ฟิล์ม 8 มม. / สี / เสียง / 35 นาที
ปีสร้าง 2516
ผู้สร้าง ทวีศักดิ์ วิรยศิริ
ทวีศักดิ์ วิรยศิริ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่างถ่ายหนังข่าวอาชีพ และช่างถ่ายหนังสมัครเล่น เพราะบทบาททั้งสองด้านโดดเด่นไม่แพ้กัน ท่านเป็นลูกของพระยามหาอมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ เคยเป็นเลขานุการในรัชกาลที่ 5) สนใจถ่ายรูปมาตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เพราะพ่อชอบถ่ายรูป ในครอบครัวยังมีน้องที่สนใจการถ่ายรูป ถ่ายภาพยนตร์ คือ สรรพสิริ และสมบูรณ์ วิรยศิริ เมื่อทวีศักดิ์เรียนจบชั้นมัธยมหก ตอนแรกไปเรียนเป็นนักเรียนนายเรือ แต่เรียนไม่จบ มีปัญหาเมาคลื่น จึงตามพี่ชายไปอยู่สิงคโปร์เพื่อเรียนการบัญชี
ทวีศักดิ์เป็นผู้ที่มีช่วงชีวิตยาวถึง 97 ปี เป็นบุคคลที่มีชีวิตอันน่าทึ่ง ครึ่งแรกของชีวิตเป็นนักบัญชีอยู่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภายหลัง พ.ร.บ. การบัญชี บริษัทต้องมีการตรวจสอบบัญชี ทวีศักดิ์ก็รับจ้างตรวจบัญชีตามบริษัท เมื่องานมากเข้าก็ลาออกจากราชการมาทำส่วนตัว ต่อมา สุจิต หิรัญพฤกษ์ (อดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ และเป็นสามีของ กันยา เทียนสว่าง นางสาวไทยคนแรก) ชวนไปถ่ายการแสดงละครเรื่อง สมิงพระราม ของกรมศิลปากร ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. สี เสียง มีการร้องเพลง สุจิตพกหนังเรื่องนี้ไปฉายต่างประเทศและได้รับคำชมมาก ต่อมาเมื่อสุจิตไปประชุมและได้รู้จักประธานบริษัท Hearst Metro News ซึ่งกำลังหาคนถ่ายหนังข่าวในภูมิภาคนี้ จึงได้แนะนำทวีศักดิ์ ให้มาถ่ายหนังข่าวให้เมโทร นับเป็นการเปลี่ยนบทบาทสู่ครึ่งหลังของชีวิตในวัยสี่สิบกว่า
การถ่ายหนังข่าวให้เมโทร ใช้กล้อง 35 มม. ผลงานเรื่องแรกเป็นหนังชกมวยระหว่างจิมมี่ คารัทเธอร์ กับจำเริญ ทรงกิตรัตน์ นอกจากนี้ยังได้ถ่ายงานพระบรมศพรัชกาลที่ 8 ถ่ายตั้งแต่ยกพระโกศ ลงจากเมรุมาถวายพระเพลิง ต่อมา CBS ของอเมริกาซึ่งเห็นผลงานข่าวของเมโทร ก็มาจ้างให้ทวีศักดิ์ถ่ายข่าวให้ด้วย จากนั้นก็ขยายไปถ่ายให้ Visnews ของอังกฤษ ABC ออสเตรเลีย ITN ของอังกฤษ NBC BBC จนกระทั่ง German Television Italy เป็นหนังข่าว หนังกีฬา หนังสารคดี ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม มีคนต้องการจ้างเยอะมาก ทำให้มีงานค่อนข้างมาก บางครั้งต้องถ่าย 2-3 กล้อง เพื่อส่งหลายสำนักข่าว อย่างเหตุการณ์สำคัญที่เกิดครั้งเดียว เช่น การตัดริบบิ้นเปิดงานต้องถ่ายอย่างน้อยสองกล้อง ทวีศักดิ์ จะมีบาร์ไว้ติดกล้องหลายตัว กดสวิตช์ทีเดียว กล้องก็จะเดินพร้อมกัน
นอกจากภาพยนตร์ข่าว ทวีศักดิ์ก็เคยถ่ายภาพนิ่งชุดเรื่อง ฝิ่น ลงใน National Geographic ซึ่งได้รับการส่งเข้าประกวดพูลิตเซอร์ นอกจากนี้ยังเคยร่วมงานกับกองถ่าย 80 วันรอบโลก เป็นผู้ประสานงานให้กองถ่าย และเป็นช่างภาพ ถ่าย 35 มม. เก็บรายละเอียดในส่วนที่กล้อง 70 มม. ไปไม่ได้
แม้จะทำงานอาชีพเป็นช่างภาพข่าว แต่ทวีศักดิ์ก็ได้ถ่ายกล้อง 8 มม. ของตัวเองไว้เสมอเมื่อมีโอกาส หนัง วันมหาวิปโยค ก็เป็นหนึ่งในคอลเลกชันของหนังส่วนตัว ถ่ายด้วยฟิล์มโกดักโครม ซึ่งมีคุณสมบัติที่สีสวยสดใส และจะไม่ซีดจางแม้เวลาจะผ่านไป
สำหรับหนัง วันมหาวิปโยค ทวีศักดิ์ออกไปถ่ายเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ด้วยคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องส่งข่าวไปยังสำนักข่าว แต่เนื่องจากการชุมนุมกินเวลานาน ปกติถ่ายข่าวส่งสำนักข่าวจะไม่เกิน 400 ฟุต จึงมีเวลาที่จะถ่ายหนัง 8 มม. ของตนเอง ทวีศักดิ์เน้นในการเก็บรายละเอียดอิริยาบถของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้ได้ความรู้สึกใกล้ชิดราวกับได้เข้าร่วมชุมนุม เริ่มจากการชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ จนกระทั่งขบวนเคลื่อนสู่ถนนราชดำเนินไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพที่ให้เห็นพลังของคนหนุ่มสาวที่เดินเรียงขบวนกันอย่างห้าวหาญ
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกันที่บริเวณสวนจิตรลดาในวันที่ 14 ตุลาคม ทวีศักดิ์ต้องมุ่งถ่ายภาพสำหรับส่งสำนักข่าว จึงไม่ได้ถ่าย 8 มม. ในส่วนนี้ เมื่อมาตัดต่อเป็นหนัง เหตุการณ์ช่วงนี้จะนำเสนอด้วยภาพนิ่งและบรรยายด้วยเสียงของทวีศักดิ์เอง วันที่ 15 ตุลาคม เมื่อเหตุการณ์สงบลง ทวีศักดิ์ได้ออกมาถ่ายเก็บบรรยากาศรอบถนนราชดำเนิน พร้อมกับ นวลละออง พวงทอง ภรรยาซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วย หนังได้บันทึกทั้งภาพความเสียหายที่เกิดจากการเผาของผู้ชุมนุมและภาพผู้คนช่วยกันทำความสะอาดถนน และการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ สิ่งหนึ่งยืนยันความเป็นหนังส่วนตัวของหนังชุดนี้ คือการปรากฏตัวของ นวลละออง ที่ทำตัวราวกับคนเดินถนนคนหนึ่ง และในช่วงเวลาสั้นทวีศักดิ์ก็ได้ให้นวลละอองถ่ายตนเองเดินเข้าไปในกล้องและเดินออกมา
แม้หนังจะมีความยาวเพียง 35 นาที แต่ก็ได้สะท้อนมุมมองของปัจเจกชนที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และด้วยทักษะของการถ่ายภาพยนตร์ข่าว ทำให้ทวีศักดิ์รู้ว่าจะต้องวางแผนการถ่ายล่วงหน้าอย่างไร จะต้องไปอยู่ตรงไหนจึงจะได้ภาพที่ต้องการ และจะถ่ายอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดได้สะท้อนอยู่ในฟิล์ม 8 มม. ชุดนี้
ทวีศักดิ์เริ่มถ่ายหนังข่าวเป็นอาชีพตอนอายุ 40 กว่าปี ตอนถ่ายหนัง วันมหาวิปโยค ท่านอายุ 72 ปี และท่านมาหยุดงานถ่ายหนังเมื่ออายุ 75 ปี และในบรรดาหนังหลายร้อยม้วนของท่านที่ได้รับการอนุรักษ์ในหอภาพยนตร์ หนังเรื่อง วันมหาวิปโยค เป็นหนังที่โดดเด่นเรื่องหนึ่ง
วันมหาวิปโยค ของ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ แม้จะมีสถานะเป็นหนังส่วนตัวของนักข่าวภาพยนตร์อิสระระดับนานาชาติ ที่ผสมผสานกับสปิริตของนักถ่ายหนังสมัครเล่นและหนังบ้านทำออกมาเพราะเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ของชาติ ถ่ายเอง ตัดต่อเอง และให้เสียงบรรยายเองทำไว้ดูเองและฉายดูกันในหมู่ญาติมิตร แต่ต่อมาเมื่อทวีศักดิ์ บริจาคฟิล์มนี้ให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ ภาพยนตร์ส่วนตัวของทวีศักดิ์จึงได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะและมีผู้นำไปใช้ประกอบในรายการสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ตลอดจนประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างกว้างขวาง เป็นภาพที่ชินตาไม่น้อยกว่าภาพจากภาพยนตร์ อนุทินวีรชน 14 ตุลาคม ของ ชิน คล้ายปาน
หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วน มาจากบทความ “หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชนด้วยกล้องถ่ายหนัง” โดย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารหนังไทย ฉบับที่ 18 - พฤศจิกายน 2556