ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ / ความยาว 92 นาที
วันออกฉาย 12 ตุลาคม 2503
บริษัทสร้าง กองแพทย์ กรมตำรวจ
ผู้อำนวยการสร้าง จรี อมาตยกุล
ผู้กำกับ เนรมิต
ผู้เขียนบท อ. อรรถจินดา
ผู้กำกับภาพ พ.ต.ท. อรรถ อรรถจินดา
ผู้ลำดับภาพ อำนวย กลัสนิมิ, พร้อม รุ่งรักษี
ผู้แสดง สมควร กระจ่างศาสตร์, อุษา อัจฉรานิมิต, ทักษิณ แจ่มผล, มัธนา อลงกรณ์, สุมาลี เนียวกุล, ร.ต.ต. อุทัย ชาญชวัต, ทัต เอกทัต, สมพล กงสุวรรณ, ร.ต.ต. นิทัศน์ เศวตนันทน์, ทานทัต วิภาตะโยธิน, จำรูญ หนวดจิ๋ม, มงคล จันทนบุบผา, อธึก อรรถจินดา, ลม้าย สุนทรพิพิธ, สอาด บุนนาค, พ.ต.อ. ชอบ สุนทรพิพิธ, พ.ต.ท. อรรถ อรรถจินดา, พ.ต.ท. อนันต์ พวงงาม, พ.ต.ท. เมธี ดีปานวงศ์, ร.ต.ท. ประมวล สายเสน่ห์
กองแพทย์ กรมตำรวจ จัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง สามพราน ขึ้น เพื่อถ่ายทอดชีวิตและผลงานของตำรวจซึ่งต้องเสี่ยงภัยจากการปราบปรามผู้ร้ายอุกฉกรรจ์ และเก็บเงินรายได้บำรุงโรงพยาบาลตำรวจ โดยได้รับความร่วมมือจากตำรวจกองปราบปราม กองตำรวจน้ำ และหน่วยพลร่ม ค่ายนเรศวร มีการลงทุนสร้างฉากต่อสู้อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตำรวจไทยทั้งสามหน่วยในขณะนั้น
สามพราน เล่าเรื่องราวของสองพี่น้องทายาทครอบครัวตำรวจ ได้แก่ เทพ พี่ชายที่ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา กับ พงษ์ไท น้องชายที่เจริญรอยตามพ่อเพื่อเป็นนายตำรวจน้ำดี วันหนึ่ง เทพทะเลาะกับพ่อจนถูกไล่ออกจากบ้าน และในคืนนั้นเองผู้เป็นพ่อได้ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตจากขบวนการค้าฝิ่น แต่พงษ์ไทและคนอื่น ๆ กลับเข้าใจผิดคิดว่าเทพเป็นฆาตกร
จรี อมาตยกุล ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการหนังไทยขณะนั้น เขาเป็นผู้สร้าง โบตั๋น (2498) หนังไทยเงินล้านเรื่องแรก และเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายทำหนังที่ต่างประเทศ รวมถึงการร่วมงานกับบริษัทต่างชาติ จรีมีความเกี่ยวข้องกับวงการตำรวจ จากการสนิทสนมกับ พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร ที่ชักชวนให้เขาเข้ามาช่วยทำหนังสือและเป็นครูสอนกฎหมายให้แก่โรงเรียนสืบสวนของกรมตำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2495 และได้บรรจุเข้าเป็นข้าราชการตำรวจแบบไม่มียศ นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ออกแบบตราเครื่องหมายโรงเรียนสืบสวนและกองบัญชาการการศึกษา รวมทั้งเป็นผู้จัดงานสัปดาห์ป้องกันอาชญากรรมของกรมตำรวจเป็นครั้งแรก และยังติดตาม พล.ต.อ. เยื้อน ไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกอยู่เสมอ อีกทั้งยังเคยได้ไปเยี่ยมชมการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูดในระหว่างที่ไปดูงานสืบสวนของตำรวจที่สหรัฐอเมริกา นอกจาก สามพราน จรียังได้สร้างภาพยนตร์ที่สนับสนุนโดยกรมตำรวจอีกหลายเรื่อง ได้แก่ เหยื่ออาชญากรรม (2497) และ กตัญญูปกาสิต (2501)
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เนรมิต หรือ อำนวย กลัสนิมิ คนทำหนังไทยชั้นครู ที่เคยร่วมสร้างภาพยนตร์กับ จรี อมาตยกุล มาหลายเรื่อง ในขณะที่นักแสดงมีทั้งดาราอาชีพ เช่น สมควร กระจ่างศาสตร์, อุษา อัจฉรานิมิต, ทักษิณ แจ่มผล, สมพล กงสุวรรณ ฯลฯ และตำรวจจริง โดยตำรวจที่รับบทนำคือ ร.ต.ต. อุทัย ชาญชวัต และ ร.ต.ต. นิทัศน์ เศวตนันทน์ (บิดาของ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์) นอกจากนี้ ยังมี พ.ต.ท. อรรถ อรรถจินดา นายตำรวจนักเขียนชื่อดังร่วมแสดงพร้อมรับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์และถ่ายภาพ โดยมี พล.ต.ต. ชอบ สุนทรพิพิธ ร่วมแสดงด้วย
หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์ม 16 มม. เรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ. 2538 และได้นำมาสแกนภาพใหม่ ถึงแม้ว่า ฟิล์มจะขาดหายไปบางส่วน แต่ก็ดำเนินเรื่องครบจนจบ รวมทั้งได้พากย์บันทึกเสียงใหม่ จากบทพากย์ต้นฉบับ และนำมาจัดฉายอีกครั้ง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 สามพราน นับเป็นตัวอย่างของแนวทางที่นิยมในทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2500 ช่วงต้นยุคทองของหนังไทย 16 มม. พากย์ ที่หน่วยงานรัฐจำนวนมาก เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมตำรวจ กรมป่าไม้ ฯลฯ ได้ลงทุนสร้างภาพยนตร์แบบดำเนินเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภารกิจขององค์กรออกฉาย เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ผู้คนในยุคสมัยนั้น หรือจัดเก็บรายได้เพื่อบำรุงหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมตำรวจนับเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สร้างอย่างแข็งขันที่สุด ด้วยความร่วมมือระหว่างบุคลากรทั้งของกรมตำรวจเองและในวงการหนังไทย ผลงานเรื่องนี้จึงมีค่าเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่หลงเหลือมาให้เห็นถึงความแข็งขันนั้น นอกเหนือจากแสนยานุภาพอันเข้มแข็งทางอาวุธและกำลังพลของตำรวจไทยสมัยดังกล่าว ที่ปรากฏในภาพยนตร์