ชมสยาม SEE SIAM (ไม่สมบูรณ์)

ฟิล์ม 35 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 25 นาที

ผู้สร้าง กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง

ภาพยนตร์ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2473 โดยนำภาพบ้านเมืองที่เคยถ่ายไว้ในคราวต่าง ๆ มาเรียบเรียงใหม่ สันนิษฐานว่า พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ทรงก่อตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว และทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้โปรดให้สร้างภาพยนตร์นี้ขึ้น เพื่อส่งไปฉายยังต่างประเทศเป็นการเชิญชวนชาวต่างชาติมาเที่ยวสยาม เนื่องจากเวลานั้น เริ่มมีชาวยุโรปและอเมริกานิยมเดินทางมาท่องเที่ยวทางเอเชีย ในขณะเดียวกับที่สยามได้สร้างทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสายใต้ที่เชื่อมกับทางรถไฟของมลายู และสายตะวันออกที่เชื่อมกับทางรถไฟอินโดจีนของฝรั่งเศสที่อรัญประเทศ รวมถึงสายเหนือซึ่งขึ้นไปถึงเชียงใหม่  


หอภาพยนตร์ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้เพียง 2 ม้วน โดยแต่ละม้วน ต่างปรากฏชื่อภาพยนตร์และคำบรรยายในตอนต้นให้ทราบว่า สร้างโดย กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง และถ่ายโดย หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต หัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์ฯ แต่ในม้วนที่ 1 ทั้งชื่อภาพยนตร์และคำบรรยายดังกล่าวล้วนเป็นภาษาอังกฤษ  ในขณะที่ม้วนที่ 2 มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ลักษณะการจัดทำคำบรรยายที่ต้องเริ่มแนะนำชื่อและผู้สร้างใหม่ในม้วนที่ 2 รวมถึงภาษาที่ใช้แตกต่างกันนี้ ทำให้สันนิษฐานว่า ฟิล์ม 2 ม้วนที่พบ อาจไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่อฉายต่อกันในคราวเดียว  หากแต่เป็นภาพยนตร์ชุดที่มีลำดับเรื่องกำกับ และฉายแยกกัน รวมทั้งอาจมีมากกว่า 2 ม้วนที่พบ 


ภาพยนตร์ม้วนแรก ซึ่งปรากฏชื่อภาษาอังกฤษว่า “SEE SIAM NO. 1” บนฉากหลังที่เป็นภาพวัดพระแก้ว เริ่มเล่าเรื่องด้วยอารัมภบทประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยแสดงแผนที่และข้อความอักษรภาษาอังกฤษบรรยายอย่างยาวเหยียดให้เห็นว่าสยามเป็นประเทศที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีความทันสมัยและวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ยาวนาน ไม่มีปัญหาการเมือง และเป็นดินแดนสมควรที่จะมาเยือน  จากนั้นแสดงภาพการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าสู่สยามโดยทางรถไฟสายใต้ ซึ่งสามารถเดินทางจากสิงคโปร์มากรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกสบาย ให้เห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกำลังรับประทานอาหารในรถเสบียงที่สะอาดและดูดีเหมือนในภัตตาคาร เห็นทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟ  ถัดไปเป็นภาพนักท่องเที่ยวชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว และโบราณสถานที่ลพบุรี จากนั้นจึงนำไปชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือนแพริมน้ำ และเรือยนต์สัญจรขวักไขว่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นงานชักพระวัดนางชี และปรากฏให้เห็นพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชมารค เห็นขบวนแห่เรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับบนเรือสุพรรณหงส์ รวมทั้งยังถ่ายทอดประเพณีบวชนาคของชายชาวสยาม ก่อนที่ภาพยนตร์ฉบับที่พบจะจบลงอย่างไม่สมบูรณ์ ด้วยภาพบันทึกการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยกลางแจ้งแห่งหนึ่ง 


อีกม้วนหนึ่ง ชื่อ “ชมสยาม ม้วนที่ 2 SEE SIAM NO. 2” เริ่มด้วยตัวอักษรบรรยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับสยาม ว่าเป็นประเทศเอกราชหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยทั่วทุกแห่งในสยาม เพราะมีกฎหมายที่เจริญแล้ว มีประชากร 10 ล้านคน สินค้าส่งออกคือ ข้าว ไม้สัก และดีบุก สินค้าเข้าคือ ของใช้สอย เครื่องเหล็ก น้ำมันและเครื่องจักร จากนั้นจึงนำชมภาพพาโนรามาทางอากาศของพระนคร ถ่ายจากเครนที่กำลังใช้ก่อสร้างสะพานพุทธ ถัดไปเป็นพิธีโล้ชิงช้าซึ่งจัดในเดือนมกราคมทุกปี โดยมีพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ทอดพระเนตร จากนั้นจึงเป็นงานไหว้พระที่เขางู ราชบุรี การจับปลาด้วยเครื่องมือพื้นบ้านที่สวรรคโลก โบราณวัตถุที่สวรรคโลก ตามลำดับ ปิดท้ายด้วยพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก ซึ่งภาพยนตร์บรรยายว่า มีช้างเผือกเกิดขึ้นในต้นรัชกาลที่ 7 ช้างเผือกเป็นช้างสำคัญคู่พระเจ้าแผ่นดินและบ้านเมือง เป็นสัตว์ประจำชาติ ประชาชนจึงยินดีดังที่ผู้ชมจะเห็น ภาพยนตร์แสดงให้เห็นงานแห่ต้อนรับช้างเผือกที่เดินทางจากภาคเหนือทางรถไฟมากรุงเทพฯ ประชาชนหมู่เหล่าต่าง ๆ แต่งขบวนแห่สมโภชช้าง แห่ไปตามถนน และจบลงด้วยคำบรรยาย “ชมสยาม อวสาน SEE SIAM THE END”


แม้จะยังไม่ครบสมบูรณ์ และฟิล์มภาพยนตร์หลายส่วนได้ชำรุดเสียหาย แต่ ชมสยาม หรือ SEE SIAM ที่เหลืออยู่นี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ในการส่งเสริมภาพลักษณ์และพัฒนาประเทศ รวมทั้งทำให้ได้ประจักษ์กับฝีมือของหลวงกลการเจนจิต ที่ทำให้ผู้คนในยุคนั้นต่างเรียกขานหนังของกรมรถไฟว่า “หนังหลวงกล” นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าในฐานะภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุดแรกของสยาม ยุคก่อนที่นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกันเข้ามา และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบั