สุรีรัตน์ล่องหน

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ /  147 นาที

บริษัทสร้าง บริการสากลภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง สกุล เกตุพันธ์

ผู้กำกับ ส. อาสนจินดา

ผู้ประพันธ์ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก

ผู้เขียนบท “ฉกรรจ์”

ผู้ถ่ายภาพ วิจารณ์ ภักดีวิจิตร

ผู้ลำดับภาพ “ฉกรรจ์”

ผู้กำกับศิลป์ ประทีป สภิรนาค

ผู้แสดง อดุลย์ ดุลยรัตน์, ภาวนา ชนะจิต, รุ้งลาวัลย์ วิบูลย์สันติ, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, สถาพร มุกดาประกร, เชาว์ แคล่วคล่อง, ทศ วงศ์งาม, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, สมพงษ์ พงษ์มิตร, จินดา เวียร์สุวรรณ, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, ผัน สนธิรัตน์, ด.ญ.วชิราภรณ์ พึ่งสังข์, ปราณีต คุ้มเดช

รางวัล รางวัลพระสุรัสวดี ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2505 ผู้แสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม สุพรรณ บูรณะพิมพ์, ตุ๊กตาเงิน รางวัลพิเศษสำหรับผู้ถ่ายภาพเทคนิคยอดเยี่ยม วิจารณ์ ภักดีวิจิตร


*สุรีรัตน์ล่องหน เป็นภาพยนตร์ 16 มม. พากย์ ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ สมสุข กัลย์จาฤก ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาศิลปะการแสดง  (ละครวิทยุ – ละครโทรทัศน์)  ผู้มีผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ มากมายมายาวนาน ทั้งละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ 


สมสุขได้เขียนเรื่อง “สุรีย์รัตน์ล่องหน” ขึ้นเป็นบทละครวิทยุสำหรับคณะละครวิทยุ “กันตนา” ที่เธอก่อตั้งร่วมกับสามี คือ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก และใช้ชื่อเขาเป็นผู้ประพันธ์เรื่อง ออกอากาศราวปี พ.ศ. 2503 โดยเธอได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่อง The Invisible Man นิยายวิทยาศาสตร์ของ เอช จี เวลส์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2476  มาผนวกกับเรื่องราวของสาวน้อยที่มีชีวิตอาภัพราวกับซินเดอเรลลา และการอิจฉาริษยาแย่งชิงมรดกในตระกูลใหญ่ จนส่งผลให้บทละครวิทยุเรื่องนี้สะกดจิตใจแฟน ๆ ให้ต้องจดจ่อรอฟังอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ก่อนที่คณะละครวิทยุกันตนาจะมอบลิขสิทธิ์การสร้างเป็นภาพยนตร์ให้แก่บริษัท บริการสากลภาพยนตร์ ของ สกุล เกตุพันธ์ ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่มีผลงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 และเพิ่งนำบทละครวิทยุเรื่อง “ตุ๊กตาผี” ของสมสุข ไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2503 


ภาพยนตร์เรื่อง สุรีรัตน์ล่องหน เล่าเรื่องราวของหญิงสาวนามว่า สุรีรัตน์ กับน้องสาว สราญรัตน์ ที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่ของญาติฝ่ายพ่อ และถูกเหยียดหยามจาก ผ่องพักตร์ ภรรยาหลวงของพ่อ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคนจับ สายบัว แม่ของเธอไปขังไว้ใต้ดินในบริเวณบ้านมานานกว่า 10 ปี แต่กลับใส่ร้ายว่าสายบัวหนีตามชายชู้ไป  แต่เมื่อ สุรีรัตน์ ได้มรดกเป็นเครื่องเพชรเก่าแก่จากคุณย่า ผ่องพักตร์จึงวางแผนขโมยเครื่องเพชรและหาทางใส่ร้ายสุรีรัตน์ จนสุดท้ายได้ลวงเธอไปยังตึกเก่าของตระกูลที่คุณย่าให้ ดร.ริชาร์ด นักวิทยาศาสตร์เช่าทำการทดลอง เพื่อให้คนสวนข่มขืน แต่สุรีรัตน์ได้หลบเข้าไปในห้องทดลองและเผลอดื่มน้ำยาพร้อมกับถูกฉายแสงจนกลายเป็นมนุษย์ล่องหน และได้ใช้ความพิเศษนี้ เป็นส่วนช่วยในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่องพักตร์ได้ก่อขึ้น 


สุรีรัตน์ล่องหน กำกับโดย  ส. อาสนจินดา บทสุรีรัตน์นำแสดงโดย ภาวนา ชนะจิต นางเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกแห่งเอเชีย” ที่เพิ่งเข้าวงการมาได้ไม่นาน แม้ก่อนหน้านี้จะมีตัวละครที่ล่องหนได้มาก่อนแล้วในภาพยนตร์ไทย แต่ก็มักจะมาจากทางไสยศาสตร์หรือพลังพิเศษ จากข้อมูลที่ค้นพบ สุรีรัตน์ล่องหน จึงน่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตัวละครหลักล่องหนได้โดยการทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ได้รับความนิยมอย่างสูงต่อเนื่องมาจากเมื่อครั้งเป็นละครวิทยุ ในขณะที่ฉากการล่องหน รวมถึงเทคนิคพิเศษด้านภาพต่าง ๆ ทำให้วิจารณ์ ภักดีวิจิตร ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงิน สาขาผู้ถ่ายภาพเทคนิคยอดเยี่ยม นอกจากนี้ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ซึ่งรับบท ผ่องพักตร์ ยังได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้แสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม และความนิยมของบทประพันธ์เรื่องนี้ ทำให้ภาพยนตร์ได้รับการฉายซ้ำในปี พ.ศ. 2506 รวมทั้งได้รับการนำมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2524 และละครโทรทัศน์ ปี พ.ศ. 2532  


หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง สุรีรัตน์ล่องหน  มาจาก บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2553 ภาพยนตร์นี้มีคุณค่าในฐานะเป็นสื่อบันทึกงานประพันธ์เรื่องสำคัญของนักเขียนบทละครวิทยุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย และยังเป็นหลักฐานแห่งความเฟื่องฟูของละครวิทยุที่ยุคหนึ่งได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ตัวภาพยนตร์ยังได้รับการกล่าวถึงในฐานะผลงานแนวนิยายวิทยาศาสตร์แบบกึ่งแฟนตาซี (Soft Sci-Fi) ยุคแรก ๆ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ท่ามกลางท้องเรื่องและค่านิยมต่าง ๆ ที่จับใจผู้ชมชาวไทย รวมถึงการดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างสะท้อนให้เห็นถึงขนบของภาพยนตร์ไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2500 


หมายเหตุ: ชื่อเรื่อง สุรีรัตน์ล่องหน สะกดตามที่ปรากฏในไตเติลภาพยนตร์ ขณะที่ข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ข้อมูลของบริษัท กันตนา เจ้าของบทประพันธ์ จะสะกดชื่อบทประพันธ์เรื่องนี้ว่า “สุรีย์รัตน์ล่องหน”