บ๊าย..บาย ไทยแลนด์

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 105 นาที 

วันออกฉาย ไม่ปรากฎวันออกฉาย

บริษัทสร้าง สุรสีห์ผาธรรมฟิล์ม

ผู้อำนวยการสร้าง ร่วมจิตรฟิล์ม, แจ่มจันทร์ภาพยนตร์, กิตติภัทร รุ่งธนเกียรติ, สิทธิชัย สิทธิรัตน์, สุรสีห์ ผาธรรม

ผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม

ผู้เขียนบท สุรสีห์ ผาธรรม

ผู้กำกับภาพ ศราวุฒิ วุฒิชัย

ผู้ลำดับภาพ สามารถ วงษ์เวียน

ผู้กำกับศิลป์ สุพงษ์ ผาธรรม, เด่นชัย จันทร์พันธุ์, แสนยานุภาพ สังขวณิช

ผู้ทำดนตรีประกอบ วิทยา กีฬา , วงอมตะ

ผู้แสดง พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์, จามจุรี เชิดโฉม, ดู๋ ดอกกระโดน (พัน รจนรังษี), สุชาติ แสงธรรม, ตะวัน บรรเจิด, ชวลิต ผ่องแผ้ว, วิทยา กีฬา, อาร์ อาจอง, ศักดา หรือโอภาส, จงจิต รักธรรม, เทพสิทธิ์ โมฬีชาติ, สิทธิชัย สิทธิรัตน์, สำเนียง ผิวมะลิ, เอนกศักดิ์ เอี่ยมจิตไพศาล


บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ เป็นภาพยนตร์ที่เขียนบทและกำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม คนทำหนังชาวอีสานคนสำคัญ ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการหนังไทยจากผลงานเรื่อง ครูบ้านนอก ที่ก่อให้เกิดกระแสภาพยนตร์อีสานขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะการถ่ายทอดปัญหาของผู้คนในภาคอีสาน 


บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ สร้างในนาม สุรสีห์ผาธรรมฟิล์ม โดยร่วมกับบริษัทธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์หลายแห่งในภาคอีสาน เช่น ร่วมจิตรฟิล์ม แจ่มจันทร์ภาพยนตร์ ฯลฯ หลังจากนั้น สุรสีห์ ได้สร้างสรรค์ผลงานในแนวทางของเขาเองออกมาอีกจำนวนมาก เช่น หนองหมาว้อ (2522) ลูกแม่มูล (2523) ครูวิบาก (2524) ครูดอย (2525) ผู้แทนนอกสภา (2526) สวรรค์บ้านนา (2526) หมอบ้านนอก (2528) ราชินีดอกหญ้า (2529) 


บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ เป็นภาพยนตร์ที่ใช้แนวทางตลกร้าย ซึ่งแตกต่างจากหนังสะท้อนสังคมส่วนใหญ่ของสุรสีห์ หนังเปิดเรื่องด้วยประเด็นเกี่ยวกับปัญหาทางธุรกิจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลานั้น ผ่านเรื่องราวชีวิตของกำจร เจ้าของบริการภาพยนตร์แห่งอุดรธานี และบรรดาผองเพื่อนต่างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ วันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจปลอมตัวไปร่วมขบวนของศูนย์อพยพชาวลาวเพื่อจะเดินทางอพยพไปยังสหรัฐอเมริกา ด้วยความหวังว่าจะยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม ใช้ชีวิตในค่ายเพื่อรอการย้ายประเทศเป็นไปอย่างสิ้นหวัง เนื่องจากโอกาสในการได้ไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ในบรรดาหมู่เพื่อนมีทั้งคนที่หนีออกจากค่ายไปเผชิญชีวิตในไทยต่อ คนที่ไม่อยากไป แต่ได้รับคัดเลือกให้ไป และคนที่เลือกถูกส่งไปเผชิญโอกาสใหม่ในชีวิต 


บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ ถ่ายทำส่วนใหญ่ในจังหวัดเลย โดยทีมผู้สร้างได้เข้าไปสำรวจศูนย์อพยพจริง ที่ศูนย์ผู้อพยพบ้านวินัย อำเภอปากชม ซึ่งรัฐบาลไทยได้ปิดศูนย์ฯ เป็นการถาวรไป ในปี พ.ศ. 2536 


สำหรับปีการจัดฉายนั้น แม้ว่าจะมีการสันนิษฐานว่าจะมีการจัดฉายในปี พ.ศ. 2530 แต่ตามข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งจากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมสร้าง ระบุว่า ภาพยนตร์ถูกสั่งห้ามฉายโดยทางการ เนื่องจากมีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับประเทศลาว 


ฟิล์มเนกาทีฟที่เป็นต้นฉบับนั้น หอภาพยนตร์ได้รับมอบมาจาก สุรสีห์ ผาธรรม และสมชาย ไชยบุญทัน ในปี พ.ศ. 2548 และได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ที่หอภาพยนตร์ในโปรแกรม Archive Rediscovery เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2567


แม้ว่า บ๊าย..บาย ไทยแลนด์ จะเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดชีวิตผู้คนอีสานและฉากหลังที่อยู่ในภาคอีสานอย่างเด่นชัด แต่ประเด็นของเรื่องนั้นกลับสะท้อนออกมาให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะเจาะจงว่าเกิดขึ้นในภาคอีสานเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับประเทศ ความรู้สึกต้องการย้ายออกจากประเทศเพื่อไปทำมาหากิน และสร้างอนาคตที่อื่น ยังคงเป็นประเด็นร่วมสมัยของสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน