ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 122.07 นาที
2535
บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
ผู้เขียนบท บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, แสงเพชร เสนีย์บดินทร์
ผู้กำกับภาพ วันชัย เล่งอิ้ว
ผู้กำกับศิลป์ เจดีย์ ศุภกาญจน์, ประดิษฐ์ นิลสนธิ
ผู้ลำดับภาพ พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์
ผู้ทำดนตรีประกอบ ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์
ผู้แสดง จักรกฤษณ์ อำมรัตน์, แอน ทองประสม, โมนิก้า แมคคลอรี่ย์, สายฟ้า เศรษฐบุตร, เจตน์ จารุพิจารณ์, บุสรินทร์ สุขสามัคคี, ปรีชา สุขสุวรรณ
ผู้บริจาค 1. ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น 2. บริษัท เทคนิคคัลเลอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ภาพยนตร์ที่มีฉากหลังเป็นโรงเรียนมัธยม และการเติบโตของวัยรุ่น มักถูกค่อนขอดว่าเป็นหนังที่ตื้นเขินและมุ่งตอบสนองการตลาดในหมู่เด็กวัยรุ่นเป็นสำคัญ อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป ของผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล มีปัจจัยในการ “ขาย” อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ของกลุ่มเด็กนักเรียน ดารานำที่หน้าตาดี (และต่อมากลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงหลายคน เช่น แอน ทองประสม, แคทลียา อิงลิช, สายธาร นิยมการณ์, กลุ่มนักร้องวงบอยสเก๊าท์, จักรกฤษณ์ อำมรัตน์) แต่ด้วยความสามารถของบัณฑิต ทำให้ภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ เสียงวิจารณ์ และรางวัล เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าจดจำของบัณฑิต และยังได้รับการพูดถึงมาจนปัจจุบัน
อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เมื่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์และสายศิลป์ไม่ถูกกัน มักจะหาเรื่องแกล้งกันเสมอ จนครูในโรงเรียนต่างพากันเอือมระอา
นอกจากนี้ โรงเรียนได้รับครูฝึกสอนเข้ามาใหม่ หนึ่งในนั้นคือทองเอก(จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ซึ่ง แต้ว (สายธาร นิยมการณ์) นักเรียนสาวสายศิลป์แอบชื่นชม ความสัมพันธ์ระหว่างครูฝึกสอนกับนักเรียน กลายเป็นบทเรียนชีวิตสำคัญให้นักเรียนทั้งรุ่นได้เติบโตขึ้น
การใช้ความตลกขบขันเป็นรสชาตินำ แต่กลายเป็นว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับยิ่งทวีความหนักแน่นในความทรงจำ และพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกความรู้สึกแห่งช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ท่ามกลางมุขตลกคือความแยบยลในการนำเสนอเรื่องราวของมิตรภาพ และการเติบโตทางอารมณ์และความคิดของกลุ่มเด็กนักเรียน นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวของวัยรุ่นเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการแสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึก และจับจ้องมองความสุขและความทุกข์อันเป็นส่วนประกอบในการก้าวผ่านวัยสู่การเป็นผู้ใหญ่
ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการสร้างภาพยนตร์ที่มีจุดศูนย์กลางเป็นชีวิตของเด็กมัธยมอีกมากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นยุคสมัยหนึ่งของภาพยนตร์ไทยที่เป็นความเฟื่องฟูของภาพยนตร์กลุ่มนี้อย่างชัดเจน