เทวดาเดินดิน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 153 นาที 

วันออกฉาย    4 กันยายน 2519

บริษัทสร้าง    ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น, พร้อมมิตรภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง    เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับการแสดง    หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้เขียนบท    วีระประวัติ วงศ์พัวพัน

ผู้ถ่ายภาพ    หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ผู้ลำดับภาพ    หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ศิลปกรรม    เลิศชัย แสงโสภณ, อำนาจ โหราศาสตร์

เพลงประกอบ    ชออ้น สมชาติ ณ บางช้าง

เครื่องแต่งกาย    ดารินดา

ผู้แสดง สรพงศ์ ชาตรี, วิยะดา อุมารินทร์, ต่อลาภ กำพุศิริ, อภิชาต โพธิไพโรจน์, บู๊ วิบูลย์นันท์, น้ำเงิน บุญหนัก, กิตติ ดัสกร, ชินดิษฐ์ บุนนาค, สุลาลีวัลย์ สุวรรณฑัต, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ชวนพิศ เผ่าศิลปิน, ทองฮะ วงศ์รักไทย, โป๋ เป่าปี่, กอบอรุณ อรุณแสง, เฉลาลักษณ์ ปุระศิริ, ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ, ธงไชย เพ็งเจริญ, รัช บรรหาร, อัจฉรา บุตรนาวี, โปร่ง แสงโสภณ, มาธาดา ตรียะกุล, ทองชวน หงสกุล, ผจญ ดาวขจร, สุข เกตเรขา, อรรถพนธ์ ศิริธร, ด.ช. ปู จินดานุช, ด.ช. สาธิต เกิดกำแพง, อรุณ สุภัคพงศ์, ไพรินทร์ จินดาเพ็ชร, ม.ล.วราภา เกษมศรี, เทอดภูมิ เนติลักษณ์, พ.อ. ชูศักดิ์ อดิศักดิ์, ครรชิต ขวัญประชา


ฉากเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญนักใน เทวดาเดินดิน กลับเป็นฉากที่รบกวนความรู้สึก และสร้างความคลุมเครือให้แก่ผู้ที่เฝ้ามองหาจุดยืนของหนังไทยเรื่องสำคัญช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองและสังคมเรื่องนี้ ฉากดังกล่าวคือฉากที่วัยรุ่นสามคน ขว้างหินใส่กระจกอาคารและบ้านเรือนริมถนนจนแตกกระจาย พลางหัวเราะร่วนด้วยความคึกคะนอง ฉากนี้ทั้งน่าตกใจและน่ากระอักกระอ่วน ทั้งเรียกร้องการตีความ ว่านี่เป็นภาพที่แสดงออกถึงการบ่มเพาะอนาธิปไตยในบ้านเมืองอันวุ่นวายไร้ขื่อแปในหมู่วัยรุ่นที่ไม่ยี่หระต่อระเบียบใด ๆ ของสังคม หรือเป็นภาพการเย้ยหยันของอิสรชนที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของผู้มีอำนาจ ท้าทายนิยามของ “ความดี” และพร้อมออกแสวงหาเส้นทางใหม่ให้พ้นจากสังคมอันเย็นชาที่ผลักดันให้พวกเขากลายเป็นผู้ร้าย

เทวดาเดินดิน เล่าเรื่องของวัยรุ่นสามคน ชื่อ พี่ น้อง และ ต้อย (สรพงศ์ ชาตรี, วิยะดา อุมารินทร์, ต่อลาภ กำพุศิริ) พี่ เป็นตำรวจเก่าที่ลาออกหลังจากมีปัญหากับหัวหน้า และใช้ชีวิตระหกระเหเร่ร่อนจนได้เจอกับ น้อง เด็กสาวเกเรที่มีปัญหากับครอบครัว และ ต้อย จิ๊กโก๋กะเทย ที่มีอาชีพขายเฮโรอีนให้วัยรุ่น ทั้งสามคนผู้จนตรอกรวมตัวกันออกสร้างปัญหา จี้ ปล้น ลักขโมย กินฟรี และสุดท้ายถึงขั้นยิงคนตาย จนต้องหนีระเห็ดโดยทางรถไฟลงภาคใต้ เย้ยระเบียบสังคมและกฎหมายจนสื่อมวลชนตั้งสมญาแบบเยาะเหยียดให้ว่า “เทวดาเดินดิน” 

คณะแก๊งเทวดาเดินดินหนีเข้าป่าทางใต้และเผชิญกับการรบราฆ่าฟันของผู้ก่อการร้ายภาคใต้เข้าโดยบังเอิญ ทั้งสามเข้าช่วยชาวบ้านจนชนะผู้ก่อการร้าย ทำให้ชื่อของแก๊งนี้ลือกระฉ่อนขึ้นอีก แต่การต่อสู้ทำให้น้องได้รับบาดเจ็บ ทำให้พี่กับต้อย ต้องพาตัวน้องหนีกลับเข้ากรุงเทพฯ ในขณะที่มือปราบของทางการ พล.ต. อดุลย์ ไล่ติดตามสามอันธพาลที่ตอนนี้โด่งดังทั่วประเทศอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งทั้งสามไปจนมุมที่ตึกสูงแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ก่อนที่การเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายนี้จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม 

เทวดาเดินดิน เป็นภาพยนตร์ที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างให้แก่บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เป็นหนังเรื่องสำคัญของยุคสมัยที่จับบรรยากาศวัยรุ่นยุคฮิปปี้แบบไทย ที่ใช้ชีวิตไร้จุดหมายภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ท่านมุ้ยตั้งใจสร้างหนังแอคชั่นที่ใช้ฉากหลังเพื่อแสดงภาพรวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (ก่อนทุกอย่างจะแตกหักในเดือนตุลาคม 2519) หนังทั้งให้มุมมองว่าเสรีภาพที่กำลังเบ่งบานและใช้กันจนเฟ้อ ทำให้วัยรุ่นไทยอยู่ในสภาวะสับสนและหาทางออกจากความอึดอัดด้วยความรุนแรง ในขณะเดียวกัน หนังสร้างภาพของตัวเอกทั้งสามให้เป็น anti-hero เป็น “ผู้ร้าย” ที่อีกนัยหนึ่งเป็นเหยื่อของสังคมซึ่งไม่ให้โอกาสพวกเขาและผลักไสให้เป็นคนนอกคอก เป็นพวกนอกกฎหมาย รวมถึงยังสะท้อนบทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์ที่ต้องการขายข่าว ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์ถ่ายทำในปี 2518 ออกฉายในปี 2519 (ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา เพียงเดือนเดียว) แต่ต้นเรื่องระบุว่าเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในปี 2520 ราวกับเป็นการคาดเดาอนาคตอันใกล้ของสังคมไทยโดยตัวผู้สร้าง

เทวดาเดินดิน เป็นหนังไทยที่มีกลิ่นอายของหนังอเมริกันยุค ค.ศ. 1970  วีระประวัติ วงศ์พัวพัน ผู้เขียนบทได้ระบุว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Bonnie and Clyde หนังอเมริกันปี 2510 และข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมของวัยรุ่นในยุคนั้น ในบางฉากหนังยังอ้างอิงภาพจากเหตุการณ์ความโหดร้ายของสงครามและการปะทะระหว่างประชาชนและรัฐ เป็นการเชื่อมโยงชะตากรรมของสามตัวละครกับบริบทการเมืองที่ใหญ่กว่าในยุคสมัยแห่งความรุนแรงทางความคิดและการต่อสู้  ส่วนในทางภาพยนตร์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ยังหยิบยืมตระกูลหนังอเมริกันยอดนิยมในช่วงเวลานั้น ทั้งหนังโร้ดมูฟวี่ หนัง heist (ปล้น) และหนัง coming of age ของวัยคะนอง รวมทั้งฉากจบอันเย้ยหยันโชคชะตา เอามาปรับใช้ในบริบทไทยได้อย่างลงตัว ฉากใหญ่หลาย ๆ ฉากในหนัง สร้างมาตรฐานงานสร้างให้หนังไทยยุค 35 มม. เช่น ฉากบนหลังคารถไฟ ฉากไล่ล่ากลางกรุงเทพฯ รวมทั้งฉากจบที่บีบหัวใจคนดู 

การชมภาพยนตร์เรื่อง เทวดาเดินดิน ใน พ.ศ. นี้ ยังคงเป็นประสบการณ์ที่สนุก ลุ้น และท้าทายกรอบความคิดดังที่หนังเคยทำได้เมื่อออกฉายครั้งแรก สายลมการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและกฎเกณฑ์ของสังคม ยังคงพัดโหมแรง และทำให้หนังอย่าง เทวดาเดินดิน สมควรแก่การถูกค้นพบใหม่ ศึกษา และวิพากษ์วิจารณ์ ต่อ ๆ ไป