ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 12.42 นาที
ผู้สร้าง คณะ LEDGER ธนาคารมณฑล
กะเทยเป็นเหตุ เป็นภาพยนตร์สมัครเล่นแนวตลก ถ่ายทำด้วยฟิล์มรีเวอร์ซัลขาวดำ 16 มม. ความยาวประมาณ 12 นาที โดยใช้กลวิธีการเล่าแบบหนังเงียบ คือมีตัวอักษรบรรยายเหตุการณ์และบอกบทเจรจาขึ้นแทรกตลอดทั้งเรื่อง เริ่มต้นด้วยชื่อผู้สร้างคือ “คณะ LEDGER ธณาคารมณฑล” ที่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะถูกควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารเกษตร ภายใต้ชื่อ “ธนาคารกรุงไทย” เมื่อ พ.ศ. 2509 จากนั้นจึงปรากฏภาพชายหนุ่มแต่งกายและทำท่าทางล้อตราสัญลักษณ์ “เทวดาถือรวงข้าว” ของธนาคารมณฑล ตามมาด้วยข้อความต่อเนื่องกันว่า “เสนอโศรกนาฏกรรมชิ้นโบว์แดง เรื่อง” และ “กะเทยเป็นเหตุ” แล้วจึงเริ่มดำเนินเรื่อง
ภาพยนตร์เปิดเรื่องขึ้นในเวลาเย็นภายในสโมสรแห่งหนึ่ง ที่มีชายหนุ่มกลุ่มใหญ่กำลังสันทนาการทั้งดื่มกิน ดีดกีตาร์ และเล่นบิลเลียด ได้มีหญิงสาวผู้หนึ่งปรากฏกายขึ้น ความงามของเธอทำให้ชายที่เดินสวนกันด้านนอกต้องสะดุดล้มเพราะมัวแต่เหลียวมอง เธอเข้ามาในสโมสรเพื่อตามตัวคู่หมั้นที่กำลังติดพันกับบิลเลียด ระหว่างนั่งรอให้เขาเลิกเล่น ชายหนุ่มมือกีตาร์ได้มาเล่นเพลงเกี้ยวและแอบชวนเธอไปเที่ยวข้างนอก ทั้งคู่ไปยังทุ่งร้างแห่งหนึ่ง และนั่งลงพลอดรักกันใต้ต้นไม้ กระทั่งคู่หมั้นของหญิงสาวได้ตามมาพบ สองหนุ่มจึงเกิดวิวาทกันอุตลุต จนนายตำรวจที่กำลังนั่งปลดทุกข์อยู่บริเวณนั้นต้องไประงับเหตุ เมื่อเหตุการณ์สงบลง สาวงามกับนักดนตรีได้กลับไปพลอดรักต่อที่เดิม แต่นายตำรวจยังตามมาไล่หนุ่มนักดนตรีออกไป เพื่อหวังจะพลอดรักกับหญิงสาวเสียเอง แต่คราวนี้เธอไม่ยินยอม ทั้งคู่จึงยื้อยุดกันจนฝ่ายชายเผลอคว้าวิกผมของหญิงสาวหลุดออกมา เรื่องจึงเฉลยว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นกะเทย และจบลงด้วยภาพนายตำรวจนอนกอดวิกผมด้วยความผิดหวัง
หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ. 2536 จาก มานพ ศิลปี พร้อมด้วยหนังบ้านอีกจำนวนหนึ่ง มานพให้ข้อมูลว่าทั้งหมดเป็นผลงานการถ่ายทำของคุณอาคือ ชาลี ศิลปี นักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นผู้เป็นลูกชายของพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) นายช่างใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยสันนิษฐานว่า ชาลีซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานธนาคารมณฑล น่าจะถ่ายทำ กะเทยเป็นเหตุ ในช่วงปี พ.ศ. 2497 เนื่องจากฉากทุ่งร้างในเรื่องนั้น เป็นพื้นที่ในซอยเศรษฐบุตร ถนนสุขุมวิท ที่ชาลีกำลังปรับปรุงเพื่อเตรียมสร้างบ้าน และบ้านหลังนี้ได้ทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ใน พ.ศ. 2498
กะเทยเป็นเหตุ จึงเป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องกะเทยและใช้เป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ แม้จะทำออกมาให้ดูตลกขบขันอย่างที่พบกันได้กลาดเกลื่อนจากสื่อบันเทิงไทยทั่วไปมายาวนาน แต่การมีอยู่ของภาพยนตร์สมัครเล่นเรื่องนี้ได้ทำให้เห็นว่า กะเทยได้รับการยอมรับในสังคมไทยว่า “สวยเหมือน” หรือ “สวยกว่า” ผู้หญิงมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 ปี จนกลายเป็นศึกชิงนางอันชุลมุนในเรื่อง และที่สำคัญ ความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับกะเทยที่มีสถานะเป็นถึง “คู่หมั้น” นั้น ยังเป็นการนำเสนอที่ “ก้าวหน้า” อย่างที่แม้แต่ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถไปถึง
นอกจากจะเป็นหนึ่งใน “หนังสั้น” ของคนไทยยุคก่อน พ.ศ. 2500 เพียงไม่กี่เรื่องที่ยังคงหลงเหลืออยู่ กะเทยเป็นเหตุ จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่คนรุ่นหลังไม่อาจละเลย ในการสำรวจความเข้าใจและทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ