ฟิล์ม 8 มม. / สี / เงียบ / 49.32 นาที
ผู้สร้าง อาจินต์ ปัญจพรรค์
หลังจากประสบความสำเร็จควบคู่กันจากผลงานเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่อันโด่งดัง และงานโทรทัศน์ที่สถานีไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้ตัดสินใจจัดทำนิตยสารของตนเอง ตั้งชื่อว่า “ฟ้าเมืองไทย” ออกวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ในวันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2512 โดยเขารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งสามารถปลุกปั้นนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับนี้ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นแหล่งชุมนุมของนักเขียนรุ่นใหญ่ รวมทั้งเป็นบ่อเกิดนักเขียนหน้าใหม่ทั่วประเทศ
เดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ในช่วงที่นิตยสารฟ้าเมืองไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนต้องเปิดนิตยสารรายเดือนอีกฉบับชื่อ “ฟ้าเมืองทอง” เพราะมีต้นฉบับหลั่งไหลเข้ามามากจนไม่สามารถพิมพ์ลงฟ้าเมืองไทยได้หมด อาจินต์ได้จัดงานครบรอบการก่อตั้งนิตยสารเหมือนที่เคยทำมาเป็นประจำ แต่คราวนี้ต่างออกไป เมื่ออาจินต์ซึ่งกำลังสนใจถ่ายหนังบ้านเป็นงานอดิเรก ได้เกิดความคิดที่จะบันทึกงานสังสรรค์ครั้งนี้ไว้ในรูปแบบภาพยนตร์ และมอบหมายให้ ธาดา เกิดมงคล ช่างภาพ นักข่าว และนักเขียนสารคดีของนิตยสาร เป็นผู้ถ่ายทำและตัดต่อ
งานสังสรรค์นิตยสารฟ้าเมืองไทย ฉลองขึ้นปีที่ 8 มีขึ้นในเย็นวันที่ 7 เมษายน 2519 ที่โรงแรมราชศุภมิตร ย่านนางเลิ้ง โดยธาดาได้ถ่ายทำเหตุการณ์ในงานทั้งหมดด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ 8 มิลลิเมตร ยี่ห้อ Canon รุ่น Auto Zoom 1014 ของเขา ซึ่งมีลูกเล่นมากมายเสมือนมีห้องแล็บอยู่ในตัว สามารถถ่ายทำพลิกแพลงหรือสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ได้ เช่น การซ้อนภาพ ดังที่ปรากฏให้เห็นลายมือของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซ้อนขึ้นมาตลอดเรื่องเพื่อบอกฉากทีละชั่วโมง ตั้งแต่หกโมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืน รวมทั้งธาดายังให้นักเขียนที่มาร่วมงานเซ็นชื่อลงบนกระดาษสีดำ และนำลายเซ็นนี้ขึ้นไปซ้อนกับภาพนักเขียนคนนั้น ๆ ได้โดยทันที
ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังได้บันทึกภาพนักเขียนชื่อดังของวงการวรรณกรรม รวมทั้งศิลปินแขนงต่าง ๆ ในช่วงนั้น ที่เดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ทั้ง อรวรรณ, ช. แสงเพ็ญ, นพพร บุญยฤทธิ์, สุวรรณี สุคนธา, อมรา จรรยงค์, อิงอร, ชอุ่ม ปัญจพรรค์, คำพูน บุญทวี, หยก บูรพา, ช่วง มูลพินิจ, สง่า อารัมภีร, ตุ้มทอง โชคชนะ, สุรัตน์ พุกกะเวส, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (องค์ชายกลาง) ฯลฯ รวมไปถึงถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศการพบปะพูดคุย ร้องเพลง และเต้นรำของบรรดาผู้ร่วมงานที่ค่อย ๆ เป็นไปตามดีกรีของอารมณ์จากการกินดื่มอย่างรื่นรมย์และสนุกสนาน เมื่อเวลาผ่านไปทีละชั่วโมง ๆ โดยมี อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นศูนย์กลาง แม้จะจบงานในห้องรับรอง ด้วยภาพลายมือของอาจินต์ว่า “ปีหน้าพบกันใหม่นะครับ” แต่คณะที่เหลือบางส่วนยังได้ไปนั่งสังสรรค์ต่อที่ร้านกาแฟของโรงแรมจนรุ่งสาง
พ.ศ. 2553 อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้มอบภาพยนตร์เรื่องนี้และหนังบ้านทั้งหมดที่เขาถ่ายสะสมเอาไว้ให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์ และหอภาพยนตร์ได้เชิญอาจินต์มาร่วมงานวันหนังบ้านในปีดังกล่าว โดยจัดฉายหนังบ้านของเขา ซึ่งมีงานสังสรรค์นิตยสารฟ้าเมืองไทยนี้รวมอยู่ด้วย เมื่อได้ชมภาพเพื่อนพี่น้องนักเขียนเหล่านี้อีกครั้ง หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี และเกือบทั้งหมดได้ล่วงลับไปแล้ว อาจินต์ได้กล่าวขอบคุณหอภาพยนตร์ด้วยความประทับใจที่ทำให้ได้ดู “คนตายแล้วฟื้นขึ้นมา” ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Radical เขียนข่าวเมื่อได้ดูการฉายภาพยนตร์สู่สาธารณะครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2438 ที่กรุงปารีสว่า “บัดนี้เราสามารถบันทึกชีวิตและเปิดกลับมาได้อีก เราสามารถที่จะเห็นคนในครอบครัวของเราได้อีกหลังจากที่พวกเขาตายไปนานแล้ว”
ภาพยนตร์สมัครเล่นเรื่องนี้ จึงมีคุณค่าเปรียบเสมือนมรดกความทรงจำสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นหนังบ้านที่เกี่ยวข้องกับการงานของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนและบรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เคยมีมา หากแต่ยังเป็นสื่อที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทย ในยุคที่วงการหนังสือเฟื่องฟูมากที่สุดยุคหนึ่งเอาไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา และสามารถปลุกให้พวกเขาฟื้นขึ้นมาได้สมดังคำกล่าวของอาจินต์ ราวกับภาพยนตร์นั้นเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของบรรณาธิการ ผู้สร้างนักประพันธ์ขึ้นในฟ้าเมืองไทย และประสงค์จะบันทึกความมีชีวิตของนักประพันธ์นั้นไว้ให้เป็นอมตะ