วัยระเริง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 119 นาที

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ)

ผู้เขียนบท วิศณุศิษย์, ประภาส ชลศรานนท์

ผู้กำกับภาพ ปัญญา นิ่มเจริญพงศ์, โชน บุนนาค

ผู้ลำดับภาพ บึกบึน

ผู้กำกับศิลป์ นิยมศิลป์

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย อิศระ

ผู้แสดง อำพล ลำพูน, วรรษมน วัฒโรดม, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, สุริวิภา กุลตังวัฒนา, ลัดดา โตมร, สุรีย์พร ตัณฑวิบูลย์วงศ์, นภาพร สกุลศิริสัจจะ, ไพรินทร์ สุทธิเจริญชนม์, นุสรากร ไทรนิ่มนวล, ลัดดา แซ่ลี้, เกสรสิริ โรจน์เสรี, นุสรา พิศดาร, น้ำอ้อย เชื้อทอง, สุรีย์พร เริงอารมณ์, ณัศราทิพย์ ทองธรรมชาติ, นภาพร ไทรนิ่มนวล, วิภาวดี ช่อสังข์, วงไมโคร


ผลงานภาพยนตร์ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ อดีตช่างเขียนใบปิดหนังชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 และได้รับการยกย่องว่าเป็น “นิวเวฟ” หรือ “คลื่นลูกใหม่” รุ่นแรก จากการพยายามสร้างสรรค์เนื้อหาหรือแนวทางใหม่ ๆ ให้แก่วงการหนังไทย ที่ในขณะนั้นล้วนแต่วนเวียนซ้ำซากอยู่ในขนบเดิม ๆ มายาวนาน


แม้ วัยระเริง จะเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 18 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เขาอยู่ในวงการมาแล้วสิบกว่าปี แต่ความคิดนอกกรอบของเขากลับไม่เพียงแต่จะไม่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา หากยังก้าวทะลุไปไกลยิ่งกว่าแค่กรอบของงานภาพยนตร์  เมื่อประเด็นสำคัญที่เขาสร้าง วัยระเริง คือเพื่อนำเสนอมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ ให้แก่ระบบการศึกษาไทย ที่เขาไม่แน่ใจว่ากำลังเดินมาถูกทางหรือไม่ อันเป็นคำถามที่ครุ่นคิดและเก็บไว้ในใจมานับสิบปี ตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งเริ่มเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ได้ไม่นาน


วัยระเริง เปิดฉากด้วยการประชุมครูของโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหัวข้อประชุมอยู่สองเรื่อง คือ การจัดการกับกลุ่มนักเรียนหญิงมัธยมปลายที่สร้างแต่ปัญหา กับการตัดสินใจว่า ครูศรีนวล ครูเก่าแก่ชราภาพของโรงเรียนยังสมควรจะทำหน้าที่เป็นครูต่อไปหรือไม่ บทสนทนาในการประชุมนั้นเต็มไปด้วยความเห็นด้านลบต่อคนทั้งสองวัย ก่อนที่หนังจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมดไปกับการโต้แย้งอคติในใจของบรรดาคุณครูในห้องประชุม 


แม้จะเป็นหนังวัยรุ่น แต่จุดศูนย์กลางของ วัยระเริง นั้นอยู่ที่ครูศรีนวล ซึ่งเอาชนะคำสบประมาทว่าแก่เกินไปที่จะสอนนักเรียน ด้วยการสามารถหาทางออกที่ลงตัวให้แก่วัยรุ่นที่ต่างถูกผู้ใหญ่มองว่าไม่มีอนาคต โดยให้หลานชายผู้รักในการเล่นดนตรีกับเพื่อนและไม่ชอบไปโรงเรียน มาแต่งเพลงจากเนื้อหาในตำราเรียนให้เข้ากับกระแสนิยมของวัยรุ่น เพื่อดึงดูดให้กลุ่มนักเรียนหญิงตัวแสบของครูในโรงเรียน หันมาสนใจในวิชาความรู้แและทำข้อสอบได้ดี 


ผู้ที่รับบทครูศรีนวลคือ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต นักแสดงอาวุโสผู้คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน ส่วนบทตัวละครวัยรุ่นนั้น เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้เลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ อันเป็นแนวทางการทำงานของเขามาตั้งแต่ยุคแรก ๆ บทนำของกลุ่มวัยรุ่นหญิงคือ วรรษมน วัฒโรดม และกลุ่มวัยรุ่นชายคือ อำพล ลำพูน กับผองเพื่อนร่วมวงดนตรี ที่ใช้ชื่อในหนังว่าวง “ไมโคร” ก่อนที่พวกเขาจะได้ออกอัลบั้มเพลงในชื่อวงนี้จริง ๆ และกลายเป็นตำนานวงร็อกวงสำคัญของไทย


เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีรสนิยมฟังเพลงหลากหลาย และมักจะกำหนดแนวเพลงให้สอดคล้องไปกับภาพยนตร์ที่เขากำกับอยู่เสมอ ซึ่งใน วัยระเริง เขาได้เลือกแนวฮาร์ดร็อก ที่ยิ่งขับให้หนังมีความเป็นขบถแตกต่างไปจากหนังวัยรุ่นเรื่องอื่น ๆ ในยุคนั้น และได้วงบัตเตอร์ฟลายมาเป็นผู้ทำดนตรีประกอบให้  โดยหนึ่งในเพลงสำคัญคือ เพลงยุโรป ที่นำเนื้อร้องซึ่งเป็นความรู้รอบตัวเกี่ยวกับทวีปยุโรปจากวิชาสังคมศึกษา มาผสมกลมกลืนกับดนตรีฮาร์ดร็อก จนกลายเป็นสื่อการสอนที่ทั้งชาญฉลาดและเร้าใจวัยรุ่นจนน่าทึ่ง


ในแง่หนึ่ง วัยระเริง ถือเป็นภาพยนตร์ถ่ายทอดบรรยากาศและสภาพสังคมวัยรุ่นไทย ในทศวรรษ 1980 ได้อย่างเพลิดเพลินและลงตัวไปด้วยองค์ประกอบทางศิลปะภาพยนตร์  แต่ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์ระบอบการศึกษาไทย ด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ใหญ่หันมามองวัยรุ่นด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจ และกล้าที่จะให้พวกเขาได้แสดงออกตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยล้าสมัย โดยเฉพาะในยุคที่นักเรียนกำลังลุกฮือขึ้นมาจากการตั้งคำถามเดียวกับที่ เปี๊ยก โปสเตอร์ เคยครุ่นคิดเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว