น้อยไจยา

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ / ความยาว 81 นาที 

วันออกฉาย 25 กุมภาพันธ์ 2509

บริษัทสร้าง วัฒนภาพยนตร์ 

ผู้อำนวยการสร้าง ไพรัช กสิวัฒน์

ผู้กำกับ ดอกดิน กัญญามาลย์

ผู้เขียนบท แก้วฟ้า (แก้ว อัจฉริยะกุล)

ผู้กำกับภาพ สมาน ทองทรัพย์สิน

ผู้แสดง ไชยา สุริยัน, เพชรา เชาวราษฎร์, ทักษิณ แจ่มผล, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, ดอกดิน กัญญามาลย์, น้ำเงิน บุญหนัก, สุวิน สว่างรัตน์, ชาณีย์ ยอดชัย, สิงห์ มิลินทาศัย, ดาวน้อย ดวงใหญ่, ประมินทร์ จารุจารีต, ธัญญา ธัญญารักษ์, ประภาศรี เทพรักษา, มาลี เวชประเสริฐ, อาคม มกรานนท์, โฉมฉาย ฉัตรวิไล, ด.ญ. วชิราภรณ์ พึ่งสังข์, ด.ช. ฉกรรจ์ พึ่งสังข์, นาฏ นดา


น้อยไจยา ฉบับภาพยนตร์ 16 มม. สร้างจากบทละครวิทยุของคณะแก้วฟ้า ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ ธม ธาตรี หรือ เชิด ทรงศรี เดิมเป็นวรรณกรรมล้านนาที่ได้รับความนิยมและสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ประพันธ์คือ ท้าวสุนทรพจนกิจ กวีประจำราชสำนักเชียงใหม่ที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์ โดยเล่าเรื่องราวของ แว่นแก้ว สตรีสูงศักดิ์ บุตรสาวของท้าวชัยลังกา ซึ่งบิดามารดาหมั้นหมายให้แต่งงานกับ ส่างนันตา บุตรพ่อค้าไม้ชาวไทใหญ่ที่มั่งคั่ง แต่แว่นแก้วกลับมอบใจให้ น้อยไจยา ชายหนุ่มรูปงาม บุตรของพญาสามล้าน บทละครนี้แสดงครั้งแรกในโอกาสคล้ายวันประสูติครบ 60 พรรษาของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงขอรับบทละครซอเรื่อง น้อยไจยา ไปทรงฝึกซ้อมในคณะละครของพระองค์ และทรงแสดงครั้งแรกที่ตำหนักในวังสวนสุนันทา ทำให้เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวชาวเหนือเรื่องนี้ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ในภาคเหนือเท่านั้น


ในส่วนของเนื้อหาภาพยนตร์นั้น มีการปรับบริบทจากบทละครซอดั้งเดิมให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดย แก้ว อัจฉริยะกุล หัวหน้าคณะแก้วฟ้า เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ ส่วน ไพรัช กสิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งนับเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน และมีดอกดิน กัญญามาลย์ นักแสดงและคนทำหนังขวัญใจประชาชนทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ 


ภาพยนตร์เรื่อง น้อยไจยา ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2509 และได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเป็นละครวิทยุ ว่ากันว่า น้อยไจยา กลายเป็นปรากฏการณ์ตั้งแต่การยกกองไปถ่ายทำที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อขบวนดาราเดินทางถึงสนามบินเชียงใหม่ ได้มีการฟ้อนต้อนรับโดยสาวฟ้อนนับร้อยคน ในขณะที่ฉากวันสงกรานต์ ซึ่งมี เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกอันดับหนึ่งในตอนนั้น รับบทแว่นแก้ว ต้องนั่งเสลี่ยงเป็นนางสงกรานต์ในขบวนแห่ท่ามกลางฝูงชน ได้สร้างความตื่นเต้นให้ชาวเชียงใหม่ เพราะยังเป็นยุคที่ดาราดัง ไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณชนมากนัก เมื่อออกฉาย ภาพยนตร์ได้รับการกล่าวขานในวงกว้าง โดยเฉพาะบทบาท ไจยา ของ ไชยา สุริยัน พระเอกรางวัลตุ๊กตาทอง 3 ปีซ้อน ที่ใช้ความสามารถอันโดดเด่นในการแสดงอารมณ์ทางแววตา สะกดจิตใจผู้ชม รวมไปถึงเพลงประกอบอันไพเราะที่แต่งโดย แก้ว อัจริยะกุล นอกจากนี้ น้อยไจยา ยังเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ โฉมฉาย ฉัตรวิไล อีกด้วย


ปี พ.ศ. 2560 หอภาพยนตร์ได้รับมอบสำเนาฟิล์ม 16 มม. เรื่องนี้ พร้อมบทพากย์จาก พล.ร.ต. บรรเจิด วิภาตะวิทย์ และได้ดำเนินการซ่อมแซมฟิล์มซึ่งสภาพชำรุดทรุดโทรมจนสามารถนำมาแปลงสัญญาณเป็นดิจิทัลได้ พบว่า ภาพยนตร์ที่คงเหลืออยู่นั้นมีความยาวเพียง 80 นาที โดยเครดิตและฉากต้นเรื่องบางส่วนได้หายไป และเมื่อเทียบกับบทพากย์ยังพบว่า ระหว่างทางเนื้อหาได้ถูกตัดทอนออกไปเป็นระยะ แต่ยังสามารถเกาะความได้อย่างต่อเนื่อง และมีฉากเด่น ๆ ปรากฏอยู่ เช่น ฉากแห่นางสงกรานต์ ฉากแสดงการฟ้อนดาบ ฉากสถานที่สำคัญทั้ง ดอยสุเทพ น้ำตกห้วยแก้ว ฯลฯ ในขณะเดียวกันบทพากย์ที่ได้รับมาขาดหายไปประมาณ 30 นาทีสุดท้ายของเรื่อง หอภาพยนตร์จึงได้ดำเนินการแกะบทพากย์ขึ้นใหม่ พร้อมพากย์เสียงและทำดนตรีประกอบใหม่ จัดฉายครั้งแรกในโปรแกรม Open World Cinema ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 


น้อยไจยา จึงมีคุณค่าในฐานะผลงานที่ได้นำวรรณกรรมสำคัญของล้านนามาถ่ายทอด จนได้รับความนิยมและมีอิทธิพลไปสู่แฟนภาพยนตร์ทั่วประเทศ ทั้งเนื้อเรื่อง นักแสดง ตลอดจนบทเพลงประกอบ ซึ่งกลายเป็นที่จดจำ ในขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องเล่าท้องถิ่นผ่านสายตาของผู้สร้างภาพยนตร์