ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง / ความยาว 120 นาที และ 110 นาที (ฉบับ Director’s Cut)
วันออกฉาย 2540 / (ฉบับ Director’s Cut) 16 พฤษภาคม 2567
ผู้อำนวยการสร้าง Brian Bennett
ผู้กำกับืสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้เขียนบท สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้กำกับภาพ Brian Bennett, มานิต ศรีวานิชภูมิ, สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้ลำดับภาพ ข้อมูลฉบับปี 2540 - Brian Bennett
ข้อมูลฉบับ Director’s Cut - Brian Bennett, สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้ทำดนตรีประกอบ Jude Reveley & the Dark Prayer Ensemble
ผู้แสดง Fiona Tarini Graham, กฤษดา สุโกศล แคลปป์, คณิณ จันทรสมา, ชูชัย ลายเงิน, สันติ อิศโรวุธกุล, ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์, มาลีน่า ปารเสถียร, Daniel Sussott, รัฐกาล น้อยประสิทธิ์, Douglas Russell, กิจจา ตะเวทิพงศ์, กล่อมจิต จันทรปัญญา, Mark Graham, ปิณิดา คงศิริ, อ้อย กาญจนะวณิชย์, Pin Zabriskie, Sylvie Bourniquel, Sam Ganja, James Eckhardt , Mi Kwai (สุนัข)
คนกราบหมา เป็นผลงานภาพยนตร์อิสระของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (อิ๋ง) หนึ่งในผู้สร้างภาพยนตร์อิสระไทยคนสำคัญ ผลงานของเธอก่อนหน้านี้ในฐานะคนเขียนบท เป็นภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์การขยายตัวของระบบทุน เรื่อง Thailand for Sales (2534), Green Menace: The Untold Story of Golf (2536) และ Casino Cambodia (2537) ในขณะที่ คนกราบหมา เป็นผลงานภาพยนตร์เล่าเรื่องขนาดยาวเรื่องแรกของเธอ ที่ยังคงน้ำเสียงวิพากษ์และเสียดสีสังคม
คนกราบหมา เล่าเรื่องของชายหนุ่มชื่อ รอบิน ซึ่งว่าจ้าง วิคเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญการเปิดโปงลัทธิจากนิวยอร์ค ให้มาช่วยกอบกู้ภรรยาและลูกของเขาจากการถูกล้างสมองโดยกลุ่มคนอันมีพฤติกรรมน่าสงสัย รอบินและวิคเตอร์เดินทางไปยังอาศรมแห่งรักไร้พรมแดนในประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์รวมสาวกนานาชาติของลัทธิแปลกประหลาดที่สมาชิกทุกคนกราบไหว้หมาที่เชื่อกันว่าเป็นสุนัขเทพ โดยการชี้นำของสามอาจารย์ นำโดย สตรี ผู้อ้างว่าในชาติก่อนตนเคยเป็นพระสงฆ์ที่อกหักจากวิกฤติศรัทธา สาวกในอาศรมนี้ยังใส่ชุดปฏิบัติธรรมสีชมพูแสนหวาน นั่งฟังเทศน์กันกลางแสงแดดราวอาบน้ำผึ้ง ทั้งเทพเจ้าหมาผู้มากบารมีและท่านอาจารย์ทั้งสามที่คอยรับใช้ท่าน ล้วนอำพรางความเป็นจริงอันมืดมิดเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธา และความหน้าไหว้หลังหลอกของมนุษย์
ภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าเป็นผลงานที่ทรงพลังในแง่การเสียดสีโดยใช้อารมณ์ขันเพื่อพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหว ขูดลึกลงไปในแก่นสารของความจริงแห่งศรัทธา ทั้งที่โดยผิวเผินแล้วหนังใช้ฉากหน้าของความไร้สาระเหมือนหนังการ์ตูน สมานรัชฎ์เปิดเผยว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจของเธอคือภาพยนตร์เรื่อง Pink Flamingo โดยผู้กำกับ John Waters คนทำหนังใต้ดินคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา ที่แปลกและน่าขนลุกคือ เมื่อเวลาผ่านไป 25 ปี เนื้อหาของเรื่องกลับตรงกับสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันอย่างน่าประหลาด จนดูราวกับจะไม่ใช่การล้อเลียนอีกต่อไปแล้ว
ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มถ่ายทำในปลายปี พ.ศ. 2538 จนถึง พ.ศ. 2539 โดยใช้วิธีการถ่ายทำแบบที่เรียกว่ากองโจร คืออาศัยหยิบยืมข้าวของอุปกรณ์ต่าง ๆ และใช้งบน้อยที่สุด ในขณะที่นักแสดงนั้นเป็นบรรดาญาติมิตร เพื่อนฝูง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงของคนรู้จัก โดยมีนักแสดงนำคือ กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือที่ต่อมารู้จักกันในนาม น้อย วงพรู ซึ่งแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และ Fiona Tarini Graham ศิลปินและนักแสดง ผู้เรียนการแสดงมาจากประเทศอังกฤษ
จากข้อมูลผู้สร้าง เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2541 เมื่อกองเซ็นเซอร์มีคำสั่งห้ามฉาย คนกราบหมา โดยให้เหตุผลว่าหนัง “หมิ่นทุกศาสนา” ในเวลาต่อมา คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ของรัฐสภา ยังเรียกตัวผู้กำกับมาสอบถามอย่างเคร่งเครียด อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาพยนตร์ตลกชวนหัวเรื่องนี้กลายเป็น “หนังต้องห้าม” ในเมืองไทย ภาพยนตร์กลับได้รับเลือกไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง เช่น Hawaii International Film Festival, Los Angeles Asia-Pacific Film Festival และ Long Island Film Festival เป็นต้น
หลังจาก คนกราบหมา สมานรัชฎ์ มีผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่อง พลเมืองจูหลิง (2551) และภาพยนตร์เล่าเรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของเธอที่ถูกสั่งห้ามฉายในปี พ.ศ. 2555 ทำให้เธอตัดสินใจสร้างสารคดีเรื่อง เซ็นเซอร์ต้องตาย (2556) เพื่อเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการพิจารณาภาพยนตร์ในเมืองไทย
ในปี พ.ศ. 2566 ด้วยบริบทการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ประเทศไทยเปลี่ยนไป สมานรัชฎ์และทีมสร้างจึงตัดสินใจส่งภาพยนตร์ คนกราบหมา ฉบับ Director’s Cut เข้ารับการตรวจพิจารณาและได้รับเรต น.15 จากนั้นจึงนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โดยฉบับที่ออกฉายนี้มีความยาวสั้นลงกว่าต้นฉบับประมาณ 10 นาที
คนกราบหมา นอกจากทำหน้าที่เป็นหลักฐานบันทึกการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยทั้งเรื่องกรอบในการพิจารณาภาพยนตร์แล้ว ยังเปิดโลกทัศน์ให้ผู้ชมได้เห็นสุนทรียศาสตร์ ความสดใหม่ และเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำที่ใช้ฟิล์ม 16 มม. รวมถึงเป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงสปิริตของผู้สร้างหนังไทยอิสระที่กล้าลุกขึ้นมาสร้างผลงานที่แหวกขนบออกไปจากภาพยนตร์และค่านิยมที่สังคมไทยคุ้นเคยอีกด้วย