สื่อดิจิทัล / สี / เสียง / 93.28 นาที
ผู้อำนวยการสร้าง วริทธิ์พล จิวะสุรัตน์, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, สุทธิเขตต์ คงถาวร, ทรงพล อินทเศียร
ผู้กำกับ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
ผู้เขียนบท ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
ผู้กำกับภาพ ภูมินทร์ ชินารดี
ผู้ลำดับภาพ ชาคร ไชยปรีชา, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, มานุสส วรสิงห์
ผู้ทำดนตรีประกอบ เอก โอตรวรรณะ, ชาคร ไชยปรีชา, ชาติชาย เกษนัส, สมภพ ใบแบเณ
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, กฤษดา รัตนางกูร
ผู้แสดง ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, สุชาดา โรจน์มโนธรรม, นนท์ปวิธ ด่านศรีบูรณ์, อนุพงษ์ สกุลมงคลลาภ, สตีเว่น ฟูเรอร์
INSECTS IN THE BACKYARD เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตั้งใจสร้างเพื่อออกฉายตามโรงภาพยนตร์ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้เคยมีผลงานภาพยนตร์อิสระทั้งสั้นและยาวก่อนหน้านี้จำนวนมาก แต่เมื่อธัญญ์วารินได้ยื่นคำขออนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ภายหลังจากที่ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ มาแล้ว INSECTS IN THE BACKYARD กลับได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย เนื่องจาก “มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ภาพยนตร์อิสระที่ว่าด้วยเรื่องราวของกะเทย ผู้พยายามมอบความสุขในครอบครัวให้แก่น้องสาวและน้องชายวัยเรียนเรื่องนี้ จึงกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูก “แบน” จากพระราชบัญญัติพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 หรือ “กฎหมายเรตติ้ง” ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ก่อนหน้านั้นเพียง 1 ปี ส่งผลให้เกิดการถกเถียงและเรียกร้องถึงเสรีภาพในการแสดงออกของผู้สร้างงานในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างกว้างขวาง เพราะแม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีขึ้นเพื่อจัดแบ่งประเภทภาพยนตร์ให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย แต่ยังคงอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาในการสั่งห้ามฉายหรือตัดทอนเนื้อหาได้ ซึ่งไม่พัฒนาให้ก้าวพ้นไปจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 หรือ “กฎหมายเซนเซอร์” ฉบับเดิมที่ล้าหลังและใช้มายาวนานเกือบ 80 ปี
เมื่ออุทธรณ์ไม่สำเร็จ ธัญญ์วารินจึงตัดสินใจฟ้องศาลปกครอง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง INSECTS IN THE BACKYARD นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่คนทำหนังใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
แม้ศาลปกครองจะพิพากษายกฟ้องคำร้องของธัญญ์วาริน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 แต่ศาลได้ชี้ว่า หากตัดฉากเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศนาน 3 วินาที ซึ่งถือเป็นสื่อลามกอนาจารผิดกฎหมายอาญาออก ภาพยนตร์ก็จะสามารถจัดฉายได้ในประเภท “ฉ20-” หรือห้ามผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 20 ปีดู ธัญญ์วารินจึงยอมจำนนต่อคำแนะนำของศาลโดยยอมตัดภาพที่ถูกตัดสินว่าลามกอนาจาร 3 วินาทีนั้นออกไป เพื่อเป็นมนต์เสก แมลงรักในสวนหลังบ้าน ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ และออกฉายแบบจำกัดโรง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560
การต่อสู้ในศาลปกครองของภาพยนตร์ที่ถูกห้ามฉายซึ่งเท่ากับถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้วเรื่องนี้ จึงไม่เพียงแต่จะเป็นประวัติการณ์แห่งการไม่ยอมแพ้ต่อการถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ แมลงรักในสวนหลังบ้าน ซึ่งเคยตายไปแล้ว 7 ปี ยังเป็นผีดิบที่ได้ก่อผลสะเทือนสำคัญครั้งหนึ่งต่อการพิจารณาภาพยนตร์ในประเทศไทย
นอกจากมิติเรื่องการห้ามฉาย INSECTS IN THE BACKYARD ยังถือเป็นหนังไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรก ๆ ที่เปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมที่ไม่กล้าพูดความจริงซึ่งหน้า สังคมที่ถูกครอบงำด้วยมายาคติและอคติ ภาพยนตร์ของธัญญ์วารินนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องเพศสภาพของพ่อแม่ผู้ปกครอง และการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยสถานะทางเพศอันมีทางเลือกได้หลากหลายกว่าชายหญิง ปัจจุบัน ธัญญ์วารินได้เพิ่มสถานะของตนเองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นกะเทยแต่งหญิงคนแรกในรัฐสภาไทย และยังคงบทบาทนักรณรงค์ต่อสู้ให้สังคมไทยหันมาเรียนรู้และเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายและเท่าเทียมกันทางเพศอย่างต่อเนื่อง