรหมประทาน, โขมพัสตร์ อรรถยา, โฉมฉาย ฉัตรวิไล, ขอใจ ฤทัยประชา, ระจิต ภิญโญวนิช, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, เฉลิมศักดิ์ เทียมมณี, Brad Bryant, Tony Antonio, อวบ สมชาติ
ภาพยนตร์ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ ในนามปากกาว่า “สีฟ้า” ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา ซึ่งต่างเป็นนักเขียนหญิงคนสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย กำกับโดย สักกะ จารุจินดา หนึ่งในผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ ผู้มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์สะท้อนสังคมเรื่อง ตลาดพรหมจารีย์ เมื่อ พ.ศ. 2516
เพื่อนรัก เล่ามิตรภาพและการผจญภัยของเด็กต่างเชื้อชาติ 3 คนที่อาศัยในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย ภุชงค์ เด็กชายชาวไทย ที่ถือกำเนิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจของพ่อผู้รับราชการกับแม่ซึ่งเป็นนักร้องกลางคืนในกรุงเทพฯ จิมมี่ เด็กชายลูกครึ่งอเมริกัน-เกาหลี ที่พ่อผู้เป็นทหารอเมริกันฝากเลี้ยงไว้กับบรรดาเมียเช่าคนไทย และ หมวย เด็กหญิงเชื้อสายจีน ผู้ถูกซื้อมาเลี้ยงเพื่อทำงานในร้านค้า วันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อตามหาแม่ของภุชงค์ แต่กลับต้องระหกระเหินจนได้ไปอาศัยอยู่ในบ้านของกลุ่มโสเภณีใจบุญ และเข้าไปพัวพันกับการสืบคดีของตำรวจที่กำลังตามหาเด็กสาว ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกกักขังไว้ในบ้านหลังนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงสะท้อนสังคมเช่นเดียวกับผลงานเรื่องก่อนหน้าของสักกะ แตกต่างที่สะท้อนผ่านสายตาของเด็ก ๆ ต่อปัญหาในสังคมทั้งเรื่องครอบครัว, การค้าประเวณี, การกดขี่ทางเพศ รวมไปถึงผลกระทบจากสงคราม โดยมีเพลงประกอบอันอ่อนโยนจากการประพันธ์ของ สุรพล โทณะวณิก ช่วยขับเน้นให้เห็นมุมมองแสนไร้เดียงสาของเด็ก ๆ ที่นำแสดงโดยนักแสดงเด็กหน้าใหม่ คือ ปัฐม์ ปัทมจิตร, Dana Myers และ พอหทัย พุกกะณะสุต โดยในการประกวดรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2520 เด็กหญิงพอหทัย พุกณะสุต ผู้รับบทเป็นหมวย ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงิน นักแสดงรุ่นเยาว์ ในขณะที่ตัวภาพยนตร์นั้นได้รางวัลพิเศษ ประเภทภาพยนตร์ส่งเสริมศีลธรรม-ประเพณี
เพื่อนรัก จึงเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของภาพยนตร์ไทยที่ใช้นักแสดงเด็กเป็นตัวละครหลักและถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังบันทึกสภาพสังคมไทยในช่วงปลายสงครามเวียดนามที่ “มหามิตร” อย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ และยังกระตุ้นเตือนให้ผู้ใหญ่หวนนึกถึงมิตรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ในวัยที่ยังไม่มีเงื่อนไขใดมาแบ่งแยก เพศ เชื้อชาติ พรมแดน หรืออุดมการณ์ทางการเมือง นอกเหนือไปจากนั้น เพื่อนรักยังมีคุณค่าในฐานะผลงานศิลปะที่เชิดชูความเป็นเด็กอย่างบริสุทธิ์ ดังคำอุทิศของผู้ประพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในตอนต้นของภาพยนตร์ว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ หากจะมีความดีอยู่บ้าง ผู้ประพันธ์ขออุทิศให้เด็กที่น่ารัก ซึ่งเกิดมาด้วยความบริสุทธิ์ เหมือน ๆ กันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กภาษาใดในโลก... โลกซึ่งกำลังคับแคบ และซึ่งมนุษย์ผู้ใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นทุกที”