Birth of Seanéma

สื่อดิจิทัลจาก DV cam NTSC / ขาวดำ / เงียบ / ความยาว 71 นาที 

วันออกฉาย 2547

ผู้อำนวยการสร้าง ศะศิธร อริยะวิชา

ผู้กำกับ ศะศิธร อริยะวิชา

ผู้เขียนบท ศะศิธร อริยะวิชา

ผู้กำกับภาพ ศะศิธร อริยะวิชา

ผู้ลำดับภาพ ศะศิธร อริยะวิชา

ผู้แสดง Chaluay Thongsook 


Birth of Seanéma เป็นภาพยนตร์ทดลองโดย ศะศิธร อริยะวิชา คนทำหนังนอกกระแสที่มีบทบาทในช่วงทศวรรษที่ 2540 ช่วงเวลาที่หนังไทยเปิดรับแนวทางใหม่ ๆ และมีคนทำหนังหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ศะศิธรเรียนจบปริญญาโทสาขา Media Studies จาก The New School for Social Research นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยทำงานด้าน Post–Production ให้แก่หนังอิสระหลายเรื่องในนิวยอร์ก รวมทั้งทำหนังสั้นของตัวเองซึ่งได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ตามเมืองใหญ่ทั้งในอเมริกาและยุโรป ในปี พ.ศ. 2544 เธอก่อตั้งกลุ่ม Found Footage โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตภาพยนตร์อิสระ และจัดเวิร์กช็อปอบรมความรู้ด้านภาพยนตร์ นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักวิจารณ์ และนักเขียนบทสัมภาษณ์และรายงานข่าวเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ The Nation วารสาร “หนัง:ไทย” นิตยสาร Bioscope และ นิตยสาร art4d


“ทะเลคือที่ที่เก็บงำความทรงจำทั้งหมดของสรรพสิ่งทั้งมวลในโลกมาถักใยบาง ๆ ระหว่างความทรงจำ ความฝัน ความรู้สึกของผู้คน และสรรพสิ่งในเมืองแห่งหนึ่ง ผ่านภาพจากเสี้ยวส่วนเล็ก ๆ ของความทรงจำที่รั่วผ่านรอยร้าวของมัน” คือคำอธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อครั้งออกฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 8 


Birth of Seanéma เป็นหนังขาวดำ ไม่มีเสียงบรรยาย ความยาว 71 นาที ตัดต่อเรียบเรียงจากฟุตเทจภาพผู้คนและสถานที่ที่เธอใช้กล้อง DV และใช้อักขระที่เธอประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ทั้งหมดนี้ดึงดูดผู้ชมเข้าสู่ท้องทะเลแห่งบทกวีภาพเคลื่อนไหวซึ่งไหลไปอย่างเนิบช้าและเงียบงัน ท้าทายผัสสะและการตีความของผู้ชมอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งตอนที่ออกฉายครั้งแรกและเมื่อเวลาผ่านไป 


Birth of the Seanéma จัดฉายครั้งแรกในเทศกาลหนังสั้นปี พ.ศ. 2547 ก่อนจะได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเดินทางไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงเวลาที่หนังไทยทั้งในและนอกกระแสได้รับความสนใจจากผู้ชมและนักวิจารณ์นานาชาติ และถึงแม้หนังจะไม่ได้ออกฉายในวงกว้างในประเทศไทย แต่ความพิเศษคือการที่ผู้ชมต่างบอกเล่าเชื้อเชิญกันแบบปากต่อปาก กลายเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ ของชุมชนนักดูหนังอิสระที่ยังคงหล่อเลี้ยงชื่อเสียงของหนังไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 


ก่อนหน้า Birth of Seanéma ผลงานหนังสั้นเรื่องอื่น ๆ เกือบทั้งหมดของศะศิธร ถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ ทั้ง 16 มม. และ 8 มม. แต่ในช่วงที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นช่วงที่เทคโนโลยีกล้องวิดีโอเริ่มเข้ามาแทนที่กล้องฟิล์มในวงการภาพยนตร์สมัครเล่น ศะศิธรเคยให้สัมภาษณ์ว่า หากยังใช้ฟิล์มซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า เธอคงไม่สามารถถ่ายทำผลงานเรื่องนี้ที่เกิดจากการบันทึกฟุตเทจรวมกันกว่าสิบชั่วโมงได้ รวมทั้งยังเข้ากับลักษณะของการทำหนังในแนวทางของเธอที่ไม่ได้เน้นให้เนื้อเรื่องเป็นแกนกลาง แต่ใช้ความรู้สึกที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่ส่งพลังงานให้ภาพเคลื่อนไหวเป็นตัวนำ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงนับเป็นตัวอย่างของผลงานหนังทดลองในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีมาสู่กล้องวิดีโอ โดยผู้สร้างได้ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีในยุคสมัยใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากกล้องฟิล์มอย่างเต็มที่


Birth of Seanéma เป็นหนึ่งในภาพยนตร์หมุดหมายของความเคลื่อนไหวในวงการภาพยนตร์ไทยยุคต้นสหัสวรรษใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยความกล้าหาญทางศิลปะ และความมั่นใจในการสร้างสรรค์งานที่แม้ไม่มีมูลค่าทางตลาดมากมาย แต่กลับทรงคุณค่าคู่ควรประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย