ฟิล์ม 35 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 26.44 นาที
ผู้สร้าง The Osaka Mainichi, The Tokyo Nichi Nichi
ภาพยนตร์บันทึกภาพเหตุการณ์การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ของคณะลูกเสือสยาม เมื่อ พ.ศ. 2472 ถ่ายทำโดยช่างถ่ายภาพยนตร์ของหนังสือพิมพ์ The Osaka Mainichi กับ The Tokyo Nichi Nichi และส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. นี้ ได้รับการเก็บรักษาไว้โดย รองสนิท โชติกเสถียร อดีตข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดกับพระองค์ ก่อนที่ทายาทคือ สมสวาท โชติกเสถียร จะนำมามอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์
จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น พบว่าการเดินทางครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากองค์กรลูกเสือแห่งประเทศญี่ปุ่นได้เชิญให้รัฐบาลสยามส่งคณะลูกเสือจำนวน 20 คนไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างลูกเสือสองประเทศ โดยฝ่ายญี่ปุ่นออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทางกระทรวงธรรมการจึงได้คัดเลือกลูกเสือชาวไทย ที่มีอายุระหว่าง 12 - 17 ปี มีความประพฤติเรียบร้อย กำลังร่างกายสมบูรณ์ รู้ภาษาอังกฤษดี และถ้าได้ภาษาญี่ปุ่นจะดีเลิศ รวมทั้งผู้ปกครองต้องยินยอม จนได้เป็นรายชื่อคณะลูกเสือสยาม ดังต่อไปนี้
1. รองผู้ตรวจการ หลวงเสนอพจน์พากย์ ผู้ควบคุม
2. รองผู้ตรวจการ หลวงสิทธิวุฒิ ผู้ควบคุม
3. รองผู้กำกับเอก สนิท จูฑะรพ ผู้ช่วยผู้ควบคุม
4. ส.อ. ม.ล. เอกชัย กำภู กองที่ 2 อายุ 16 ปี ร.ร.เทพศิรินทร์
5. ส.อ. สง่า ชาตยานนท์ กองที่ 30 อายุ 16 ปี ร.ร.สวนกุหลาบ (แต่ต่อมาเป็นโรค
ตาแดง หายไม่ทัน นายหมู่ลูกเสือโท พล สุขบัติ ร.ร.สวนกุหลาบ จึงไปแทน)
6. ส.อ. วงศ์ บุนนาค กองที่ 81 อายุ 16 ปี 7 เดือน ร.ร. วชิราวุธวิทยาลัย
7. ว่าที่รองผู้กำกับหมู่ พลับ ภาสบุตร กองที่ 4 อายุ 16 ปี ร.ร.บ้านสมเด็จ
8. ส.อ. วิเชียร ดารายน กองที่ 69 อายุ 12 ปี 3 เดือน ร.ร.วัดสามพระยา
9. นายหมู่ลูกเสือโท สงวน เผ่าทองสุข กองที่ 38 อายุ 14 ปี 5 เดือน ร.ร.วัดสุทธิฯ
10. ส.อ. สมศรี ศรีวรรธนะ กองที่ 20 อายุ 16 ปี 1 เดือน ร.ร.โฆษิต
11. ส.อ. เหลียน มัลลิกะมาลย์ กองที่ 13 อายุ 16 ปี ร.ร.วัดนวลนรดิศ
12. นายหมู่ลูกเสือโท ศิริ โก๊วเจริญ กองที่ 34 อายุ 16ปี 4 เดือน ร.ร.ราชบพิธ
13. ส.อ. ถวิล คุปตบุตร กองที่ 23 อายุ 15 ปี 11 เดือน ร.ร.บพิตรพิมุข
14. ส.อ. สมัย บูรณ กองที่ 17 อายุ 13 ปี 4 เดือน ร.ร.ราชาธิวาส
15. นายหมู่ลูกเสือตรี สิงห์ สืบแสง กอง 66 อายุ 16 ปี ร.ร.คริสเตียน
16. ส.อ. บุญลือ กมลดิลก กองที่ 1 อายุ 16 ปี ร.ร.ประจำมณฑลพายัพ
17. ส.อ. อินตุ้ม ธรรมไชย กองที่ 3 อายุ 16 ปี ร.ร.ปรินซ์รอแยล
18. ส.อ. หยวก สุพานิตย์ กองที่ 15 อายุ 36 ปี ร.ร.ประจำมณฑลนครศรีฯ
19. นายหมู่ลูกเสือโท ประดิษฐ์ ตันสุรัต กองที่ 74 อายุ 16 ปี 3 เดือน ร.ร.ปทุมคงคา
20. ส.อ. ประยูร เนียมสกุล กองที่ 22 อายุ 15 ปี 11 เดือน ร.ร.พาณิชยการ
21. นายหมู่ลูกเสือตรี ม.ล. ตุ๊ นวรัตน์ กองที่ 5 อายุ 14 ปี ร.ร.บวรนิเวศ
คณะลูกเสือสยามออกเดินทางปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2472 โดยรถไฟสายใต้ ไปต่อเรือที่สิงคโปร์ ถึงท่าเรือโกเบวันที่ 9 กรกฎาคม แล้วเดินทางไปโอซากา ได้เข้าพบบุคคลสำคัญของเมือง เยี่ยมชมพระราชวังโอซากา และเล่นน้ำที่ชายหาดฮามาเดระ จากนั้นจึงเดินทางไปยังเมืองนารา ชมสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเขามิกาสะ และวัดโทไดจิ ซึ่งมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงประดิษฐานอยู่ ต่อด้วยเมืองเกียวโต ซึ่งได้ทำกิจกรรมกับคณะลูกเสือของเมือง และเข้าชมสวนสัตว์เกียวโตร่วมกัน ก่อนจะเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวังหลวง องค์กรลูกเสือแห่งประเทศญี่ปุ่น อาคารสำนักงานของหนังสือพิมพ์ The Tokyo Nichi Nichi ศาลเจ้าเมจิ เคารพหลุมศพของผู้ก่อตั้งลูกเสือญี่ปุ่น รวมทั้งชมการแข่งขันเบสบอล กีฬายอดนิยมของประเทศ
ในช่วงท้ายของการเดินทาง ภาพยนตร์ถ่ายทอดให้เห็นภาพคณะลูกเสือสยามและญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรี จับมือและเกี่ยวแขนร้องเพลงร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้คณะลูกเสือสยาม ยังได้ถวายการต้อนรับเจ้าชายชิจิบุพระอนุชาของสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งได้เสด็จทอดพระเนตร ขณะที่คณะพักแรมอยู่ที่ค่ายลูกเสือคุสะคะเบะ รวมทั้งปรากฏให้เห็นภาพคณะลูกเสือสยามทำการแสดงการต่อสู้ประกอบดนตรีภายในค่ายอย่างคึกคักสนุกสนาน ก่อนที่จะเดินทางกลับ โดยออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ถึงสิงคโปร์วันที่ 29 สิงหาคม และขึ้นรถไฟกลับพระนคร
ภาพยนตร์นี้จึงมีคุณค่าเป็นหน้าหนึ่งของประวัติลูกเสือไทยในยุคแรก ๆ ที่ได้รับการส่งเสริมกิจการให้ออกไปร่วมชุมนุมและศึกษาดูงานต่างประเทศ ทั้งยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสยามในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ได้บันทึกความมีชีวิตชีวา ร่าเริงปราดเปรียว สามัคคีและเข้าระเบียบวินัยของเด็กหนุ่มสยามในวัยเรียน ที่ได้รับโอกาสให้ไปเรียนรู้และเชื่อมสัมพันธ์กับโลกภายนอก