นางสาวโพระดก

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ / 138 นาที

บริษัทสร้าง แหลมทองภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง ทองปอนด์ คุณาวุฒิ

ผู้กำกับ คุณาวุฒิ

ผู้เขียนบท วิจิตร คุณาวุฒิ

ผู้กำกับภาพ ไพรัช สังวริบุตร

ผู้ลำดับภาพ สัตตบุษป์

ผู้กำกับศิลป์ ทนง วีระกุล

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ชโลธร

ผู้แสดง มิตร ชัยบัญชา, พิศมัย วิไลศักดิ์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, อดุลย์ ดุลยรัตน์, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, โสภา สถาพร, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, น้ำเงิน บุญหนัก, เยาวเรศ นิสากร, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, ทรงวุฒิ สุทธิเมธี, ล้อต๊อก, บังเละ


นางสาวโพระดก เป็นผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2508 ของ วิจิตร คุณาวุฒิ หรือ “คุณาวุฒิ”  ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนสำคัญและศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์คนแรกของประเทศ สร้างจากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” นักเขียนผู้เพิ่งประสบความสำเร็จจากนวนิยายเรื่อง “ลูกทาส” ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2507 โดยรพีพรได้ลองเขียนนวนิยายเรื่อง “นางสาวโพระดก” เพื่อให้เป็น “เรื่องสำหรับผู้หญิงอ่าน” เนื่องจากในเวลานั้น เรื่องแนวนี้กำลังได้รับความนิยมจากนักอ่านหญิงที่มีจำนวนมาก และเพียงแค่ตีพิมพ์ตอนแรกลงในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ คุณาวุฒิก็ได้ติดต่อขอจองเรื่องมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 


นางสาวโพระดก นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ พิศมัย วิไลศักดิ์ เล่าเรื่องราวของ โพระดก สกุณา สาวน้อยผู้ต้องผจญกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ ทั้งจากน้องสาวของพ่อเลี้ยง ผู้ริษยาที่เธอมีส่วนในมรดก จึงคบคิดให้หลานชายจับเธอมาเป็นภรรยา ทั้ง ๆ ที่เขามีเมียลับอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน คุณหญิงพิณ แม่ของเธอ ยังลักลอบมีสัมพันธ์กับทนายความประจำครอบครัว ต่อมา โพระดกได้ไปยังไร่กระต่ายเต้นของเพื่อนรักชื่อ สายสมร ที่ฉะเชิงเทรา และได้พบกับ ศล ทองปราย ทนายหนุ่มรูปงาม ผู้ได้รับการอุปการะจาก สายใจ แม่ของสายสมร ทั้งคู่มีความประทับใจต่อกัน เมื่อโพระดกกลับมายังกรุงเทพฯ สายใจซึ่งตรอมใจจากการที่ศลไม่รับรัก ได้สิ้นชีวิตลง ในพินัยกรรม เธอได้กำหนดให้ศลต้องแต่งงานกับสายสมร ศลจึงหนีมาสารภาพรักกับโพระดก สองสาวเพื่อนรักจึงผิดใจกัน พร้อม ๆ กับสถานการณ์ในบ้านของโพระดกที่กำลังตึงเครียด 


ท่ามกลางความสัมพันธ์ของตัวละครมากมาย คุณาวุฒิได้แสดงฝีมือในการเล่าเรื่องราวอันซับซ้อนให้กระชับและเพลิดเพลิน ด้วยการรับหน้าที่ทั้งเขียนบท กำกับ และตัดต่อ และแม้จะถ่ายทำเป็นภาพยนตร์พากย์ 16 มม. ตามขนบหนังไทยในยุคนั้น แต่ นางสาวโพระดก กลับมีความแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ อย่างเด่นชัด ทั้งการไม่ใช้ดาราตลกเป็นตัวชูโรง งานสร้างที่เต็มไปด้วยความประณีตพิถีพิถัน และเทคนิคการถ่ายทำที่มุ่งเน้นการใช้ศิลปะภาพยนตร์ชั้นสูงเพื่อสื่อความหมาย อย่างเช่นในฉากที่คุณหญิงพิณกำลังจะสิ้นใจ คุณาวุฒิเลือกตัดภาพจากภายในห้องที่นางเอกกำลังร้องเพลง “โพระดก” กล่อมแม่ ออกมาเป็นภาพด้านนอก ให้ผู้ชมเห็นเพียงบ้านทั้งหลังตั้งอยู่ในความมืดท่ามกลางท้องฟ้าที่กำลังคะนอง ทันใดนั้นไฟในบ้านก็สว่างขึ้น ก่อนจะค่อย ๆ ดับลงอย่างช้า ๆ คลอไปกับเสียงเพลงโพระดกที่แม่เคยร้องกล่อมลูกเมื่อยังเด็ก ฉากการตายที่ไม่เห็นแม้แต่ภาพตัวละครร้องไห้นี้ ได้เรียกน้ำตาจากทั้งผู้ชมและผู้พากย์จนกลายเป็นที่เลื่องลือ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ภายใต้เนื้อหาที่เป็นหนังรักกระจุ๋มกระจิ๋ม คุณาวุฒิกลับสามารถสอดแทรกความเป็นนักมนุษยนิยมที่เขามีอยู่เต็มเปี่ยม ออกมาได้อย่างลุ่มลึกและลงตัว   


ในขณะนั้น คุณาวุฒิมีฉายาว่า “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” จากการคว้ารางวัลพระสุรัสวดี หรือตุ๊กตาทองมาแล้วถึง 7 รางวัล ในหลากหลายสาขา ภายในเวลาเพียง 4 ปี แต่กลับยังไม่เคยเป็นเศรษฐีเงินล้าน เพราะหนังที่เขาลงทุนสร้างเอง ไม่เคยประสบความสำเร็จด้านรายได้เหมือนประสบความสำเร็จด้านรางวัล ในขณะที่เวลารับจ้างกำกับให้ผู้อื่น ภาพยนตร์นั้นกลับทำเงินล้านได้เป็นประจำ จนกระทั่ง นางสาวโพระดก ได้กลายเป็นผลงานเรื่องแรกที่เขาและครอบครัวลงทุนสร้างในนามบริษัทแหลมทองภาพยนตร์ และได้เงินล้านกลับคืนให้ชื่นใจ รวมทั้งทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับการแสดงยอดเยี่ยมมาครองได้ ในขณะที่ภาพยนตร์ยังได้รับอีก 2 รางวัล คือ ตุ๊กตาทอง สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม โดย ชโลทร และตุ๊กตาเงิน สาขาบทเสริมยอดเด่น โดย น้ำเงิน บุญหนัก นางสาวโพระดก จึงเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีทั้งสองทางอย่างแท้จริง


วิจิตร คุณาวุฒิ ไม่เคยปิดบังความใฝ่ฝันที่จะสร้างภาพยนตร์อันถึงพร้อมด้วยวิจิตรศิลป์และคุณค่าแห่งชีวิตธรรมดาสามัญ นอกเหนือไปจากงานพาณิชยศิลป์ที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว อย่างที่ปรากฏในสูจิบัตรภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า มีบทความถึง 2 ชิ้น ที่กล่าวเทียบตัวเขากับ สัตยาจิต เรย์ ผู้กำกับชั้นครูของอินเดีย ที่มุ่งเน้นถ่ายทอดสัจธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ แม้ นางสาวโพระดก จะยังไกลห่างจากอุดมคติที่เขาวาดหวังด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องรออีกเกือบถึง 20 ปี เขาจึงจะทำได้สำเร็จใน คนภูเขา (2522) และ ลูกอีสาน (2525) แต่ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องนี้ ได้เป็นหลักหมายและยาชูใจสำคัญ ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีศักยภาพและอุดมการณ์สูงส่งที่สุดคนหนึ่งของไทย ลงทุนลงแรงสร้างไว้ด้วยความรัก ในช่วงที่เขากำลังรุ่งโรจน์ไปพร้อม ๆ กับดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนาม และมายาคติมากมายในวงการภาพยนตร์ไทย