ก้านกล้วย

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 91 นาที

บริษัทสร้าง กันตนา แอนิเมชั่น, สหมงคลฟิล์ม

ผู้อำนวยการสร้าง จาฤก กัลย์จาฤก, เอ็กซัน บินหะซัน, นิรัตติศัย กัลย์จาฤก

ผู้กำกับ คมภิญญ์ เข็มกำเนิด

ผู้เขียนบท อมราพร แผ่นดินทอง

ผู้กำกับศิลป์ พัชนุ โนรี, ทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์

ผู้ลำดับภาพ พรสวรรค์ ศรีบุญวงษ์

ผู้ทำดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์


ก้านกล้วย เป็นแอนิเมชั่นสามมิติฝีมือคนไทย กำกับโดย คมภิญญ์ เข็มกำเนิด พร้อมทีมงานนักแอนิเมชั่นทั้งไทยและต่างชาติ โดยนำเกร็ดพงศวดารไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยามาเล่าผ่านตัวละครหลัก “ก้านกล้วย” หรือชื่อตามพงศาวดารคือ เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างวีรบุรุษร่วมกู้ชาติซึ่งมีลักษณะคล้ายคชลักษณ์ของช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ร่วมรบเคียงคู่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนสามารถเอาชนะในศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ


การเล่าเรื่องในพงศาวดารให้ผู้ชมได้เข้าใจทั่วถึงทั้งครอบครัวคือจุดเด่นที่ทำให้ ก้านกล้วย สามารถถ่ายทอดกุศโลบายเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกต่อสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ ผ่านแอนิเมชั่นที่ทำหน้าที่สร้างความบันเทิงให้ผู้ชมทุกเพศทุกวัย ศูนย์กลางของเรื่องจึงเป็นสิ่งที่ผู้ชมสัมผัสได้โดยง่ายคือเรื่องความรักที่ตัวละครมีต่อสิ่งรอบตัวก่อนจะขยายความสู่เรื่องหน้าที่และประเทศชาติ 


ในด้านงานสร้าง ก้านกล้วย เป็นแอนิเมชั่นไทยที่มีคุณภาพงานสร้างระดับสากลที่สุดในช่วงเวลานั้น มีการใช้โครงเรื่องที่คงเอกลักษณ์และถ่ายทอดความเป็นไทยด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมและประเพณีไทย แม้ไม่ใช่การ์ตูนไทยเรื่องแรกสร้างขึ้นแต่ก็เป็นการ์ตูนไทยเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ โดยได้รับการบันทึกให้เป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในพ.ศ. 2549  ด้วยรายได้ 98  ล้านบาท ทั้งยังได้รับกระแสตอบรับจากที่ดีผู้ชมในวงกว้าง และจากกระแสความนิยมนั้นเอง ทำให้ ก้านกล้วย ได้ถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนสำหรับออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 โดยใช้ชื่อว่า ก้านกล้วย ผจญภัย และสร้างเป็นภาพยนตร์ภาคต่อใน ก้านกล้วย 2 ออกฉายใน พ.ศ. 2552 


ก้านกล้วย ยังได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก เช่น รางวัล Best Feature Film จากการประกวดแอนิเมชัน Animadrid  2006 ที่ประเทศสเปน และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 16 จากความสำเร็จดังกล่าวมานั้น ก้านกล้วย จึงส่งผลต่อให้วงการแอนิเมชั่นไทยได้สร้างแอนิเมชั่นไทยเพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา นำไปสู่การต่อยอดเพื่อพัฒนาวงการแอนิเมชั่นไทยในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน