เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่)

ฟิล์ม 35 มม. / ขาวดำ / เสียง / 15.08 นาที

บริษัทสร้าง ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง

ผู้อำนวยการสร้าง มานิต วสุวัต

ผู้ประพันธ์ เชื้อ อินทรทูต

ผู้กำกับ ศรีสุข วสุวัต, เชื้อ อินทรทูต

ผู้ถ่ายภาพ หลวงกลการเจนจิต, ศรีศุข วสุวัต

ผู้บันทึกเสียง กระเศียร วสุวัต

ผู้แสดง ราศรี เพ็ญงาม, ปลอบ ผลาชีวะ, จำรัส สุวคนธ์, โกศล วสุวัต,  ฉวี จุลรัตน์, หลวงภรตกรรมโกศล, เลื่อน กมลรัตน์, แนม สุวรรณแพทย์


พี่น้องตระกูลวสุวัต เป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในหน้าในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย พวกเขาเป็นผู้เริ่มต้นนับหนึ่งให้แก่วงการหนังไทย ด้วยการสร้างภาพยนตร์เงียบเรื่อง โชคสองชั้น ในนาม “กรุงเทพ ภาพยนต์บริษัท” เมื่อ พ.ศ. 2470 ซึ่งได้รับการจารึกว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ต่อมา ปี พ.ศ. 2473 พวกเขาได้ริเริ่มบันทึกเสียงลงในภาพยนตร์ได้เป็นเจ้าแรก และพัฒนาจนสามารถสร้าง หลงทาง ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของไทย ออกฉายเป็นการฉลอง 150 ปี กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้สำเร็จ จากนั้นจึงตัดสินใจบุกเบิกสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานแห่งแรกของประเทศ ที่ทุ่งบางกะปิ ถนนอโศก แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 ตั้งชื่อโรงถ่ายว่า “ภาพยนต์เสียงศรีกรุง” ผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีราว 40-50 เรื่อง และภาพยนตร์เรื่องปีละ 3-4 เรื่อง ก่อนจะต้องยุติกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ลง เพราะผลกระทบที่ได้รับจากภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 2 ผนวกกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2485 พร้อม ๆ กับการเข้าสู่ยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยทั่วประเทศ


อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยในยุคเริ่มต้น แต่ผลงานภาพยนตร์ของพี่น้องวสุวัตกลับสูญหายไปเกือบหมดสิ้น โดยเฉพาะในยุคโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” และสามารถผลิตภาพยนตร์ออกมาได้เกือบ 20 เรื่อง ปัจจุบัน ผลงานเหล่านี้กลับเหลือรอดมาแค่เศษฟิล์มจากภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2479 เรื่อง เลือดชาวนา ซึ่งสามารถนำมาฉายให้คนรุ่นหลังดูได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น


หอภาพยนตร์ได้ค้นพบเศษฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ในกรุภาพยนตร์ของ เนย วรรณงาม เจ้าของสายหนังเฉลิมวัฒนา และโรงภาพยนตร์หลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทายาทของเนยได้มอบให้ เมื่อ พ.ศ. 2528 พร้อมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงภาพยนตร์ โดยเศษฟิล์มภาพยนตร์ เลือดชาวนา ที่เหลืออยู่ประมาณ 1,300 ฟุตนี้ ถูกเก็บปะปนอยู่กับบรรดาฟิล์มภาพยนตร์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งภาพยนตร์ข่าว สารคดี และภาพยนตร์เรื่อง ซึ่งเนยได้เก็บรักษาไว้บนห้องนอนโดยไม่มีใครทราบ จนครอบครัวค้นพบเมื่อเขาเสียชีวิต 


จากข้อมูลในสูจิบัตรของภาพยนตร์ เนื้อหาของ เลือดชาวนา ว่าด้วยความรักระหว่าง เปรม ปลอดภัย ลูกชาวนาเมืองอยุธยา กับ น้อย นาสวน ลูกสาวของ เนย เศรษฐีผู้กีดกันไม่ให้ทั้งคู่รักกันเพราะรังเกียจในความจนของเปรม และพยายามยกน้อยให้แต่งงานกับ เจือ จิตต์อารี หนุ่มชาวกรุงผู้ประทับใจในความงามของน้อย  ในเศษฟิล์มที่หลงเหลือมานี้ ทำให้เห็นฉากเด่น ๆ เช่น ฉากพรรคพวกของเปรมทะเลาะวิวาทกับเนยและเจือ ซึ่งเปรมเข้ามาห้ามแต่กลับถูกตำรวจจับ และฉากเตรียมงานแต่งของน้อยกับเจือ ซึ่งน้อยได้รำพันความทุกข์จากการถูกพ่อจับคลุมถุงชน และที่สำคัญ ยังปรากฏให้เห็นนักแสดงหลักของเรื่องครบทุกคน ทั้งพระเอก ปลอบ ผลาชีวะ นางเอก ราศรี เพ็ญงาม ผู้ร้าย หลวงภรตกรรมโกศล และพระรอง จำรัส สุวคนธ์ ซึ่งเริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ก่อนจะได้รับบทพระเอกในภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงในเวลาต่อมา และกลายเป็นดาราชายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 คู่กับ มานี สุมนนัฏ นางเอกคู่ขวัญ นอกจากนี้ยังมี แนม สุวรรณแพทย์ หัวหน้าแผนกฉากของโรงถ่าย ที่มารับบทตัวประกอบเป็นนายแพทย์ผู้รักษาแม่ของเปรม


เศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา จึงมีคุณค่าในฐานะตัวแทนผลงานของทีมงานผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด และเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยประเภทภาพยนตร์เรื่อง 35 มม. เสียงในฟิล์มตามแบบมาตรฐานสากลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ รวมทั้งเป็นหลักฐานอันหาได้ยากยิ่ง ต่อการศึกษาเรื่องราวที่ยังคงพร่าเลือน ในช่วงเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย