ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด CRAZY ME

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 123 นาที

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์

ผู้เขียนบท อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, ดลกมล ศรัทธาทิพย์, สรพงษ์ เอื้อชูชัย

ผู้กำกับภาพ วินัย ปฐมบูรณ์, สมชัย กิตติคุณ

ผู้ลำดับภาพ พูนศักดิ์ อุทัยพันธ์

ผู้กำกับศิลป์ สมชัย คินธรักษ์

ผู้ทำดนตรีประกอบ เพชร มาร์

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย กุลกัญญา ทัดเทียมรมย์

ผู้แสดง สัญญา คุณากร, อังคณา ทิมดี, ชไมพร สิทธิวรนันท์, อรุณ ภาวิไล, จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ญานี ตราโมท, กลศ อัทธเสรี, วิสรร ฉัตรรังสิกุล, ศรัทธา ศรัทธาทิพย์, ภาณุ น้อยอารีย์, วิทวัส ปักษานนท์, พูลสวัสดิ์ ธีมากร, อำนวย ศิริจันทร์, สมชาย  พงษ์ปรีชา, อัคนี พันธุ์สว่าง, เกรียงไกร อมาตยกุล, สุธีรัชย์ ชาญนุกูล, ธัชชัย ปาละกูล, ดวงหทัย ดารา, กรุง ศรีวิไล


การผสมภาพความจริงของชีวิตคนเมืองในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู เข้ากับคติความเชื่อแบบไทยเรื่องความตายและเวรกรรม แต่งเติมด้วยมุกตลกเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มนักแสดง ถือเป็นความโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญของ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2536 โดยผู้กำกับหน้าใหม่ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ และทำให้แม้จะผ่านไปเกือบ 30 ปี หนังของ “คนกรุง” หลากรสชาติเรื่องนี้ยังคงมีความสดใหม่ในเนื้อหาอยู่เช่นเดิม 


ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด เล่าเรื่องราวของ มานพ หนุ่มออฟฟิศผู้สุภาพเรียบร้อยแต่มักโดนเจ้านายโยนความผิดในการทำงานให้ วันหนึ่ง นพหมดสติลงในลิฟต์ ในภาวะกึ่งตื่นกึ่งฝันนั้น เขาเห็นยมทูตปรากฏขึ้นเพื่อมารับตัวเขา แต่ก่อนเหตุการณ์จะล่วงเลย นายทะเบียนจากนรกแจ้งข่าวดีว่านพยังไม่ถึงฆาต แต่มีเวลาใช้ชีวิตอยู่จนถึงบ่ายสองโมงของวันรุ่งขึ้น  เมื่อตื่นขึ้นอีกครั้ง ความรับรู้เกี่ยวกับชีวิตตัวเองของนพจึงเปลี่ยนไป เพราะเชื่อว่าตัวเองจะอยู่บนโลกนี้ได้อีกเพียงวันเดียว ความตายที่รออยู่ตรงหน้าทำให้นพเกิด “ลูกบ้า” ที่จะออกนอกกรอบที่เคยจองจำตัวเองและเห็นโลกรอบข้างแตกต่างไปจากเดิม จนกระทั่งเรื่องราวได้บานปลาย ทำให้เขาใช้ลูกบ้านี้ฮึดสู้เพื่อเอาชนะระบบและพฤติกรรมความเห็นแก่ตัวของผู้คนในสังคมก่อนที่เขาจะลาโลก 


นักแสดงหลักเกือบทุกคนในเรื่องทั้ง จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ญานี ตราโมท, อรุณ ภาวิไล รวมไปถึง สัญญา คุณากร ผู้รับบท นพ และ อิทธิสุนทร ผู้กำกับ ล้วนเคยอยู่ในกลุ่ม “ซูโม่สำอาง” ของรายการโทรทัศน์เพชฌฆาตความเครียด ซึ่งเป็นกลุ่มตลกปัญญาชน ที่ฝึกฝนฝีมือกันมาจากละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพยนตร์จึงมีอารมณ์ขันแบบ “ละคอนถาปัด” ด้วยการผสมผสานเหตุการณ์ปัจจุบันเข้ากับมุกเสียดสีและตลกหน้าตาย ในอารมณ์และบริบทที่แตกต่างจากตลกแบบจำอวดหรือตลกตีหัวซึ่งอยู่คู่หนังไทยมาช้านาน เมื่อผนวกกับสไตล์ที่หวือหวาและความกล้าทดลองแนวทางใหม่ ๆ ของอิทธิสุนทร ทำให้ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด กลายเป็นขวัญใจแห่งปีของนักวิจารณ์ และกวาดรางวัลทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม จากการประกวดภาพยนตร์ไทยของชมรมวิจารณ์บันเทิงประจำปีดังกล่าว ในขณะที่ตัวอิทธิสุนทรได้แจ้งเกิดกลายเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่วงการหนังไทยจับตามอง ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างสูงจากผลงานการกำกับเรื่อง โหมโรง ในเวลาต่อมา 


ภายใต้เรื่องราวสมมติที่ว่าด้วยแรงฮึดของชายหนุ่มผู้ได้รับโอกาสอย่างที่มนุษย์คนใดไม่เคยได้มาก่อน ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ยังเป็นบทบันทึกอารมณ์และชีวิตพนักงานออฟฟิศซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการเติบโตทางธุรกิจของประเทศ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ แต่ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและกรรมยังคงอยู่ในสำนึกของคนไทยทุกยุค ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังวิพากษ์ระบบทุนนิยมที่ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองแต่คนกลับกลายเป็นเครื่องจักรไร้หัวใจ ตามเนื้อเพลงประกอบที่ใช้เปิดและปิดเรื่องที่ว่า “เมืองมันใหญ่โต แต่คนไม่ใหญ่ตาม” ซึ่งอิทธิสุนทรเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง  ราวกับล่วงรู้จุดจบของตนเองเช่นเดียวกับตัวเอกของเรื่อง เพราะสารสำคัญของหนังนี้ ได้กลายเป็นคำพยากรณ์ดวงชะตาที่กำลังง่อนแง่นของสภาพสังคมไทยในช่วงเวลานั้น  ก่อนที่ชะตานี้จะขาดลงเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในอีก 4 ปีต่อมา