อาปัติ KARMA

สื่อดิจิทัล / สี / เสียง / 88 นาที

บริษัทสร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

ผู้อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ

ผู้กำกับ ขนิษฐา ขวัญอยู่

ผู้เขียนบท ขนิษฐา ขวัญอยู่

ผู้กำกับภาพ กิตติพัฒน์ จินะทอง

ผู้ลำดับภาพ ฐิติพันธ์ มหากิจกำพล

ผู้ออกแบบงานสร้าง ฐิติพันธ์ มหากิจกำพล

ผู้ทำดนตรีประกอบ อิทธิเชษฐ์ ฉวาง, พยนต์ เพิ่มสิทธิ์

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ศิริวรรณ ก้านชูช่อ

ผู้แสดง ชาลี ปอทเจส, พลอย ศรนรินทร์, ดนัย จารุจินดา, อรรถพร ธีมากร, พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์, สรพงศ์ ชาตรี


อาปัติ เป็นภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ เล่าเรื่องราวของ ซัน เด็กหนุ่มจากกรุงเทพฯ ผู้คึกคะนองและเคยถูกจองจำในสถานพินิจเพราะความผิดที่เคยก่อไว้ในอดีต เขาถูกบังคับให้มาบวชเป็นสามเณรยังวัดชนบทแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด จนทำให้ได้พบผู้คนมากมาย ตั้งแต่สาววัยรุ่นท้องถิ่นผู้ศรัทธาในความรักมากกว่าความเชื่อทางศาสนาและแอบมีใจให้เขา หลวงพี่ที่คอยดูแลเขาไม่ห่าง หลวงพ่อผู้เงียบขรึมและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ชายเฒ่าวิกลจริตที่ชอบมาปลงอาบัติใต้กุฏิที่เขาอยู่ ไปจนถึงเรื่องราวลึกลับดำมืดที่ถูกปกปิดไว้ภายในวัด ทั้งเรื่องชู้สาวระหว่างสีกากับพระ เหตุฆาตกรรมรวมทั้งผีเปรตที่ตามมาขอส่วนบุญและทวงคืนชีวิต  


ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับหญิง ขนิษฐา ขวัญอยู่ นี้ เดิมมีชื่อว่า อาบัติ แต่ด้วยแก่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัยและความเชื่อเรื่องบาปกรรม ทำให้ อาบัติ ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นศาสนา” ตั้งแต่ยังไม่ทันออกฉาย ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะมีมติสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ด้วยเหตุผลสี่ประการคือ ภาพยนตร์ปรากฏภาพสามเณรเสพของมึนเมา ภาพสามเณรใช้ความรุนแรง การพูดถึงความสัมพันธ์และใช้คำพูดเชิงชู้สาวที่ไม่เหมาะสม และการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป ในขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งได้ร่วมพิจารณาภาพยนตร์ด้วย ได้กล่าวว่า ภาพยนตร์แสดงออกถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อศาสนาพุทธ หากนำออกฉาย ชาวพุทธอาจรับไม่ได้และเกิดความวุ่นวายตามมา ทำให้ อาบัติ ต้องเลื่อนการฉายรอบสื่อมวลชนในวันรุ่งขึ้น และรอบปฐมทัศน์ที่วางไว้ในวันที่ 15 ตุลาคมออกไป จนกว่าภาพยนตร์จะผ่านการพิจารณา


การ “แบน” อาบัติ จุดชนวนให้ประเด็นเรื่องพระพุทธศาสนาและกระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ที่เปิดโอกาสให้งานศิลปะพูดถึงแต่ด้านดีเพียงด้านเดียว กลับมาเป็นหัวข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทยอีกครั้ง ทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตจริง จนกระทั่งทีมผู้สร้างได้ตัดสินใจตัดทอนเนื้อหาบางฉากออกไป และเปลี่ยนชื่อจาก อาบัติ เป็น อาปัติ เพื่อส่งให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ซึ่งคณะกรรมการฯ และพระสงฆ์ที่เคยได้ร่วมพิจารณาเมื่อคราวแรก ได้ใช้เวลาพิจารณากว่า 3 ชั่วโมง ก่อนจะมีมติให้ อาปัติ ออกฉายได้ในเรต “น18+” หรือเหมาะสมสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และภาพยนตร์ได้ออกฉายทันทีในวันดังกล่าว 


แม้จะถูกพิพากษาจนต้องผ่าตัดตกแต่งและแจ้งชื่อใหม่ จึงจะได้รับโอกาสให้คลอดหลังกำหนด แต่ อาปัติ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีพิษภัยต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม จนสามารถประสบความสำเร็จทางรายได้ และได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ต่อมา ขนิษฐาได้นำฉากต่าง ๆ ทั้งที่ไม่ได้ใช้ตั้งแต่ใน อาบัติ และถูกตัดออกไปใน อาปัติ มาตัดต่อเพื่อขยายเนื้อเรื่องใหม่ในชื่อว่า เปรต อาบัติ เมื่อส่งให้พิจารณาปรากฏว่า ฉากที่เคยตัดออกไปแล้วใน อาปัติ นั้น ก็ยังถูกขอให้ตัดออกไปเช่นเดิม แต่ฉากที่เพิ่มมาใหม่ยังสามารถคงไว้ได้ อาปัติ ฉบับที่เธอเรียกว่าเป็นฉบับ Director’s Cut นี้ จึงได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 


ปรากฏการณ์เหล่านี้ จึงส่งผลให้ อาปัติ หรือ อาบัติ เป็นเสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความอ่อนไหวของสังคมไทยที่มีต่องานศิลปะว่าด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่ายังคงมีจุดเดือดต่ำและอันตรายเกินกว่าจะแตะต้อง อย่างไรก็ตาม ผลงานซึ่งกำกับโดยเพศที่ยังคงไม่ได้รับโอกาสให้บวชเป็นบรรพชิตในเมืองไทยเรื่องนี้  ยังกล้าหาญที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงพระแท้และพระเทียมที่ปะปนกันอยู่ในสังคม รวมไปถึงประเด็นการตั้งคำถามของวัยรุ่นที่มีต่อความเชื่อและหลักปฏิบัติต่าง ๆ ของสงฆ์ นอกจากนั้น การที่ภาพยนตร์ได้หลอมรวมความเป็นหนัง “พระ” และหนัง “ผี” เข้าด้วยกันอย่างไม่อาจแยกขาด จึงทำให้ อาปัติ กลายเป็นภาพอุปมาที่ดีของศาสนาพุทธแบบไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเอกสารบันทึกความคิดและอารมณ์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ของสังคมไทยที่มีต่อศาสนาและความเชื่อในยุคสมัยของพวกเขา